เทียบชัด 10 ข้อเรียกร้อง “ปิยบุตร” รุนแรงกว่า “รุ้ง” จาก มธ.ถึงจุฬาฯ เปิด จม.“วิรังรอง” จี้ผู้ตรวจฯใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. วินิจฉัย “อธิการบดี-เนติวิทย์” เข้าข่ายล้มล้าง? “ดร.อานนท์” ท้าอีแอบทั้งขบวนออกมานำต่อสู้เอง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(14 พ.ย. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น หรือจะโดนด้วย? ขุดลึกเทียบชัด 10 ข้อเรียกร้อง “ปิยบุตร” รุนแรงกว่า “รุ้ง” พลังเงียบปลุกล่าคนเขียนโพย!
โดยระบุว่า จากกรณีในโลกโซเชียล มีการขุดคุ้ย ประเด็นที่ “รุ้ง ปนัสยา” เคยให้สัมภาษณ์ BBC เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 63 ภายหลังเหตุการณ์ปราศรัย วันที่ 10 ส.ค. 63 ซึ่งวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งวินิจฉัยระบุถึงการกระทำของ อานนท์, ไมค์ และ รุ้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ
โดยการให้สัมภาษณ์มีท่อนที่เจ้าตัว กล่าวถึงโพย 10 ข้อเรียกร้อง ระบุว่า “ตนเองได้รับต้นฉบับข้อเรียกร้อง 10 ประการ ก่อนจะขึ้นพูดบนเวทีธรรมศาสตร์เพียงไม่นานนัก เพื่อนส่งมาให้หนูดูตอนตีหนึ่งกว่า มันถามหนูว่าจะอ่านไหม ทุกคนรู้สึกว่ามันแรงมาก ตัวเองก็รู้ว่ามันแรงมากๆ แต่หนูรู้สึกว่ามันต้องพูด…หนูเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดม็อบครั้งนั้น แล้วเรื่องสถาบันเป็นหนึ่งในความคิดหลักของหนูตลอดมา เลยอยากขึ้นไปพูด เรียกว่าขอขึ้นไปพูดก็ได้ ขอพูดเอง
และต่อมาในเพจเฟซบุ๊ก Street Hero V3 ได้ตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ว่า “สรุปคืนนั้นใครเป็น #อีแอบ เขียนโพยและส่งให้น้องรุ้ง น้องออกมาแฉเลยครับ #ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์รุ้งของ bbc เธอได้รับต้นฉบับข้อเรียกร้อง 10 ประการ ก่อนจะขึ้นพูดบนเวทีธรรมศาสตร์เพียงไม่นานนัก”
ทั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบระหว่าง 10 ข้อเรียกร้องที่ รุ้ง ปนัสยา อ่านบนเวทีปราศรัย จนนำมาสู่คดีล้มล้างการปกครองฯ หากเทียบกับ 10 ข้อ ที่นายปิยบุตรเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ 10 ประเด็นสำคัญนั้น อะไรจะแรงกว่ากัน
โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ทั้งนี้ ในรายละเอียด 10 ข้อที่ “ปิยบุตร” เขียนไว้ ล้วนแต่ถ้อยคำที่พาดพิงสถาบันฯ ทั้งเรื่องงบประมาณ และขอบเขตของสถาบันฯ จนทำให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า นายปิยบุตร โพสต์สร้างวาทกรรมมากมาย แต่สุดท้ายคนที่ติดคุกจริงๆ คือ แกนนำม็อบ
หากนายปิยบุตร ต้องการผลักดันแก้ 112 เพราะเคยอ้างว่า ไม่อยากให้นำกฎหมายข้อนี้ไปใช้รังแกใครที่เห็นต่าง ก็มีเสียงจากโซเชียลย้อนว่า ถ้ากฎหมายคือการกลั่นแกล้ง เล่นงานใคร ปิยบุตรคงไม่รอดมาถึงทุกวันนี้
และเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 10 ข้อเรียกร้อง ที่รุ้ง ปนัสยา อ่านโพย กับ10 ข้อของนายปิยบุตร ก็จะรู้ได้ทันทีว่า แบบไหน ของใครจะแรงมากกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm ระบุถึงนายปิยบุตร ว่า
วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน นัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดุสิต เรื่องสำคัญมาก
และโพสต์อีกครั้งว่า “สัปดาห์หน้าปิยบุตร โดนคดีครับ สั้นๆ กระชับๆ”
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น รายต่อไป! เปิด จม. “วิรังรอง ทัพพะรังสี” จี้ผู้ตรวจฯเอาผิด “อธิการจุฬาฯ-เนติวิทย์” เข้าข่ายล้มล้าง?
เนื้อหาเปิดเผยจดหมายของ นางวิรังรอง ทัพพะรังสี นิสิตเก่าสิงห์ดำ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า
วันนี้ได้ยื่นข้อมูลเพิ่มเติมไปที่ สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังข้อความด้านล่างนี้
“ข้าพเจ้าได้รับหนังสือแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว และรู้สึกยินดีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ดำเนินการให้อธิการบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ข้าพเจ้าและคณะ ได้ร้องเรียนมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เข้าประชุมพร้อมกันเพื่อชี้แจงในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ ดังมีผู้เข้าร่วมประชุมดังนี้
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ขัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ประธานสภาคณาจารย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี ด้านการบริหารทั่วไปและศิลปวัฒนธรรม และเลขานุการสภามหาวิทยาลัย
พันตำรวจเอก น้ำเพชร ทรัพย์อุดม รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่า อธิการบดี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้บริหารระดับสูงของจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าและคณะได้ร้องเรียนไป เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องดังกล่าว ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยที่ประชุมขอให้ทุกหน่วยงานที่เข้าประชุม ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น
บัดนี้ทุกหน่วยงานได้ส่งหนังสือชี้แจงเรียบร้อยแล้วยกเว้นผู้บริหารจุฬาฯ มิได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต กำลังดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ
ดังนั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๒ แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐ ขอทราบรายละเอียดดังกล่าวจากจุฬาฯ แต่ก็ยังไม่มีข่าวความคืบหน้าใดๆ
ข้าพเจ้าและคณะ เห็นว่า กระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับจุฬาฯ และประเทศไทยโดยส่วนรวม เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่จาบจ้วง กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ
การที่ นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และผู้บริหารจุฬาฯ ไม่เร่งรัดสอบสวน และไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สะสมและหมักหมมมายาวนานนับแต่ นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เข้ามาเป็นผู้บริหารจุฬาฯ ทั้ง ๒ สมัยติดกัน ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนปัจจุบัน สโมสรนิสิต จุฬาฯ (อบจ.) ได้ใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต และขัดต่อระเบียบวินัยของนิสิตฯ ตลอดจนประเพณีอันดีงามของจุฬาฯ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นยุคเสื่อมที่สุดของจุฬาฯ
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ความเคลื่อนไหวของ อบจ. ภายใต้การนำของ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายก อบจ. เป็นเรื่องที่อาจนำไปสู่ความบานปลาย และ/หรืออาจมีเบื้องหลังทางการเมืองเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่ได้มีความผิดเฉพาะตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิตเท่านั้น แต่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย โดยผู้บริหารจุฬาฯ กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้จบได้ในรั้วจุฬาฯ
ข้าพเจ้าและคณะ ในฐานะประชาชนคนไทย ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหรือกลุ่มใดมาล่วงเกินหรือล้มล้าง และเห็นว่าเรื่องที่ได้ร้องเรียนมาจนถึงวันนี้ได้ส่งข้อมูลใหม่มาเพิ่มเติมทั้งหมด ๓ ครั้ง ทาง สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ใช้เวลามานานเกินสมควรแล้ว จึงใคร่ขอให้ท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ได้โปรดวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของข้าพเจ้าและคณะ ตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ โดยมิต้องรอหนังสือชี้แจงจากทางผู้บริหารจุฬาฯ
อนึ่ง ในหนังสือแจ้งความคืบหน้าจาก สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีถึงข้าพเจ้าและคณะนั้น มีข้อความว่าข้าพเจ้าและคณะได้ร้องเรียนเรื่องอธิการบดีและผู้บริหารจุฬาฯ ไม่พิจารณาดำเนินการทางวินัยกับนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม และเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตนั้น และทาง สนง. ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงกำลังรอผลการสอบสวนดังกล่าว
ข้าพเจ้าและคณะ ขอกราบเรียนท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ด้วยความเคารพว่า ข้าพเจ้าและคณะ ไม่ได้ต้องการทราบแค่ผลการสอบสวนนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แต่พวกเราหวังพึ่ง สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตาม กม. วินิจฉัยว่า นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี ผู้บริหารของจุฬาฯ และหน่วยงานรัฐที่ได้ร้องเรียนไปแล้วนั้น ได้ทำตามอำนาจหน้าที่ตาม กม. ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการที่ อบจ.ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขตอันอาจเข้าข่ายว่าเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรค ๑
สุดท้ายนี้ เนื่องจาก “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นที่สุด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กร” ดังนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๔ กรณี “อานนท์-ไมค์-รุ้ง” ล้มล้างการปกครองฯ น่าจะสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยการกระทำของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกอบจ. และการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของอธิการบดี ผู้บริหารจุฬาฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกร้องเรียน โดยมิต้องรอผลสอบสวนจากคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต
วิรังรอง ทัพพะรังสี
เขียนในนามผู้ร้องเรียนและคณะ”
อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับไป พบว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ค.64 - นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “จุฬาฯเฉย แต่สังคมไม่เฉย” วันนี้ผมมีโอกาสสนทนากับผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากของบ้านเมืองท่านหนึ่ง ในเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ ที่เนติวิทย์ เชิญนักโทษคดี ม.112 มาสนทนาและให้โอวาทกับนิสิตใหม่
ซึ่งสังคมตั้งคำถามว่า อาจารย์และผู้บริหารจะนิ่งเฉยแบบนี้หรือ? ซึ่งท่านให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า…“เขาพูดกันในไลน์จุฬาว่า…มันเป็นกิจการภายในของนิสิต อาจารย์หรือผู้บริหารจะไปจัดการอะไรไม่ได้”
ผมจึงเกิดคำถามว่า…“แบบนี้แปลว่า ถ้านิสิตวางแผนล้มล้างการปกครอง รัฐก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นกิจการภายในของนิสิต เหรอครับ”
อีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.64 สื่อทุกสำนัก เผยแพร่ข่าว “จุฬาฯ” ประกาศยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน
จากกรณีที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายก อบจ.จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” ให้เหตุผลว่าเป็นกิจกรรมล้าหลัง ขัดต่อประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน เพราะสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน จนต่อมามีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์” ระบุว่า
“ขอกราบวิงวอน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วาณิช สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ทัศนัย เศรษฐเสรี ชัยธวัช ตุลาธน ธนาพล อิ๋วสกุล ณัฐพล ใจจริง ยุกติ มุกดาวิจิตร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม กรุณาออกมานำม็อบเองและ ปราศรัยบนเวทีอย่างกล้าหาญ ศาลรัฐธรรมนูญ รอท่านทั้งหลายอยู่ครับ”
แน่นอน, ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีแกนนำ 3 นิ้ว ปราศรัยเข้าข่ายล้มลางการปกครองฯนั้น มีผลตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะการไล่ล่าขบวน 3 นิ้ว ที่มีพฤติกรรมแอบอ้างปฏิรูปสถาบันฯ แต่แฝงด้วยการบิดเบือน โจมตี สร้างความเกลียดชัง ความแตกแยกในหมู่ประชาชนคนไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด
ทั้งยังน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า การกระทำของขบวน 3 นิ้วหลังจากนี้ จะถูกเอาผิดตามกฎหมาย จนสามารถยับยั้งการกระทำของขบวนการนี้ได้มากน้อยแค่ไหน อย่าลืมว่า ม็อบ 3 นิ้ว ยังอยู่ และกลุ่มที่สนับสนุนม็อบก็ยังอยู่ อะไรจะเกิดขึ้น
เหนืออื่นใด สิ่งที่ “ปิยบุตร” ขู่เอาไว้ว่า การปิดประตู “ปฏิรูปสถาบันฯ” โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ “สงครามกลางเมือง” มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะดูเหมือนขบวน 3 นิ้ว เริ่มถูกไล่ล่าโดยคำวินิจฉัยของศาลฯจนแทบกระดิกตัวไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะพวก “อีแอบ” ทั้งหลายก็ไม่เว้น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป