ตร.ฝากขัง “แซม สา เมท” ต่างด้าวร่วมม็อบคณะราษฎร ป่วนโรงพักดินแดง-เผาศาลพระภูมิ ศาลพิจารณาแล้วไม่ให้ประกัน ก่อนส่งตัวไปนอนเรือนจำ
วันนี้ (30 ต.ค.) พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก นายแซม สา เมท เชื้อชาติกัมพูชา อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาคดีร่วมจัดกิจกรรมที่มีคนมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นๆ ต่อศาลอาญา
โดยขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.- 10 พ.ย.นี้ เนื่องจากจะต้องสอบพยานจำนวน 5 ปาก และรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ ประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่า 100 คนขึ้นไป ชุมนุมที่หน้า สน.ดินแดง เพื่อเรียกร้องทางการเมืองและขับไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออก ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามมบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ มีการใช้สิ่งปฏิกูลและสิ่งสกปรกสีแดงคล้ายเลือดเทราดบนศาลพระภูมิ และทุบทำลาย จุดไฟเผาศาลพระภูมิ โดยมีผู้ต้องหาใช้รองเท้าส้นสูงทุบศาลพระภูมิและใช้ขวดน้ำปาใส่ ชั้นสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศ หรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป แต่ผู้นั้นไม่เลิก, ทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และเป็นบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 83, 215 วรรคแรก, 216, 217, 358 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 35) ข้อ 2 ลงวันที่ 15 ต.ค. 64 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 12(1), 18 วรรคสอง, 62, 81 ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาด้วย เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจากข้อมูลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งมีพฤติการณ์และการกระทำความผิดในลักษณะนี้ พบว่า มีผู้ต้องหาจำนวนหลายรายที่เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วได้กลับมากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหากไม่มีการควบคุม กำหนดมาตรการบังคับหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัดจะเป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและภาพลักษณ์ภายในประเทศอีกทั้งการกระทำของผู้ต้องหาแสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงเป็นการร่วมกิจกรรมการชุมนุม โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงการระบาดของโรคติดต่อในวงกว้างซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง และประชาชนที่ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมา นอกจากนี้ การชุมนุมมั่วสุมดังกล่าวยังมีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปเกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) และผู้ต้องหานี้ได้เคยถูกจับตามหมายจับของศาลอาญาที่ 580/2564 ลงวันที่ 26 มี.ค. 64 ในความผิดเกี่ยวกับการมั่วสุมชุมนุม ฯ และได้กลับมากระทําความผิดในครั้งนี้อีก
ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขัง
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการฝากขัง ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,500 บาท ขอปล่อยชั่วคราว
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลในความผิดลักษณะเดียวกันกับคดีนี้มาแล้ว แต่กลับมาร่วมกับพวกก่อเหตุเป็นคดีนี้ในลักษณะความผิดทำนองเดียวกันซ้ำอีกในระหว่างได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาจะกลับไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นซ้ำอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว