“ศ.นพ.ธีระวัฒน์” เตือนเปิดประเทศ งต้องระวังเชื้อโควิด-19 ที่แฝงมาแต่ตรวจไม่เจอ เพราะอยู่ในระยะฟักตัว เมื่อผสมกับเชื้อในไทยจะเกิดการกลายพันธุ์ แพร่ระบาดเร็ว และรุนแรงมาก ชี้ต้องตรวจคัดกรองครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมทั้งเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 90% โดยใช้วิธี “ฉีดใต้ผิวหนัง” ซึ่งใช้วัคซีนน้อย ประสิทธิภาพสูง สามารถเพิ่มปริมาณการฉีดได้ 3-10 เท่า หากใช้ mRNA 1 โดส ฉีดได้ถึง 10 คน ด้าน “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” หวั่นนักท่องเที่ยวไม่กล้ามาไทย จี้ผู้ประกอบการโชว์สัญลักษณ์การันตีปลอดโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
เป็นที่แน่นอนแล้วว่าไทยจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่กำลังซบเซาให้ฟื้นตัวและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่หลายฝ่ายยังกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังทรงๆ ทรุดๆ อีกทั้งยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันปัญหาซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตระลอกใหม่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แสดงความวิตกว่า การเปิดประเทศที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 พ.ย.นี้นั้นแม้ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะฉีดวัคซีนและตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ทั้งจากประเทศต้นทางและเมื่อมาถึงประเทศไทย แต่อย่าลืมว่าประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจคัดกรองอาจจะไม่เต็มร้อย ที่สำคัญช่วงที่อยู่ระหว่างการฟักตัว เชื้ออาจไม่แสดงอาการ และตรวจไม่เจอ ทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะหลุดรอดเข้าประเทศได้ง่าย
ดังนั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อเปิดประเทศจะต้องมีเชื้อเข้ามาแน่ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือที่ไหนก็ตามที่มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์เบตาจะเป็นตัวพื้นฐานที่มีรหัสพันธุกรรมที่เก่ง สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากและรวดเร็ว ติดต่อกันได้ง่าย เมื่ออยู่ในร่างกายมนุษย์สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเชื้อมีจำนวนมากอันตรายจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่น่าห่วงคือเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในต่างประเทศและกำลังพัฒนาเมื่อเข้ามาแพร่ระบาดประเทศไทยจะมีอัตราเร่งที่ทำให้ไวรัสมีการผันแปรรหัสพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าการ “กลายพันธุ์” ได้เก่งขึ้น
“ไวรัสที่จะผันแปรรหัสพันธุกรรมได้เก่งนั้นจะสามารถหลบหลีกกระบวนการป้องกันตัวของมนุษย์ รวมถึงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่ได้จากวัคซีนได้ด้วย ซึ่งการกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อใหม่ อาจเป็นสาขาย่อยของสายพันธุ์เดลตา หรือสาขาย่อยของสายพันธุ์เบตา โดยจะรวมตัวกันและสร้างพันธุกรรมที่เก่งมากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล ถ้าตัวเก่งเข้ามาสถานการณ์แพร่ระบาดจะรุนแรง แม้สายพันธุ์เดลตาของอังกฤษจะถือว่าไม่รุนแรง แต่ภาคใต้ของไทยตอนนี้มีสายพันธุ์เบตาเข้ามาซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เก่งมาก ซึ่งหากมีไวรัสสายพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาอีก เชื้อก็อาจพัฒนาให้เก่งขึ้น รุนแรงขึ้น ดังนั้น ต้องแน่ใจจริงๆ ว่าประชากรในพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจะต้องได้รับวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สามารถยับยั้งไวรัสโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาแม้จะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วก็มีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อได้ และหากติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการก็ไม่มีทางรู้ เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดซึ่งเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ในขณะนี้เกิดจากการแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการ ซึ่งวัฏจักรของโควิด-19 นั้นเมื่อเกิดการติดเชื้อโดยไม่มีอาการจนถึงระดับหนึ่งที่เกิดการกลายพันธุ์จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง
ถ้าดูจากเส้นกราฟการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงแรกจะขึ้นเป็นภูเขาแล้วตกลงมาเป็นที่ราบสูงอย่างในปัจจุบัน พอมีการแพร่ไปความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะที่แพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งจะมีการผันแปรของพันธุกรรมไปเรื่อยๆ จนในที่สุดอาการของโรคจะรุนแรงขึ้น ซึ่งปัญหาของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้คือระยะสีเขียวกับระยะสีเหลืองอาจไม่แสดงอาการ แต่ไปแสดงอาการอย่างรุนแรงในระยะสีแดงซึ่งอันตรายมาก ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่จำเป็นต้องแอดมิดในโรงพยาบาลมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า การเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ
1) เชื้อโควิด-19 ใหม่ที่จะเข้ามามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
2) เชื้อโควิด-19 ใหม่ที่เข้ามาเจอกับเชื้อที่อยู่ในประเทศไทยแล้วเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ไปมากน้อยเพียงไร มีความรุนแรงขึ้นหรือไม่
3) ภูมิคุ้มกันของประชาชนในประเทศมีมากน้อยเพียงใด และมีความหลากหลายพอที่จะสู้กับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์หรือไม่
4) ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศจริงๆ แล้วมีมากน้อยเพียงใด
“ตัวเลขผู้ติดเชื่อที่แท้จริงนั้นมีความสำคัญมาก เพราะหากตัวเลขคลาดเคลื่อนจะทำให้การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด เช่น ตัวเลขที่ ศบค.ประกาศในช่วงนี้ว่าผู้ติดเชื้อต่ำกว่าวันละ 10,000 คนนั้น ต้องดูว่าเป็นตัวเลขที่ได้จากการตรวจคัดกรองประชากรจำนวนเท่าไหร่ เช่น ถ้าตรวจ 50,000 คน ติด 10,000 คน ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ อย่างประเทศอังกฤษตรวจคัดกรองถึงวันละ 1,800,000 คน ซึ่งประเทศไทยต้องแสดงตัวเลขให้ชัดเจนว่ามีการตรวจคัดกรองวันละกี่คน เพราะหากมีเชื้อที่ระบาดเงียบๆ อยู่ เมื่อเจอกับไวรัสตัวใหม่ที่เข้ามาจากต่างประเทศอาจเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาขึ้นได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองที่แม่นยำจึงมีความจำเป็น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีความจำเป็นที่ไทยต้องเปิดประเทศเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมรองรับ โดยเฉพาะปัญหาความหลากหลายของเชื้อโควิด-19 ที่จะแพร่เข้ามาและเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ซึ่งอาจทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น ถ้าเปิดประเทศโดยไม่มีมาตรการที่ดีพอจะเกิดปัญหาที่รุนแรงตามมาได้
ดังนั้น ก่อนที่จะเปิดประเทศจึงควรดำเนินการดังนี้
1) ตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด โดยใช้ชุดตรวจที่ประชาชนสามารถหาเชื้อเองได้ และต้องเป็นชุดตรวจที่มีคุณภาพและความแม่นยำสูง อีกทั้งต้องตรวจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อที่จะทำการแยกตัวออกมารักษาได้ทัน ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่ชุดตรวจที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งความแม่นยำต่ำมาก นอกจากนั้นการตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาลต้องเข้าถึงได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากปัจจุบันการจะไปตรวจที่โรงพยาบาลนั้นมีขั้นตอนเยอะมาก
2) จังหวัดที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวควรจะมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 90% ของจำนวนประชากรถึงจะเอาอยู่ เนื่องจากตัวเลขอัตราการฉีดวัคซีน 70% ของจำนวนประชากรนั้นไม่ที่ยอมรับ อย่างไรก็ดี ตัวเลข 90% อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันยังฉีดได้แค่ 500,000 คนต่อวันเท่านั้น ซึ่งเหตุที่ฉีดได้แค่วันละ 500,000 คน เนื่องจากการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศไม่ได้มาพร้อมกันในปริมาณละมากๆ
3) ต้องปรับวิธีการฉีดวัคซีนมาเป็นแบบฉีดใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากแพทย์หลายคณะแล้วว่าการฉีดวิธีนี้ใช้วัคซีนในปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหลายเท่า แต่มีประสิทธิภาพเท่ากัน และผลข้างเคียงน้อยกว่า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ และสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมทั้งประเทศในเวลาอันรวดเร็ว
4) หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ หรือกลายพันธุ์ได้ ซึ่งเชื้อจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
“หากจะเปิดประเทศอย่างปลอดภัยรัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอที่จะสามารถฉีดให้ครบ 2 เข็มได้ถึง 90% ของจำนวนประชากร แต่เมื่อหาวัคซีนได้น้อย ทางออกคือต้องเปลี่ยนวิธีมาเป็นฉีดใต้ผิวหนัง ซึ่งหากมีวัคซีน mRNA เข้ามาสัก 10 ล้านโดส สามารถฉีดให้ได้ถึง 100 ล้านโดส เพราะวิธีนี้ใช้ mRNA แค่ 1 ใน 10 ของการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ถ้าเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ใช้แค่ 1 ใน 3 และถ้าเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ใช้แค่ 1 ใน 5 อีกทั้งจะต้องมีมาตรการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้น ต้องใช้ชุดตรวจที่มีคุณภาพสูง ซึ่งชุด ATK ที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ห่วยมาก ความแม่นยำต่ำกว่า 50% เช่น ตรวจ 5 คน พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 1 คน แต่วันรุ่งขึ้นไปตรวจแบบ Swab (ตรวจแบบแยงจมูก) กลับพบว่าติดทั้ง 5 คน ตรงนี้ต้องแก้ไขด่วน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองว่า นโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลนั้นถือว่ามาถูกทางแล้ว การที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องฉีดวัคซีนครบโดส และมีการตรวจคัดกรอง 2 ครั้ง คือตรวจ ณ ประเทศต้นทาง 1 ครั้ง และตรวจเมื่อมาถึงไทยอีก 1 ครั้ง ถือว่ามีความปลอดภัยและไม่ยุ่งยากเกินไปนัก นักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองในอัตราที่สูงเกินไป เหมือนกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซในช่วงแรกที่มาถึงไทยแล้วต้องทำ Swab Test ถึง 3 ครั้ง และเสียค่าใช้จ่ายกว่า 8,000 บาท
“ต้องถามว่านักท่องเที่ยวกล้าเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยหรือยัง เรายกย่องกันเองว่าเดี๋ยวเขาจะมาบ้านเรา ไม่ใช่นะ จริงๆ เขาอาจจะกลัวเราก็ได้ ประเด็นที่สำคัญมากในขณะนี้คือความร่วมมือของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวในการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร หรือบริการต่างๆ เราอยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบการโชว์สัญลักษณ์ว่าบุคลากรของท่านได้ผ่านการฉีดวัคซีนและการตรวจคัดกรองโควิด-19 แล้วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว เพราะหากไม่แสดงสัญลักษณ์นักท่องเที่ยวก็ไม่รู้” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าว