“ไอติม-ปิยบุตร” เสนอรื้อ รธน.60 กวาดล้าง “ไวรัสประยุทธ์” อัดฉีดวัคซีนให้ประเทศไทยฟื้นตัวจาก 3 โรครุมเร้า วอนอย่าอ้างเสียงประชามติรับร่าง 60 ล้านคน เพราะบางส่วนโหวตให้ ม.256 แก้ไขได้ ยันข้อเสนอไม่สุดโต่งหากเป็น ปชต. ริบอำนาจศาล รธน.ห้ามจุ้นแก้ รธน. ล้มคำสั่ง คสช.นำคนรัฐประหารมาลงโทษ อ้อนขอโหวตผ่านวาระแรกก่อน ยังมีโอกาสปรับปรุงได้ในวาระ 2
วันนี้ (16 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาวาระการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ที่เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และประชาชน จำนวน 1.3 แสนคน
นายพริษฐ์ ในฐานะตัวแทนผู้เสนอรายชื่อกล่าวรายงานหลักการและเหตุผลในการแก้ไข โดยระบุถึงปัญหาภาพรวมของประเทศที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเล่าถึงผู้ช่วยชื่อ “ประเทศไทย” ที่ทุกคนรักและเป็นห่วง อยากจะรักษาให้หายดีขึ้น แม้กำลังจะฟื้นฟูจากอาการป่วยโควิด-19 แต่ยังต้องประสบกับอีก 3 โรคที่ติดมาก่อนจะเกิดโควิด คือ โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ โรคความเหลื่อมล้ำเรื้อรัง และโรคประชาธิปไตยหลอกลวง แม้มีหลายฝ่ายพยายามเสนอยาหลายชนิดมารักษา ทั้งยาปฏิรูประบบราชการ ยาการสร้างรัฐสวัสดิการ หรือยากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ก็แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะร่างกายประเทศไทย ถูกครอบงำโดยไวรัสตัวหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม้จะสังเกตว่ามีอาการ ทรุดหนักช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นับแต่มีรัฐประหาร หลายคนสรุปว่าไวรัสตัวนี้อาจจะมีชื่อว่า “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แม้บางคนจะวินิจฉัยว่าหากสามารถจำกัดไวรัสนี้ได้ ประเทศไทยก็จะหาย กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แต่ตนและทีมไม่คิดว่าง่ายขนาดนั้น เพราะสิ่งที่อันตรายกว่าพล.อ.ประยุทธ์ คือ ระบอบประยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นโครงสร้างกลไกที่สร้างขึ้นควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ในตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาอำนาจ ถือเป็นเกราะกายสิทธิ์ที่รักษาอำนาจนี้ได้ คือรัฐธรรมนูญปี 60
“หากเปรียบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยเขียนขึ้นมาของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญนี้ไม่ซับซ้อนไปกว่ารัฐธรรมนูญของระบอบประยุทธ์ โดยระบอบประยุทธ์ เพื่อระบอบประยุทธ์ เพราะที่มา และเนื้อหาเพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือ สืบทอดอำนาจของระบอบนี้ ถูกเขียนโดยคนไม่กี่คนของ คสช. ไม่มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนในวงกว้าง กระบวนการก็ไม่เสรี เป็นธรรม แม้จะผ่านการรับรองการทำประชามติ หากจะหยิบยกเสียง 60 ล้านคนที่ลงคะแนนให้กับรัฐธรรมนูญนี้มาเป็นข้ออ้าง ก็อย่าลืมว่าทั้งหมดไม่ได้เห็นชอบ การใช้ รธน.นี้ไปตลอดกาล แต่เห็นชอบให้ ม.256 ที่ให้มีการแก้ไขได้ และยังมีการสนับสนุนให้แก้ไขระบบการเลือกตั้ง”
นอกจากนี้ ในเนื้อหาจะเห็นว่า มีการขยายของหลายสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ระบอบประยุทธ์สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จ เช่น วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการพยายาม ย้อนเข็มนาฬิกาประชาธิปไตย และพยายามสกัดกั้นการแข่งขันและผูกขาดอำนาจทางการเมือง ไว้กับฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะบริหารประเทศได้ดีหรือไม่ดีแค่ไหน ก็สามารถรักษาอำนาจไว้ได้ เหมือนนักมวยต่อยพลาดแค่ไหนกรรมการก็ตัดสินให้ชนะได้ ดังนั้น อาการของประเทศไทยจึงสาหัสเกินกว่าที่ยาธรรมดาจะรักษาได่ เพราะแม้จะกำจัดไวรัสประยุทธ์ออกไปได้ แต่อีกไม่นานก็ล้มป่วยได้อีก เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดียวกันในอนาคตที่เป็นชื่ออื่น
“สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ไม่ใช่ให้ประเทศหายป่วย ผ่านการจ่ายยาจำกัดไวรัส แต่เราต้องการทำให้ประเทศแข็งแรงเดินไปสู่อนาคต เหมือนการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันต่อแหล่งกำเนิดไวรัสที่ชื่อ “รัฐธรรมนูญปี 60” ซึ่งเหมือนกับวัคซีนแก้โควิด คือ ต้องก็ฉีด 2 เข็ม คือ ร่าง รธน.ฉบับใหม่โดยประชาชนผ่าน ส.ส.ร. ที่มาจาการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจแก้ไขทุกหมวด ทุกมาตรา ซึ่งอาจต้องใช้เวลารอ โดยประชาชนมีการเข้าคูหารับรองการตั้ง ส.ส.ร. เลือกสมาชิกที่จะไปนั่ง ส.ส.ร. และรับร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่ร่างโดยส.ส.ร.”
ทั้งนี้ ภาคประชาชนมีข้อเสนอ คือ ยกเลิก ส.ว.ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพราะ ส.ว.ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่มีที่มายึดโยงจากประชาชน รัฐสภาดีที่สุด คือ รัฐสภาที่ไม่มีวุฒิสภา มีข้อดีคือช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่ และช่วยให้มีกระบวนการนิติบัญญัติรวดเร็ว กระชับ ส่วนข้อกังวลการยกเลิก ส.ว.นั้น จะมีกลไกอื่นมาทดแทนได้ และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า หากกังวลควรมี ส.ว.อยู่เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลนั้น ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน การให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐได้ละเอียดขึ้น การออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงการทุจริต ข้อทักท้วงการทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีเรือดำน้ำ เกิดจากการทักท้วงของประชาชน ไม่ใช่การทักท้วงจาก ส.ว.
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน การกำหนดแนวทางบริหารประเทศล่วงหน้า 20 ปี ในสภาวะที่โลกมีความผันผวนเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่น่ากังวลคือ การไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีความผิด กำหนดให้ลงโทษรัฐบาลที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติได้ เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ และเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง ข้อเสนอเหล่านี้ไม่สุดโต่ง เป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย
ส่วนที่ระบุร่างแก้ไขฉบับประชาชน มีความขัดแย้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำขึ้นก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบจะแก้ไขเสร็จ เรายินดีแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนในชั้น กมธ. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบไป ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระบบที่ไว้วางใจประชาชน เลือกตัวแทนเข้ามาผ่านกลไกรัฐสภา ไม่ให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหา ขอให้หยุดยกเสียง 16 ล้านเสียง อ้างเป็นส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขอให้รับร่างแก้ไขฉบับนี้ แล้วไปวัดที่การทำประชามติ
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ชี้แจงว่า การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาแม้จะอมพระมาพูดว่าองค์กรอิสระมีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อ เพราะมีที่มาจาก คสช. องค์กรเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนชี้ชะตานักการเมืองได้ ฝ่ายการเมืองอยากเข้ามาช่วงชิงองค์กรเหล่านี้ ที่ให้คุณให้โทษได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสนอปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่มาโดยให้ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6 คน รวมเป็น 18 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคัดเลือกเหลือ 9 คน ใช้มติ 2 ใน 3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล เพราะมาจากตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลฎีกา ฝ่ายละ 3 คน นอกจากนี้ ให้แก้ไขเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้เหลือเฉพาะเรื่องร่าง พ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น และให้ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ แต่ไม่ใช่ให้ถอดถอนกันง่ายๆ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ต้องกังวลว่า ส.ส.จะครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ แต่ออกแบบให้มีการถ่วงดุล
นายปิยบุตร กล่าวว่า การล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของคสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างหลุมดำและรอยด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมา ทำรัฐประหารกันจนเป็นประเพณี คิดว่าถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะไม่มีวันถูกลงโทษ ดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของการทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องถูกดำเนินคดี ป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก ถ้ามีคนทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี จะไม่มีใครคิดทำรัฐประหารอีก ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ ไม่เห็นเหตุผลที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขฉบัยบประชาชน
“หากสมาชิกให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญและการทำประชาชน ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนั้น แต่อย่างน้อยให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังร่างภาคประชาชน เพื่อให้ได้ศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองรัฐประหาร หรือก่อวิกฤตการเมือง มีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง รวมถึงคนทำรัฐประหารต้องถูกดำเนินคดี” นายปิยบุตร กล่าว