“ผอ.โตโต้ วีโว่” บุกสภาฯ นำผู้เสียหายฟ้อง “กมธ.กฎหมายฯ” ถูก ตร.ซ้อม หลังร่วมกิจกรรม “วาฤทธิ์ ต้องไม่ตายฟรี” หน้า สน.ดินแดง คาใจ 4 ปม ซัดทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
วันนี้ (1 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ และ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ กรรมาธิการ รับยื่นหนังสือจากปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนอาสา We Volunteer เครือข่ายม็อบ 3 นิ้ว เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ในเหตุรำลึกการเสียชีวิตของนายวาฤทธิ์ สมน้อย
โดย นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตนได้นำ นายอรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้เสียหายที่ถูกกระทำ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากเหตุการณ์เข้าร่วมกิจกรรม “วาฤทธิ์ ต้องไม่ตายฟรี” บริเวณหน้า สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งระหว่างการดำเนินกิจกรรมผู้เข้าร่วมไม่ได้ดำเนินกิจกรรมด้วยความรุนแรงเป็นเพียงการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เช่น กิจกรรมเผากระดาษ การใช้สี และการวางพวงหรีด แต่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ที่ไม่ใช่ตำรวจควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. มาพร้อมกับโล่และอาวุธเข้าปิดล้อมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ ผู้หญิง และ ประชาชนทั่วไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายอรรถสิทธิ์ นุสสะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยการซ้อมทรมานตั้งแต่การจับกลุ่มจนถึงเข้าห้องสอบสวนที่ สน.ดินแดน มีการบังคับขู่เข็ญและถูกกีดกันไม่ให้พบทนายความและผู้ไว้วางใจตามกฎหมาย
นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ดังนั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนจึงขอตั้งคำถามผ่านการยื่นหนังสือถึง กมธ.กฎหมายฯ ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า 1. ในวันที่เกิดเหตุทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ใช้กำลังพลทั้งหมดกี่นาย หรือกี่กองร้อยในการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม 2. ในการตัดสินใจ หรือรับผิดชอบสั่งการในขณะนั้นเป็นการสั่งการจากผู้ใด 3. ชุดจับกลุ่มที่เข้าจับกุมตัวนายอรรถสิทธิ์ มีตำแหน่งและสังกัดอยู่ที่ใด และ 4. มีกฎหมายหรือข้อคำสั่งจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อใด หรือฉบับใดที่ให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวน ขัดขวางอิสรภาพในการติดต่อผู้วางใจและทนายความ
ด้าน นายอรรถสิทธิ์ ผู้ได้รับความเสียหายและถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมจับกุมตัวโดยการกดหัว กดตัว ซึ่งตนพยายามขัดขืน เนื่องจากขณะนั้นได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาตนเข้าไปที่ห้องสืบสวนข้าง สน.ดินแดง จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินเข้ามาหาตนและพูดขึ้นมาว่า “คนนี้พี่ขอ” และถามตนว่า “มากับใคร มาคนเดียวหรือไม่ เองเก่งนักใช่ไหม” จากนั้นก็พยายามบังคับเอารหัสโทรศัพท์จากตน และเกิดการซ่อมทรมานกับตนอีกหลายครั้ง
ขณะที่ นายสิระ กล่าวว่า ในการประชุมของ กมธ.กฎหมายฯ จะนำเรื่องที่รับยื่นหนังสือในวันนี้เข้าหารือต่อที่ประชุมเพื่อขอมติจากที่ประชุมว่าจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาหรือไม่ และหากเข้าสู่การพิจารณาจะบรรจุเข้าระเบียบวาระวันใด และจะขอเอกสารและคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใดบ้างจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยืนยันว่า จะให้ความยุติธรรมกับทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ขอให้ผู้ร้องมั่นใจว่า กมธ. เป็น ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชนกินภาษีเงินเดือนจากประชาชน มีหลายพรรคการเมืองและมีผู้มีความรู้ทางกฏหมายอยู่มาก จึงขอให้มั่นใจว่าจะให้ความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด
นายชวลิต กล่าวว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายซ้อมทรมาน ยืนยันว่า การพิจารณากฎหมายขณะนี้ได้มีหลายประเด็นที่พิจารณาสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้อมทรมานเกิดขึ้นกับผู้เสียหายใดอีก
ขณะที่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายอรรถสิทธิ์ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่จังหวัดนครสวรรค์ เช่น การซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ทำลายกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงไม่สามารถที่จะอยู่เฉยกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ได้และหากท้ายที่สุดเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง เราจึงไม่ควรปล่อยให้คนชั่วอยู่ในระบบและใช้กระบวนการยุติธรรมมากระทำความผิดอย่างที่เป็นมา