VNG โชว์ New High! ผลงานไตรมาส 3/64 กำไรสุทธิพุ่งแตะ 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 367% ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากเทียบเป็นกำไรต่อไตรมาส ส่วน 9 เดือนแรก กำไรกระฉูด 963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 335% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 409 ล้านบาท อานิสงส์ยอดขายแผ่น MDF พุ่ง หลังหลายประเทศทั่วโลก คลายล็อกดาวน์ ฟาก “วรรธนะ เจริญนวรัตน์”กางพิมพ์เขียวปี 65 เข้าสู่ New Normal Growth หลังโรงงานผลิตแผ่นไม้ OSB - โรงไม้อัดสำหรับหล่อคอนกรีต - โรง Super Particle board เดินเครื่องเต็มรูปแบบ และ โรงไฟฟ้า ชีวมวล 9.9 MW ปั่นไฟใช้เอง ลด Cost หนุนรายได้-กำไรโตทะยาน
นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาส 3/64 มีรายได้จากการขายรวม 3,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,237 ล้านบาท หรือ 60 % เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,066 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 367 % เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 185 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทฯ หากเทียบเป็นกำไรต่อไตรมาส
ส่วนผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2564 มีรายได้จากการขายรวม 9,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,130 ล้านบาท หรือ 52 % เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 6,028 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 335 % เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 409 ล้านบาท
“ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปีนี้ ได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณขายแผ่นไม้ MDF ที่เพิ่มขึ้น หลังจากนานาชาติเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับมาเจริญเติบโต อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ใช้เรือขนส่งสินค้าเหมาลำ (เรือ Bulk) ขนส่งเป็นหลัก ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และมั่นใจว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามดีมานด์สินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และการรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งถือเป็น New Growth Drivers ของบริษัทฯ ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ”
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2565 มั่นใจว่าจะเข้าสู่โหมดของการเติบโตรอบใหม่ จาก New Growth Drivers ที่จะช่วยผลักดันรายได้และกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบด้วย โรงงานผลิตแผ่น OSB ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 210,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยเน้นส่งออกไปยังต่างประเทศก่อนในช่วงแรก จับกลุ่มลูกค้าตลาดบน โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเดินเครื่องการผลิตแล้ว โดยใช้ เปลือกไม้ และฝุ่นไม้ ที่เหลือใช้จากการผลิต ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ปีละ 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ โรงงานไม้อัดหล่อคอนกรีต (Concrete Forming Plywood) ขนาดกำลังการผลิต 60,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี พร้อมเดินเครื่องผลิตในไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งช่วยทดแทนการนำเข้าได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี รวมไปถึงโรงงาน Super Particle board ก็พร้อมเดินเครื่องผลิตในต้นปี 2565 เช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นสินค้า wood-based panel เจนเนอเรชั่นใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกสูง
รวมไปถึง "วนชัย โลจิสติกส์" ซึ่งจัดตั้งใหม่ขึ้นมา เพื่อประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้า และ Warehouse ให้กับกลุ่มบริษัทฯ จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสินค้าของบริษัทในกลุ่ม เพิ่มช่องทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ขณะที่ “วนชัย วู้ดสมิธ” จะเริ่มกลับมาบุกตลาด retail ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเป็น 12.7 เมกะวัตต์ ในปี 2565 จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 9.3 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการผลิตให้กับบริษัทฯได้ราว 50 ล้านบาทต่อปี และยังได้รับการสนับสนุนจาก BOI
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา VNG ได้มีการคุมเข้มและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่ต้องหยุดโรงงาน พนักงานฉีดวัคซีนครบ 100% ไม่มีการระบาดภายในโรงงาน และ VNG มีนโยบายปันผล อย่างต่ำ 40% ของกำไรสุทธิ