กมธ.ถก 8 ประเด็นหลัก ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ คาดปิดจ๊อบ สิ้นเดือน ต.ค. นี้ ก่อนให้สภาฯ รับไม้ต่อสมัยประชุมหน้า
วันนี้ (12 ต.ค.) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมภายหลังจาก กมธ.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้แทนสมาคมป้องกันการทรมาน และผู้แทนเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณา โดยที่ประชุม กมธ.เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นความคาดหวังของสื่อมวลชนและเป็นกฎหมายที่สังคมจับตามอง และต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมายสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชนที่เคยประสบปัญหาถูกอุ้มหาย และถูกซ้อมทรมาน ดังที่เคยมีมาในอดีต ซึ่งคณะ กมธ. ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมบูรณ์ และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่ง กมธ.ได้หารือร่วมกันว่าจะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในช่วงเปิดสมัยประชุมหน้าในเดือน พ.ย.นี้
นายชวลิต กล่าวว่า องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรทั่วโลก กำลังจับตามองการพิจารณากฎหมายสำคัญฉบับนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง กมธ.ได้มีแนวทางในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังนี้ 8 ประเด็น ได้แก่ 1. การกำหนดข้อยกเว้นการรับผิด หรือข้อแย้งกับ พ.ร.บ. 2. บทนิยามเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การควบคุมตัว การกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ 3. มาตรการป้องกันและการแจ้งจับ 4. การสืบสวน สอบสวนเป็นคดีต่อเนื่อง การกำหนดอายุความ 5. อำนาจสอบสวนคดีความผิด 6. ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา และการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ 7. การห้ามไม่ให้รับฟังพยาน หลักฐานจากการทรมาน 8. องค์ประกอบ การสรรหาและคุณสมบัติของคณะกรรมการ