ศาลแพ่งยกคำร้อง “รุ้ง-มนัสยา” ฟ้อง “นายกฯ ตู่” ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ขอคุ้มครองชั่วคราวม็อบประท้วงยกเลิกกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง ม.112 แยกราชประสงค์ 31 ต.ค.นี้ ชี้ ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะจำเป็นต้องบังคับใช้ป้องกันโควิด-19
วันนี้ (29 ต.ค.) ศาลแพ่งอ่านคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ พ.5080/2564 ที่น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำราษฎร กับพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 12 และให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น และให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานภายใต้บังคับบัญชาปฏิบัติการในลักษณะกีดขวางการชุมนุมของโจทก์ทั้งสี่ และให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชน พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวและห้ามมิให้นำมาตรการ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ ที่สั่งการตามประกาศดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้งสี่และประชาชนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
กรณีออกข้อกำหนดและประกาศจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุม พร้อมทั้งยืนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินขอให้คุ้มครองชั่วคราว #ม็อบ31ตุลา 2564
ซึ่งศาลแพ่งได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วเสร็จเมื่อช่วงค่ำ และมีคำสั่งสรุปใจความได้ว่า “แม้ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องที่มีเนื้อหาห้ามมิให้มีการชุมนุมจะเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น หรือการชุมนุม แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
เป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป ว่า ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ ทั้งได้ความตามคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินของโจทก์ ว่า ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ จะมีประชาชนทำกิจกรรมรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 10,000 ราย อันมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นภัยต่อความปลอดภัยสาธารณะ กรณีจึงยังคงมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด และประกาศดังกล่าวต่อไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคและประโยชน์สาธารณะโดยส่วนรวม ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลให้ความปลอดภัยสาธารณะโดยส่วนรวมดีขึ้น ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นในการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวต่อไป
ในชั้นนี้ตามคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ จึงไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2 ) มาบังคับใช้ จึงให้ยกคำร้อง