“ทักษิณ” ไหว้ “บิ๊กตู่” อย่าอยู่ต่อ ซัด “พี่น้อง 3 ป.” ตกยุค แถ “เปิดประเทศ” ไม่พร้อม “อดีตรองอธิการ มธ.” ซัด พวกต่อต้านอะไรก็ไม่ดี ชี้ รบ. เลือกเศรษฐกิจไม่ให้คนอดตาย “หมอประสิทธิ์” เชื่อ อาจติดเชื้อเพิ่ม แต่เอาอยู่
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (13 ต.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น “ทักษิณ” โชว์ละครน้ำเน่า! ถึงขั้นยกมือไหว้ขอ “บิ๊กตู่” อย่าอยู่ต่อ ซัดพี่น้อง 3 ป.ตกยุคแล้ว
โดยระบุว่า หลังจากเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 64 นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวผ่าน CareTalk x Care ClubHouse : ภายใต้หัวข้อ 7 ปีพัง ขออีก 5 ปี คงพินาศ “ฮัลโหลคนไทยไว้ใจประยุทธ์ได้หรือ?”
ทั้งนี้ ตอนหนึ่ง นายทักษิณ ได้ยกมือไหว้ พร้อมกล่าวฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ขออย่าเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ พูดกับประชาชน ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา “ขอเวลาอีก 5 ปี”
“วันนี้ท่านขออีก 5 ปี เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย …ผมไม่แน่ใจว่า ท่านจะอยู่พลิกโฉมได้หรือเปล่า เพราะสิ่งที่ทำ ท่านทำให้ประเทศเสียโฉมมาเยอะแล้ว แล้วท่านจะพลิกโฉมอย่างไร เหมือนเราอยากแต่งตัวหล่อ อยากทำหน้าสวย ทำศัลยกรรมหน้าสวยๆ ต้องให้หมอศัลยกรรมหน้าสวยๆ มาทำ ไม่ใช่สัปเหร่อมาทำ ท่านทำจนบ้านเมืองพังหมด 7 ปี แล้ววันนี้อีก 5 ปี ผมยกมือไหว้ ผมรุ่นพี่นะ ไหว้รุ่นน้องเลยเถอะว่า พอเถอะท่าน เสียดายบ้านเมือง เสียดายบ้านเมืองจริงๆ พอเถอะ ให้คนรุ่นใหม่มาทำเถอะ
เรามันแก่แล้ว พวกเรามันพวก Baby Boomer มันไม่เข้าใจหรอก เด็กรุ่น Generation หลังๆ เรา คิดยังไง ผมขนาดอ่านหนังสือ ติดตามคุยกับเด็ก ผมยังคิดว่าผมไม่เข้าใจลึกซึ้งพอ แต่ท่านเนี่ยไม่มีเลย ผมว่าท่านไม่เข้าใจเลย แล้ว 7 ปี มันพิสูจน์แล้วว่า ท่านหยุดดีกว่า ให้คนรุ่นใหม่มาเถอะ คนรุ่นใหม่ไม่ใช่อีก ป. นึงนะ ท่านมี 3 ป. ทั้ง 3 ป. มันตกรุ่นหมดแล้ว พอแล้ว อำนาจก็พอแล้ว อะไรทุกอย่างก็พอแล้ว
ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะผมมีส่วนตั้งพวกท่านมาทั้งนั้น แต่ว่ามันเป็นบาปกรรมผม ส่งเสริมพวกท่านมาแล้ววันนี้ท่านมาเล่นอย่างนี้กอดคอกัน รักษากัน รักษาเก้าอี้กัน แต่บ้านเมืองพัง ผมคิดว่า ท่านมันตกยุค วันนี้ Baby Boomer ต้องอย่านั่งเป็นนายกฯ เลย พอแล้ว ให้ Gen X Gen Y ดีกว่า เลยบอกว่า 7 ปี หนักหนาแล้ว 5 ปี อย่าไลย พอเหอะ”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกฯไปพูดที่นครศรีธรรมราช ว่า ให้รอดูผลงานอีก 5 ปี หมายความว่าอย่างไร นายวิษณุ ตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้หมายความว่า จะอยู่อีก 5 ปี กระแสที่ออกมาไปบิดเบือน สิ่งที่ท่านจะสื่อสาร คือ นโยบายต่างๆ ที่ได้ทำไปจะเห็นผลในอีก 5 ปี และสิ่งที่ท่านพูดถึงกรอบเวลา 5 ปี นั้น เป็นวงรอบของกรอบแผนปฏิรูป ไม่ได้ให้นับ 5 ปี จากปัจจุบัน
รวมทั้งก่อนหน้านี้ นายทักษิณ เคยพูดให้นายกฯ รีบเปิดประเทศ แต่พอหลังจากนายกฯประกาศชัดเจน ว่า จะเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 64 นายทักษิณ ก็ได้ออกตัวอีกว่า ตอนที่ผมบอกว่าจะเปิดประเทศใน 180 วัน มีเงื่อนไขคือต้องฉีดวัคซีนถึงและวัคซีนมีคุณภาพ และต้องจัดการสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ แต่วันนี้รัฐบาลบริหารแบบเช้าชามเย็นชาม พอถึงเวลา 120 วัน ก็มาเปิด สรุปคือเปิดแต่เหมือนไม่ค่อยพร้อม 10 ประเทศ ไม่มีหลักคิด ควรใช้วิธีหลักสากลเลย จนทำให้โลกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์นายทักษิณ ว่า ตกลงจะเอายังไงกันแน่ ยิ่งพูด ยิ่งไม่มีอะไรดีขึ้น
ขณะเดียวกัน วันนี้ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีการวิพากษ์วิจารณ์หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า
“เวลาประกาศ lock down พวกคุณก็โจมตีว่า คิดง่ายๆ แค่ด้านเดียว คำนึงแต่ด้านสุขภาพ ไม่รู้จักห่วงเศรษฐกิจ ไม่รู้จัก balance ระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพเอาเสียเลย
พอมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น พวกคุณก็โจมตีว่า เป็นรัฐบาลฆาตกร ทั้งที่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตทั้งหมดต่อประชากรล้านคน ประเทศเราถือว่าทำได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งรู้บ้างหรือเปล่าว่าหากไม่ lock down สถานการณ์จะย่ำแย่กว่านี้
ตอนนี้ รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดประเทศแบบมีเงื่อนไข คือ เปิดให้เฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีนครบ dose แล้ว ให้เข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีผลตรวจโควิดมาแสดง พวกคุณก็บอกว่า จะเปิดประเทศน่ะ พร้อมแล้วหรือ บ้างก็กระแหนะกระแหนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือว่า เปิดประเทศแต่ไม่เปิดโรงเรียน หรือกำหนดวันให้ขายเหล้า แต่ไม่กำหนดวันเปิดโรงเรียน ทั้งที่เขาประกาศกำหนดวันเปิดโรงเรียนมานานแล้ว คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน เห็นว่าบางโรงเรียนจะเปิดก่อนนั้นด้วยซ้ำ
การตัดสินใจเปิดประเทศ ต้องเปิดประเทศแบบมีเงื่อนไขอย่างที่รัฐบาลทำ ไม่ใช่เปิดอย่างเสรีไม่มีอะไรควบคุม จะตัดสินใจเปิดประเทศหรือไม่ ต้องพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า tradeoff หรือ ภาวะได้อย่างเสียอย่าง หากเปิดประเทศจะมีความเสี่ยงต่อการมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม เสียชีวิตเพิ่ม หากไม่เปิดประเทศในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาเริ่มเปิดกัน และในช่วงเดือนที่เป็นเงินเป็นทอง แม้ความเสี่ยงต่อการมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจะมีน้อยกว่า แต่ความเสี่ยงต่อการที่เศรษฐกิจจะพังพินาศจะมีมาก ดังนั้น รัฐบาลคงได้ประเมินความเสี่ยงแล้วว่า หากเปิดประเทศจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดสักเท่าใด โดยคำนึงถึงสัดส่วนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และหากมีผู้ติดเชื้อมากเท่านั้น ระบบสาธารณสุขของเราจะรองรับได้หรือไม่ หากไม่เปิด ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมากเท่าใด
นั่นคือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งคาดว่า รัฐบาลคงได้ทำเป็นอย่างดีแล้ว เพราะหากรอให้พร้อม 100% หรือให้ผู้ติดเชื้อเป็น 0 เราจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก และคราวนี้อาจมีคนอดตายจริงๆอย่างที่พยายามปั่นกระแสกันก็ได้ เชื่อว่า รัฐบาลตัดสินใจครั้งนี้ถูกต้องแล้วครับ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงกรณีที่ไทยจะเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 64 ว่า
หากคำถามเปิดประเทศถามเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตนคงไม่เห็นด้วย แต่ ณ วันนี้ ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ 3-4 ข้อมูล อันที่ 1 คือ อัตราการฉีดวัคซีนของคนในประเทศ จากข้อมูล ณ วันที่ 12 ต.ค. 64 คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 50% ส่วนเข็มที่ 2 ก็เกิน 1 ใน 3 ไปแล้ว ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุตัวเลขการฉีดในแต่ละจังหวัดก็ดำเนินไปด้วยดี มีจังหวัดทางภาคใต้ที่ยังฉีดน้อยไป จึงอยากเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนกันมากขึ้น ซึ่งถ้าจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนมีมากโอกาสที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงก็มีมากขึ้น
แต่ที่ผมย้ำ การจะเปิดประเทศได้ต้องทำ 3 มาตรการคู่ขนานกันไป โดยมาตรการที่ 1 คือ เรื่องวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจะต้องระดมฉีดวัคซีน ยืนยันว่า ตอนนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ เพราะในเดือน ต.ค., พ.ย. จะมีวัคซีนเข้ามาเดือนละ 20 ล้านโดส ซึ่งขบวนการฉีดจะต้องฉีดให้ได้มากพอ
ถ้ามีวัคซีนพอแต่ไม่มีคนมาฉีด ก็ไม่มีประโยชน์ และคนจะต้องยอมให้ฉีด เพราะถ้าคนไม่ยอมให้ฉีดก็จะลำบาก ซึ่งเท่าที่ผมทราบขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รอให้คนเดินมาฉีดแล้ว แต่เขานำวัคซีนเข้าไปหาคน ซึ่งตรงนี้จะทำให้การฉีดวัคซีนได้มากขึ้น
มาตรการที่ 2 มาตรการส่วนบุคคล ซึ่งตรงนี้ผ่อนไม่ได้เลย การเปิดประเทศโดยให้คนต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยว และมาใช้บริการภายในประเทศไทย ดังนั้น ทุกคนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการจะต้องรักษามาตรการตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ยังต้องรักษาระยะห่าง สถานประกอบการ บุคลากรที่อยู่ในสถานประกอบการ จำเป็นต้องตรวจ ATK เพื่อสร้างความปลอดภัยไม่เฉพาะคนในหน่วยงานตัวเองแต่รวมถึงผู้มารับบริการด้วย
และ 3. มาตรการของระบบการบริหารจัดการ การปกครอง จะต้องเข้มงวดในระดับหนึ่ง ตราบใดที่มีมาตรการแต่คนไม่ทำตาม สุดท้ายจะเกิดการแพร่ระบาด ดังนั้น ควรพยามติดตามมาตรการที่รัฐบาลออกมา กรณี คนต่างประเทศ หรือคนไทยเอง ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด
ถ้าทุกคนทำตามข้อกำหนดอย่างจริงจัง เชื่อว่า จะเกิดผลดี ไม่ใช่พูดแล้วไม่ทำ ก็จะประเมินมาตรการไม่ได้ แต่ถ้าทำตามมาตรการแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งปีที่แล้วมีมาตรการผ่อนปรนถึง 6 มาตรการ ดังนั้น ปีนี้ถ้าค่อยๆ ผ่อนปรน และติดตามสถานการณ์ อย่าเร็วจนเกินไป เพราะข้อดีของเราคือตอนนี้มีวัคซีนแล้ว ข้อเสียคือเราเจอสายพันธุ์เดลตา ซึ่ง ณ เวลานี้ ผมเชื่อว่าสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในไทยเราคุมอยู่ในระดับหนึ่ง จากที่เรามีคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และคนไข้ปอดอักเสบหนัก ตอนนี้ก็ลดลงแล้ว คนไข้นอนโรงพยาบาลก็น้อยลง และปิดโรงพยาบาลสนามบางที่ไปแล้ว อัตราการเสียชีวิตก็กำลังลดลง
“ผมคาดการณ์นะ เมื่อเปิดประเทศอาจจะมีคนติดเชื้อเยอะขึ้น ก็ไม่เป็นไร ถ้าตราบใดเยอะขึ้นบ้าง แต่ไม่มีคนเสียชีวิตแล้ว หรือเสียชีวิตก็ยังควบคุมได้ดีอยู่ อย่าลือว่าคนติดเชื้อทุกคนถ้าไม่รุนแรงสุดท้ายภูมิคุ้มกันเขาจะเกิด แต่ก็ขอความร่วมมือทุกๆ คน ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกัน”
ถามว่า การเปิดประเทศ หากมีการติดเชื้อ ด้านสาธารณสุข หรือแพทย์จะรับมือไหวหรือไม่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้โชคดีที่ รพ.ศิริราช ได้ผ่อนพักบ้างแล้ว มีเตียงว่างบ้างแล้ว แต่เราก็ผ่อนที่พร้อมจะรองรับหากเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ภาวนาไม่ให้เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้ามันจะเกิด มันก็เกิด ซึ่งตอนนี้เราก็ทบทวนอุปกรณ์อะไรที่เราขาดและที่ต้องเติมเข้ามาเตรียมความพร้อมในการรองรับไว้ ถ้าไม่ต้องใช้ก็ดี แต่ถ้าต้องใช้ก็พร้อมใช้ คิดว่าทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็จัดเตรียมเรื่องนี้ไว้เช่นกัน
“ผมก็คาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะเยอะขึ้นที่มาจากทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา และเกิดจากความหย่อนยานของคนในประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเราอาจจะต้องมีการตรวจอย่างน้อย 2-3 ครั้ง
ส่วนคนในประเทศ สิ่งที่ต้องระวัง อยากให้ย้อนไปดูภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีมาตรการดี แต่มีชนต่างด้าวที่หลบเข้าไปทำงาน ซึ่งคนที่หลบมาก็ไม่ได้ผ่านการตรวจหาเชื้อ ดังนั้น เราต้องช่วยกันดูแล ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำตามระเบียบ ก็จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จึงอยากฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแล” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
แน่นอน, สิ่งที่ “ทักษิณ” พูดทุกครั้ง แม้แต่ครั้งนี้ ถ้าใครจับสังเกตให้ดี จะเห็นว่า เป็นการหาเรื่องหาประเด็นมา “ดิสเครดิต” พล.อ.ประยุทธ์ และการบริหารประเทศของ “3 ป.” เท่านั้น แม้อ้างว่า เป็นห่วงประเทศ เป็นห่วงคนไทย แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนคนไทย ประเทศไทย อย่างสร้างสรรค์เลยแม้แต่อย่างเดียว นอกจากคำวิจารณ์ด้อยค่า แถมบางครั้งยังบิดเบือนข้อมูลมาให้ร้าย เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีคนเคยเป็นนายกฯ ทำให้มีแค่เพียงพวกสาวกที่นิยมอยู่เท่านั้นที่ยังชื่นชม
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” โจมตีการปิดประเทศ เร่งวันเร่งคืนให้เปิด ทั้งที่โควิดระบาดหนัก ก็ไม่ดูสถานการณ์ แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์ จะเปิดประเทศ ก็โจมตีเงื่อนไขนั่นนี่ ว่า ไม่พร้อม ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดชัดเจนว่า เป็นการเปิดอย่างมีเงื่อนไข และประเมินความพร้อมมาตลอด ก่อนตัดสินใจ นี่คือ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกคนชอบหาเรื่อง
ที่สำคัญ ถ้าฟังจาก รศ.หริรักษ์ อดิตรองอธิการบดี มธ. และ “หมอประสิทธิ์” ซึ่งถือว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญและอยู่ในวงการสาธารณสุข ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า การตัดสินใจของ รัฐบาลในการเปิดประเทศครั้งนี้ มีทั้งเหตุผล และใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ถือว่ามาถูกทางที่สุดแล้ว เหมือนกับต่างประเทศหลายประเทศ นี่คือ สากลที่สุดแล้ว “ทักษิณ” จะเอาอะไรอีก
เพราะฉะนั้น ถ้า “ทักษิณ” อยากให้ความน่าเชื่อถือของตัวเองยังอยู่ การวิพากษ์วิจารณ์อะไรควรอยู่บนหลักการและเหตุผล ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่สักตาว่าพูด เพราะเชื่อว่า มีคนฟัง มีคนเชื่อ (คนรักทักษิณ) ไม่เช่นนั้น คนรุ่นใหม่ที่เขาเกิดไม่ทัน ตอนบริหารประเทศที่มีโชคช่วย เขาจะพูดเอาได้ว่า “เชื่อทักษิณ ระวังออกลูกเป็นลิง” ก็ไม่แน่ อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน!?