โดย ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะภาคอีสาน และภาคกลาง กลุ่มนักวิทยาศาสตร์รวมตัวกันชื่อคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ลงความเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย มีแนวโน้มทั้งด้านระดับความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากภาวะโลกร้อน เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัญหาโลกร้อนนี้ เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เป็นโลกที่มีความยั่งยืน
พวกเราคงคุ้นเคยกับประโยคความยั่งยืนจากวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง” ความยั่งยืน คือความตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมโดยไม่กระทบโอกาสของคนรุ่นต่อไปในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดียวกันนี้ การวางแผนการพัฒนาจะต้องพิจารณาควบคู่กันไประหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความเจริญของสังคมและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
แนวคิดความยั่งยืนนี้มีการนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Environment and Development - UNCED) หรือการประชุมสุดยอด (Earth Summit) ณ เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติรวมถึงประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในแผนแม่บทของโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือแผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) โดยสมาชิกร่วมกำหนดเป้าหมายและดำเนินการเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ในช่วง พ.ศ. 2543-2558 เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และในปัจจุบัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในช่วง พ.ศ. 2558-2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป้าหมายออกเป็น 17 ข้อ ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน พวกเราลองนึกภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คือเสาของบ้าน และหลังคาคือความยั่งยืน หากทั้ง 3 เสา มีอัตราการเติบโตที่ไม่เท่ากัน หรือความสูงไม่เท่ากัน ก็จะส่งผลให้ความยั่งยืน ซึ่งก็คือหลังคาบ้านมีความไม่มั่นคง หรืออาจตกลงมาได้ ดังนั้น การเติบโตที่สมดุลทั้ง 3 มิติ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ถึงแม้ว่าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหน้าที่ของทุกคน สถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการศึกษา และวิจัย โดยมีเป้าหมายผลลัพธ์ของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม รวมถึงการพยายามนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ถ่ายทอดผ่านกลไกการประยุกต์เพื่อให้เกิดการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้ ดังนั้นบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การประยุกต์แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่นโยบายการบริหารและกิจกรรมการดำเนินงานของสถาบันการศึกษา จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพขององค์ความรู้ และบัณฑิตที่ถูกผลิตจากสถาบันนั้น ๆ ด้วย เพราะสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ และบุคลากรที่จะออกสู่ชุมชน และสังคมเป็นสำคัญ โดยพัฒนาผู้นำที่มีวิสัยทัศน์แห่งความยั่งยืน และที่สำคัญสถาบันฯ จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนหรือ “Lead by example” ด้วยเหตุนี้ สถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นองค์กรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเนื่องจากบทบาทหน้าที่ในการสร้างความตระหนัก ความรู้ ทักษะต่าง ๆ สำหรับประชาชน รวมทั้งสร้างคุณค่าส่งเสริมกิจกรรมแห่งความยั่งยืน
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย 36 มหาวิทยาลัย ร่วมผลักดัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) เพื่อสนับสนุน
การพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย 2) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ระหว่างสถาบัน และ 3) เพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคส่วนการศึกษาโดยเป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย
สุดท้ายนี้ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาระบบการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษา (Sustainable University System Assessment of Thailand หรือ SUSA-Thailand) (http://www.susathai.net/) เพื่อเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถนำไปปฏิบัติก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนต่อไป
เอกสารอ้างอิง
Amaral, L.P., Martins, N. (2015). Quest for a sustainable university: a review. International Journal of Sustainability in Higher Education, 16(2), 155-172
Cortese, A. (2003). The critical role of higher education in creating a sustainable future. Planning for Higher Education Journal., 15e22.
IPCC, 2012: Managing the Risks of Extreme Events and Disasters to Advance Climate Change Adaptation. A Special Report of Working Groups I andII of the Intergovernmental Panel on Climate Change[Field, C.B., V.Barros, T.F. Stocker, D. Qin, D.J. Dokken, K.L. Ebi, M.D. Mastrandrea, K.J. Mach, G.-K. Plattner, S.K. Allen, M. Tignor, and P.M. Midgley (eds.)]. Cambridge University Press, Cambridge, United Kingdom and New York, NY, USA, 582pp.
Lukman, R., Glavíc, P. (2007). What are the key elements of a sustainable university? Clean Technologies and Environmental Policy, 9, 103-114
Saadatian, O., Dola, K.B., Salleh, E.I., Tahir, O.M. (2011). Identifying strength and weakness of sustainable higher educational assessment approaches. Internaitonal Journal of Business and Social Science, 2(3), 137-146
United Nations. (2018). The sustainable development agenda. Retrieved from https://www.un.org/sustainabledevelopment/development-agenda-retired/