xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเส้นทาง ‘TKC’ บนยอดคลื่นดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเส้นทาง ‘สยาม เตียวตรานนท์’ ที่ยืนอยู่บนฐานรากที่แข็งแกร่งด้านเทเลคอม มีกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่ Regulator, Private Operator และ State Enterprise รวมถึง Vendor หลักทุกราย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทีมวิศวกรที่ทำงานด้วยยุทธศาสตร์ต้นทุนที่คุ้มค่าบวกด้วยงานที่มีคุณภาพ

วันนี้ TKC กำลังมุ่งสู่การทำดิจิทัลโซลูชันเป็นหัวใจของธุรกิจที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า Smart ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Smart Healthcare หรือ Smart Education พร้อมสานฝันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนมาสร้างธุรกิจที่คาดว่าเป็นอนาคต

‘เป้าหมายอีก 3-5 ปีข้างหน้า อยากให้ TKC เป็นบริษัทที่ทำโซลูชันเกี่ยวกับดิจิทัล ผมคงไม่อยากเป็นแค่เทเลคอม หรือไอซีทีแล้ว ผมอยากเน้นการที่เป็น Digital Solution Provider อย่างด้าน healthcare หรือด้านเกี่ยวกับ education แต่ยังนึกไม่ออกว่าท้ายสุดแล้วจะเป็นอย่างไร ทำให้ผมต้องหาพันธมิตร ต้องหาความรู้เพิ่มขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐาน 5G ตรงนี้’ สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC กล่าวถึงปลายทางของ TKC ที่ตั้งใจไว้


TKC เป็นบริษัทให้บริการรับเหมาออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ พัฒนาซอฟต์แวร์และบำรุงรักษางานวิศวกรรมในสายงานด้านระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งระบบสื่อสารต่างๆ ชั้นนำของโลก เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Security) ระบบรักษาความปลอดภัยของสาธารณชนและความมั่นคงของประเทศ (Public Safety and National Security) ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

‘TKC เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการทำด้านดิจิทัล โซลูชัน โดยเน้นสายงานที่เป็นด้านเทเลคอมกับด้านไอซีที ธุรกิจหลักของ TKC มีอยู่ 4 ด้านคือ งานระบบสื่อสารโทรคมนาคม ด้านดาต้าคอมมูนิเคชัน ระบบเทคโนโลยีสำหรับรักษาความปลอดภัยของสาธารณชนและความมั่นคง และงานบริหารจัดการระบบและบริการดูแลบำรุงรักษา อย่างเช่น การรับมอนิเตอร์เน็ตเวิร์ก ดูแลให้บริการได้ตาม SLA (service level agreement) เรียกได้ว่าที่เดียวครบวงจร ออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษาให้บริการได้ตาม SLA จากตอนแรกเป็นแค่เอ็นจิเนียริง เซอร์วิส จนปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นดิจิทัล โซลูชัน โพรวายเดอร์’

***อนาคตต้องดิจิทัล


ความน่าสนใจของ TKC อยู่ที่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจและวางเป้าหมายอยู่บนยอดคลื่นดิจิทัล ที่ในอนาคตมีขนาดตลาดระดับมหึมา ตอกย้ำได้จากคำพูดของ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ระบุว่า 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ให้ประเทศไทยได้ไม่ต่ำกว่า 5.5 เท่าภายในปี 2578 มีการประยุกต์ใช้ประโยชน์จาก 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีการใช้อุปกรณ์ IoT จำนวนมาก โดยคาดว่าภายในปี 2573 ตลาด 5G ในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาทและสร้างการจ้างงานใหม่ด้านดิจิทัลกว่า 1.3 แสนตำแหน่ง เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น และการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะที่ต้องอาศัย 5G ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการใช้โดรนเชิงพาณิชย์

สยาม กล่าวว่า เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นตอนนี้จนถึงอีก 3 ปีข้างหน้ามันไม่ใช่การสร้างเน็ตเวิร์ก เพราะแต่ก่อนเป็น 4G บังคับให้ต้องสร้างเน็ตเวิร์กครอบคลุม 98% ของประชากร แต่พอเป็น 5G โอเปอเรเตอร์จะลงทุนที่กรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่เศรษฐกิจ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือบริการใหม่ๆ พวกสมาร์ทโซลูชันต่างๆ ที่ต้องใช้เซ็นเซอร์จับจะเกิด ที่ TKC มองไว้คือ smart factory, smart education กับ smart hospital ต่อยอดจากที่โอเปอเรเตอร์ และรัฐบาลได้ลงทุนสร้าง 5G เน็ตเวิร์ก

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประมาณ 7 หมื่นหมู่บ้าน โอเปอเรเตอร์เอกชนลงทุนต้องมีกำไร อาจลงทุนสัก 3 หมื่นหมู่บ้าน ส่วนที่เหลือภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเพราะต้องรับภาระการขาดทุนแน่นอน แต่การลงทุนแบบนี้ เม็ดเงินมหาศาลจะไปลงตรงนั้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

‘ในพื้นที่ห่างไกล ธุรกิจด้าน Tele education และ Tele health มาแน่นอน บริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ระบบสมาร์ทด้านต่างๆ เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแน่นอนในประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นอีกเรื่องและมีความสำคัญอย่างมากคือด้าน Cyber Security ปีนี้ TKC เตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญที่จะเป็นผู้นำระดับต้นๆ ของประเทศ บริษัทมีโอกาสที่จะดึงคนเก่งๆ ของสายงานนี้เข้ามาร่วมงานกับบริษัท เรากำลังศึกษาธุรกิจด้านการอบรมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี โดยอยู่ระหว่างการคัดเลือกพาร์ตเนอร์ทั้งในและต่างประเทศที่มีใบรับรองระดับสูงเข้ามาเป็นพันธมิตร’


สยาม กล่าวย้ำว่า ‘เราโฟกัสสายงานด้าน Cyber Security ที่เป็นด้าน Critical Information Infrastructure คือสายงานด้าน ความมั่นคงของรัฐ งานบริการภาครัฐ การเงินการธนาคาร งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ สายงานด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และด้านสาธารณสุข ผมสามารถต่อยอดให้เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีระดับต้นๆ ของประเทศ เหมือนงานด้านเทเลคอมที่เป็นธุรกิจหลักของ TKC ได้ไม่ยาก’

***จุดแข็งวิศวกร

จุดแข็งของ TKC คือการเรียนรู้เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมที่ได้มาตรฐานในระดับสากลจากพาร์ตเนอร์ชั้นนำของโลกและทำงานด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ได้งานที่มีคุณภาพ

‘ความสำเร็จของ TKC เป็นเพราะเรามีทีมวิศวกรและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีเป็นอย่างดี มีประสบการณ์ และผ่านการอบรมและมีใบรับรองขั้นสูงในด้านที่เกี่ยวข้อง ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และด้วยการที่เรามีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของเราเองทำให้ TKC สามารถบริหารต้นทุนได้ดี งานที่เป็นความเชี่ยวชาญหลัก (core expertise) คือ 1.งานออกแบบและสร้างระบบ 2.งาน configuration 3.ดูแลรักษาโครงข่ายและงานบำรุงรักษาเป็นสิ่งที่วิศวกร TKC ทำเองทั้งหมด เราจึงสามารถบริหารโครงการและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ’

ปัจจุบันกลุ่ม TKC มีพนักงานราว 400 กว่าถึง 500 คน กว่า 70% หรือกว่า 300 คนเป็นวิศวกร ทำให้ ‘สยาม’ มั่นใจว่า TKC สามารถที่จะทำงานตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มพาร์ตเนอร์ที่เป็นบริษัทเน็ตเวิร์กชั้นนำของโลก เซ็นสัญญากับกลุ่ม TKC เป็น ‘Frame Contract’ หรือสัญญาที่ครอบคลุมเป็นปีเลย บริษัทรายใหม่ที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ไม่ใช่ว่าจะเข้ามาได้ง่ายเพราะการที่จะสร้างวิศวกรให้มีความรู้ความชำนาญและความไว้วางใจจากลูกค้าต้องใช้ระยะเวลาหลายปี

‘นอกจากนี้ เรามีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งระดับโลกทำงานร่วมกัน และเรามีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและเข้มแข็ง ด้วยประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เราสามารถปรับตัวและใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับเรา’


สิ่งที่ ‘สยาม’ เชื่อมั่นในเวนเดอร์มาจากความสัมพันธ์การขยายต่อยอดธุรกิจที่เกิดจากความเป็นวิศวกรของ ‘สยาม’ เพราะหากย้อนเส้นทางเติบโตของ TKC จะพบว่าเริ่มจากงานด้านเทเลคอม โดยประสบการณ์ระบบ CDMA จากโมโตโรล่า ขยายไปสู่ฮัทช์ ที่ให้บริการ 25 จังหวัดโซนภาคกลาง และที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญจุดพลิกผันชีวิตของ ‘สยาม’ คือการที่เวนเดอร์ซึ่งปัจจุบันเป็นลูกค้าหลักของบริษัทชนะการประมูลโครงการ CDMA ของ CAT (อดีต กสท โทรคมนาคม)

‘ตอนที่ CAT และฮัทช์ สร้างระบบ CDMA ทั่วประเทศ เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วพาร์ตเนอร์หลักของ TKC ชนะประมูลงาน CAT ได้ทั่วประเทศยกเว้นภาคกลาง ช่วงนั้นผมมีโอกาสโตแบบก้าวกระโดดเลย ดับเบิลไซส์ทุกปี เป็นระบบ CDMA เมืองไทยมีไม่กี่คนที่รู้จัก ผมมีโอกาสได้จับมือกับบริษัท SK Telecom ผ่านบริษัทลูก SK TELESYS เพื่อทำโครงการนี้ SK เอาต์ซอร์สงานเอ็นจิเนียริงเซอร์วิสให้กับ TKC ทั้งหมดเลย โดยส่งคนมาเป็น project director งานประเภทดีไซน์ RF (Radio Frequency) งาน Optimization ใช้วิศวกรของเราเกือบทั้งหมด นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำงานภาครัฐ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้จาก SK คือการที่ผมได้เรียนรู้การบริหารจัดการและเทคโนโลยีด้าน Mobile Network รวมถึงพันธมิตรหลักที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์’

หลังจากนั้นเรียกได้ว่าพันธมิตรได้งานที่ไหน TKC ก็ตามไปทำงานร่วมกับพันธมิตรที่นั่นและขยายงานสู่การสร้างโครงข่ายให้โอเปอเรเตอร์เอกชนทุกรายในประเทศ จนปัจจุบันมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ TKC ยังได้ขยายฐานลูกค้าสู่เรกูเลเตอร์ โดยเข้าไปรับงานบริการตรวจสอบ เปรียบเทียบและรายงานผลประสิทธิภาพของโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการแต่ละราย (Mobile Network Quality of Service Monitoring and Benchmarking) เรียกได้ว่า TKC เกาะกุมหัวใจของสายเทเลคอมไว้เป็นลูกค้าทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เรกูเลเตอร์รวมถึงโมบายโอเปอเรเตอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน และเวนเดอร์ชั้นนำระดับโลก

‘ทุกครั้งที่เรกูเลเตอร์มีการประมูลคลี่นความถี่ โอเปอเรเตอร์ที่ชนะประมูลจะต้องมีการปรับปรุงระบบเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ รายได้ของ TKC จะเติบโตอย่างมาก เพราะทุกรายจะต้องลงทุนในโครงข่ายใหม่ หลังจากนั้นรายได้ TKC จะทรงตัวหลังจากลงทุนในโครงข่ายเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม TKC จะมีรายได้จากงานบริการบำรุงรักษาและงานบริการปรับปรุงคุณภาพสัญญาณโครงข่าย (Maintenance & optimization) รวมถึงการรอจังหวะใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนหรืออัปเกรดระบบใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะมีรายได้พุ่งสูงขึ้นอีก มีวงรอบประมาณสัก 4-6 ปี ผมอาศัยอย่างนี้ในการขยายธุรกิจด้านโทรคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน เราให้บริการลูกค้าครอบคลุมลูกค้าทั้งโอเปอเรเตอร์ เรกูเลเตอร์ และเวนเดอร์ชั้นนำในประเทศไทยเป็นลูกค้าของเราหมด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม’

หลังแข็งปึ้กในสายงานเทเลคอม TKC ขยายมาทำธุรกิจด้านการสื่อสารข้อมูล (data communications) หรือไอซีที แต่ไม่ใช่การขายแค่สวิตช์ (switch) หรือเราเตอร์ (router)

‘ผมเอาประสบการณ์ด้านเทเลคอมมาใช้ เทเลคอมมีคอร์เน็ตเวิร์ก มีทรานสมิชชัน พอเป็น datacom มีคอร์เราเตอร์ งานพวกไอพีคอลล์ ลักษณะงานคล้ายคลึงกันหมดเลย ผมขยายพันธมิตรที่เป็นบริษัทชั้นนำในสายดาต้าคอมเพิ่ม เรามีโอกาสได้ทำงานที่เป็นเทรนด์ในอนาคต เช่น ระบบคลาวด์ เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราได้มีโอกาสร่วมกับพันธมิตรในการทำระบบคลาวด์ให้กระทรวงพาณิชย์ ให้ทุกกรมมาใช้ระบบคลาวด์ส่วนกลาง ซึ่งเป็นผลสำเร็จ พอเรามีผลงานอ้างอิง ขยายมาทำ government cloud (GDCC) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนให้หน่วยงานรัฐมาใช้ โดยทำให้ CAT Telecom อุปกรณ์ที่ใช้เป็นพาร์ตเนอร์หลักของผมที่เป็นบริษัทระดับโลก’

‘ทั้งนี้ ในปัจจุบันจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 เราได้เห็นการใช้งานของระบบคลาวด์ที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์ที่เราทำมา ผมเห็นว่าระบบคลาวด์จะมีโอกาสขยายอย่างต่อเนื่อง เราจะใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำระบบคลาวด์ขนาดใหญ่มาสร้างโอกาสในการขยายไปสู่หน่วยงานอื่นๆ เป็นช่องทางการขยายงานในอนาคตให้ TKC ระบบคลาวด์จะไม่ใช่แค่ New Normal แต่จะเป็น Everyday Normal สำหรับประเทศไทย’


สยาม เล่าว่า จาก Datacom TKC ขยายมางานด้าน Public safety โดยร่วมกับพันธมิตรในการนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับปรุงระบบวิทยุตำรวจหรือทรังก์เรดิโอเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว รวมทั้งยังมองว่าเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นคือเรื่อง Big data โดย TKC ได้ขยายฐานธุรกิจมาทำเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์เพิ่มเติม

‘ช่วงแรกเราเติบโตก้าวกระโดดทุกปี เรียนรู้จากความต้องการของลูกค้า เราไม่ได้เป็นรายใหม่ เราทำงานหนัก เราศึกษาและติดตามในนโยบายและแผนแม่บทของภาครัฐอยู่ตลอด รวมทั้งติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ ที่สำคัญผมมีเวนเดอร์เป็นพันธมิตร ทุกครั้งที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เป็นการสร้างโอกาสใหม่เราต้องจับให้ทัน ผมว่าเราโชคดีที่มีโอกาสเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น แล้วเรามีโอกาสที่จะเตรียมความพร้อมได้เร็วกว่าคนอื่น ทำให้ผมสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในระบบบริหารจัดการของเรา และกลับมาใช้บริการ TKC อย่างต่อเนื่อง’

***เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สานฝันอนาคต

ทั้งนี้ TKC ไม่เคยขาดทุนเลย รายได้ปีที่แล้วประมาณ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็นมาจากสายเทเลคอมประมาณ 20% datacom ประมาณ 20 กว่า% public safety 30 กว่า% ส่วนอีก 10 กว่า% เป็นของสายงาน Maintenance Agreement (MA)โดยมองว่าจากสถานการณ์โควิด-19 และเงื่อนไขใบอนุญาต 5G ที่ไม่กำหนดพื้นที่ครอบคลุมเหมือนที่ผ่านมาทำให้โอเปอเรเตอร์ชะลอการลงทุน

อย่างการวางเน็ตเวิร์กในอาคารที่เฉพาะกรุงเทพฯ มี 700-800 อาคาร เฉลี่ยแล้วแต่ละอาคารโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต้องลงทุนประมาณ 3-5 ล้านบาท ส่งผลให้การเติบโตของ TKC อาจไม่หวือหวาตามไปด้วย แต่ TKC จะมุ่งขยายไปด้านอื่นที่เป็นสมาร์ท (อัจฉริยะ) อย่าง Tele health ซึ่งมีมูลค่าเป็นหมื่นล้าน Tele education อีกเป็นหมื่นล้าน เพราะพอโครงสร้างพื้นฐานมีความเสถียรแล้ว จะไปโตด้านอื่นทั้ง smart factory, smart railway, smart airport, self-driving car และโดรน TKC จะทำทั้งหมดเลย

‘ผมฝันว่าอยากเห็น TKC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจที่เชื่อมั่นว่านี่คืออนาคต TKC จะไม่ใช่บริษัทที่ทำเฉพาะ Telecom, Datacom และ Public Safety โลกอนาคตคือโลกแห่งดิจิทัล บริษัท TKC ตั้งเป้าจะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลโซลูชันที่ครอบคลุมทั้งด้านโทรคมนาคมและไอซีที’ สยาม กล่าวถึงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ยื่นไฟลิ่งไปแล้วเพื่อสานฝันถึงธุรกิจในอนาคตที่ตั้งเป้าหมายไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น