xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยบุตร” ขานรับ “ม็อบ” ยกเลิก 112 ตอบทุกข้อโต้แย้งกระทบสถาบันฯ “บช.น.” พร้อมเอาผิดกลุ่มป่วน-รุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “ปิยบุตร” รับบทปรมาจารย์ใหญ่ ตอบทุกข้อโต้แย้ง ยกเลิกมาตรา 112 จากแฟ้ม
แบ่งงานกันทำ? “ปิยบุตร” รับบทปรมาจารย์ใหญ่ “แอบ” หลังม็อบตอบทุกข้อโต้แย้ง ยกเลิกมาตรา 112 ระบุ 112 ไม่ได้เท่ากับสถาบันฯ ยกเลิกไม่เท่ากับล้มเจ้า บช.น. จัดกำลังเข้ม เกาะติดทุกม็อบ ก่อเหตุรุนแรงพร้อมเอาผิด

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (31 ต.ค. 64) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์หัวเรื่อง [ วิธีตอบคำถาม สยบทุกข้อโต้แย้ง ยกเลิกมาตรา 112 ]

โดยระบุว่า วันนี้ 31 ตุลาคม 2564 กลุ่ม “ราษฎร” นัดประชาชนพร้อมกันที่แยกราชประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563 เป็นต้นมา มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมถูกนำกลับมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจเป็นยาแรงที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงออก ทำให้คนกลัว แต่เมื่อยุคสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เมื่อประชาชนมีความคิดเห็นก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คนก็เริ่มไม่กลัว

จนเป็นที่ประจักษ์ว่า ยิ่งใช้มาตรา 112 แล้วคนไม่กลัว กฎหมายนี้ก็จะยิ่งเสื่อมไป พูดกันตรงไปตรงมายิ่งมาตรา 112 ถูกใช้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้ง เพราะประเทศไทยโฆษณาไปทั่วโลก ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ แต่ทำไมมีประชาชนโดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การนำมาตรา 112 มาใช้มากๆ ก็ยิ่งอันตรายและกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

ผมเห็นว่า มาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ความไม่ได้สัดส่วนของอัตราโทษ การนำมาใช้ การตีความ อุดมการณ์ที่กำกับอยู่เบื้องหลัง

การนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีทีท่าจะแรงต่อเนื่องไปอีก ผู้ที่ถูกตัดสินให้มีความผิดมักได้รับโทษสูงจนนับช่วงชีวิตอายุของคนคนหนึ่งอาจยังไม่พอ หลายครั้งการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ได้รับโทษอยู่ดี ระหว่างการพิจารณาคดีก็ถูกปฏิเสธสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว

การขยับของกลุ่มราษฎรทำให้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง ผมจึงถือโอกาสนำวิธีโต้แย้งกับคนที่ต่อต้านการยกเลิกมาตรา 112 มาเผยแพร่ให้อ่านกันอีกครั้ง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่การพูดคุยหาทางออกของระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่มีความคิดเห็นต่อมาตรา 112 แตกต่างกัน

ผู้ที่ต่อต้านการยกเลิกมาตรา 112 มักจะมีข้อโต้แย้งเหมือนๆ กันอยู่ไม่กี่ข้อ

มาดูวิธีตอบข้อโต้แย้ง 7 ข้อที่ถูกใช้เป็นประจำจะได้ช่วยกันนำไปอธิบายให้คนที่มักใช้เหตุผลเหล่านี้เข้าใจ

ข้อโต้แย้ง : มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
ตอบ : มาตรา 112 คือ ความผิดทางอาญา เป็นคนละเรื่องกับมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญเป็นการรับรองสถานะของกษัตริย์ในทางหลักการว่า “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” รัฐธรรมนูญพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันต่างๆ มิใช่การลงโทษทางอาญาการจะทำให้พระมหากษัตริย์ “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” กษัตริย์ต้องดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช้อำนาจบริหารโดยแท้ แต่มีรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจเป็นคนรับผิดชอบแทน

ข้อโต้แย้ง : ประเทศไหนๆ ก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté)
ตอบ : แน่นอนว่า หลายประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ แม้แต่ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุขก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ บางประเทศไม่มีเลย หรือมีแต่ไม่ได้ใช้เลยสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ จริงๆ แล้วมีประเทศที่ไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ส่วน สหราชอาณาจักร ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแบบบุคคลธรรมดาและมีโทษปรับ บางประเทศมีกฎหมาย แต่ไม่ได้นำมาใช้ หรือหากใช้มีโทษเบา หรือใช้เพียงโทษปรับ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ส่วนในประเทศไทยมีอัตราโทษสูง และนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพ

ข้อโต้แย้ง : คนธรรมดายังมีโทษหมิ่นประมาท กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐยิ่งต้องมี
ตอบ : หากจะอธิบายแบบนี้ว่าในเมื่อบุคคลธรรมดา มีกฎหมายหมิ่นประมาท ดังนั้น ก็โต้แย้งได้ว่าการคุ้มครองความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนบุคคลธรรมดาก็ได้ ส่วนถ้าหากเห็นความสำคัญของตำแหน่งประมุขของรัฐก็อาจเขียนเป็นบทเพิ่มโทษได้ อย่างไรก็ตาม การให้โทษของประมุขของรัฐแตกต่างจากบุคคลธรรมดาก็ต้องไม่แตกต่างจนมากเกินไป

ข้อโต้แย้ง : ขนาดมาตรา 112 มีโทษแรง ยังมีคนละเมิดกฎหมายขนาดนี้ ถ้าไม่มีจะขนาดไหน?
ตอบ : การนำคนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทไปดำเนินคดี ให้ศาลพิพากษาติดคุก ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด แต่การพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างเปิดเผยและปลอดภัยต่างหาก คือ ทางออกยกตัวอย่างกรณีบุคคลธรรมดา หากมีใครมาด่าว่าเรา เราก็ไปฟ้องหมิ่นประมาท ให้ศาลลงโทษ หากเขาติดคุก เขาก็ไม่ได้รักเรามากกว่าเดิม ต่อให้เขามาขอขมาให้หยุดดำเนินคดี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้น จะชอบหรือชื่นชอบเรา เพียงแต่กฎหมายบังคับให้เขาต้องสยบยอมเท่านั้นแทนที่จะคิดว่า “โทษแรงยังขนาดนี้ ถ้าไม่มีจะขนาดไหน?” ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นการยกเลิกมาตรานี้แล้วทำให้คนแต่ละรุ่นเข้าใจกัน ที่ทุกอย่างรุนแรงมากขึ้น เพราะมีการนำคดีไปยัดใส่กัน

เสรีภาพในการแสดงออกให้คนได้พูดคุยดีเบตถกเถียงกันด้วยเหตุผลในพื้นที่ปลอดภัยต่างหาก คือ ทางออกให้คนในสังคมเข้าใจกันมากขึ้น

ขอบคุณภาพ จาก เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
ข้อโต้แย้ง : ถ้าไม่ทำผิด ไม่เห็นต้องกลัว ถ้าไม่อยากติดคุก ก็ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย
ตอบ : คนที่เป็นเหยื่อของมาตรา 112 จำนวนมาก หลายเรื่องไม่ผิดกฎหมายเลย แต่ก็ถูกดำเนินคดี จนเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เสียโอกาสในชีวิตไปมหาศาล

ดังนั้น เหตุผลนี้ใช้ไม่ได้ เพราะแม้ไม่ได้ทำผิด ก็โดนมาตรา 112 อยู่ดี เช่น การวิจารณ์การจัดหาวัคซีน, กรณีพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยง, คุณแม่ของจ่านิวพิมพ์คำว่า “จ้า“, การวิจารณ์อย่างสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ, พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวร หรือ รัชกาลที่ 4 แม้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดก็ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี เนื่องจากมาตรา 112 ถูกใช้เกินขอบเขตไปมาก จนหาบรรทัดฐานไม่เจอ ประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมายมาตรานี้ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าอะไรผิดหรือไม่ผิด

ข้อโต้แย้ง : บ้านเมืองกำลังลำบากจะมายกเลิกมาตรา 112 ทำไม แก้ปัญหาปากท้องได้หรือ?
ตอบ : ปัญหาของประเทศ สังคม ประชาชนมีหลายเรื่อง สามารถทำทุกเรื่องพร้อมกันหมดได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเจาะจงทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้นการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ทำเรื่องอื่นๆ ทั้งแก้ปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจ ปากท้อง สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ทำพร้อมกันหมดได้

ข้อโต้แย้ง : การยกเลิก-แก้ 112 = ล้มเจ้า
ตอบ : มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง ดังนั้น ขึ้นชื่อว่ากฎหมายก็แก้ไข ปรับปรุง ยกเลิกได้เสมอ
คนที่เคยเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 มีเยอะแยะ รวมทั้งรอยัลลิสต์ด้วย

มาตรา 112 ไม่ได้เท่ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ยกเลิกมาตรา 112 ไม่เท่ากับล้มสถาบันพระมหากษัตริย์

ตรงกันข้ามการยกเลิกมาตรา 112 จะช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ด้วย

ภาพ บช.น.  จัดกำลังเข้ม เกาะติดทุกม็อบ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น บช.น.เตรียมพร้อม จัดหนักทุกม็อบ กลุ่มไหนป่วนรุนแรง เตรียมตัวโดนได้เลย

โดยระบุว่า จากกรณีที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ของมวลชนหลายกลุ่ม ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ตั้งแต่ 4 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องยกเลิกกฎหมายมาตรา 112

ภาพ กิจกรรมล่าชื่อ ยกเลิก 112 ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
โดยจะมีเวทีปราศรัยใหญ่ พร้อมการขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มแกนนำเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า จะมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อจากประชาชนเพื่อให้ยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 ตั้งเป้า ไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ และเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันทุกฉบับ ที่เป็นเงื่อนไขให้คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยต้องถูกคุมขังในเรือนจำ

ก่อนหน้านี้ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำราษฎร เปิดเผยว่า นี่คือ ภารกิจที่คนไทยทุกคนจะทำร่วมกันในการล่ารายชื่อให้สำเร็จและเป็นไปได้ เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของคนไทย พร้อมย้ำว่า แม้ตนเองและแกนนำอีกหลายคนจะมีหมายศาลและเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยืนยันว่า การชุมนุมในวันนี้ จะไม่ยกเลิกอย่างแน่นอน ขอเชิญชวนทุกคน ถนนทุกสายให้มุ่งหน้าเดินไปที่สี่แยกราชประสงค์

ภาพ ม็อบ 31 ต.ค. ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH
ล่าสุด พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. โฆษก บช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวสถานการณ์การชุนนุมในวันนี้ 4 จุด คือ กลุ่ม UDD news และ กลุ่ม wewo GenZ บริเวณสะพานลอย หน้าอาคารที่ทำการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เริ่มเวลา 13.00 น., กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลา 17.00 น., กลุ่มราษฎร และกลุ่มแนวร่วม นัดรวมตัวบริเวณแยกราชประสงค์ เวลา 16.00 น. และ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทะลุแก๊สบริเวณแยกดินแดง เวลา 17.30 น.

การจัดกิจกรรมของทั้ง 4 จุดในวันนี้ ยังไม่ได้มีการขออนุญาตในการจัดกิจกรรมการชุมนุม และย้ำว่า ในปัจจุบันยังคงมีข้อห้ามตามกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น ตำรวจจะรวบรวมหลักฐานไว้เพื่อดำเนินคดีต่อไป ซึ่งจุดที่มีความกังวลคือ การชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่แยกราชประสงค์ เพราะในจุดนี้มีการชุมนุมของหลายกลุ่ม จึงจัดชุดสืบสวนหาข่าว เพื่อประสานการทำงานอย่างรอบด้านไม่ให้เกิดเหตุอันตรายในพื้นที่ จึงได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในพื้นที่ และบริเวณรอบ เพื่อเฝ้าระวังเหตุก่อความวุ่นวาย และเป็นอันตรายต่อประชาชน และยังมีวางกองกำลังเจ้าหน้าที่ตามสถานที่สำคัญ และจุดเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังเหตุกลุ่มก่อความวุ่นวาย พยายามเข้ามาสร้างสถานการณ์ความรุนแรง...

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานระหว่าง ม็อบสามนิ้ว กับ “ปิยบุตร” ที่ดูเหมือนต้องการสร้าง “คู่มือ” การไขข้อข้องใจ หรือ ตอบข้อสงสัย เกี่ยวกับการยกเลิก ม.112 โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เท่ากับเป็นกฎหมายคุ้มครองสถาบันฯ ไม่ให้ถูกจาบจ้วงล่วงละเมิด ตามเจตนารมณ์ของการออกกฎหมาย หรือ พูดง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้าน ก็คือ หมิ่นประมาทนั่นเอง

ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ “ปิยบุตร” มีแนวความคิดต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” อย่างที่ม็อบสามนิ้วเรียกร้องอยู่แล้ว และหนึ่งในข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” ก็คือ ยกเลิก ม.112 ด้วย

ส่วน “คู่มือ” ตอบข้อโต้แย้งในการยกเลิก ม.112 ของนายปิยบุตร ถ้าจะว่าไปแล้ว หลายเรื่องนายปิยบุตร มักนำมากล่าวอ้างอยู่เสมอ ทุกครั้งที่มีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย ที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิก และก็เห็นได้ชัดว่า แม้มีคำอธิบาย แต่ก็เป็นคำอธิบายที่มีข้อโต้แย้งได้อีก ซึ่งที่ว่าจะใช้ “สยบ” ข้อโต้แย้ง คงไม่จริง โดยเฉพาะกับฝ่ายที่มีความจงรักภักดี เพราะมีชุดความคิดคนละชุดนั่นเอง จึงไม่มีทางที่จะอธิบายได้ ซึ่งนายปิยบุตร ก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจดี เพียงแต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นของ “ปิยบุตร” ก็คือ ความต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ด้วยชุดความคิดที่เป็นทั้งทฤษฎีและนำไปสู่การปฏิบัติอยู่ในเวลานี้ให้ได้ โดยไม่สนใจว่า คนที่มีความจงรักภักดีจะเชื่อหรือไม่ เพราะคู่มือนี้ เป้าหมายที่แท้จริง ก็คือ คนที่ไม่มีรากฐานอันลึกซึ้งเกี่ยวกับสถาบันฯนั่นเอง

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า “คนไทย” ไม่ใช่ฝรั่งต่างชาติ ที่ไม่มีรากวัฒนธรรม ที่ผูกติดมากับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จากรุ่นสู่รุ่น จึงไม่ง่ายที่เพียงคำอธิบายแค่นี้ จะทำให้คนไทยเชื่อว่า ถ้ายกเลิก ม.112 แล้ว จะไม่กระทบกับสถาบันฯ ทั้งยังเป็นการช่วยสถาบันฯไม่ให้เสื่อมด้วย ใครจะเชื่อ? เพราะเนื้อหา ทั้ง “ปฏิรูปสถาบันฯ” และ ยกเลิก ม.112 ที่ม็อบเด็กเอามาจาบจ้วงล่วงละเมิด มันทำให้คิดได้เพียงอย่างเดียวว่า มุ่งทำลาย มากกว่าสร้างสรรค์จรรโลง

นี่อาจเป็นข้อโต้แย้ง ที่มีต่อคำอธิบายของ “ปิยบุตร” ซึ่งสยบไม่ได้อยู่ดี ไม่เชื่อคอยดู!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น