xs
xsm
sm
md
lg

พรรคก้าวไกล หอกข้างแคร่เพื่อไทย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
เมืองไทย 360 องศา


ในตอนแรกๆ อาจจะมองข้ามพรรคก้าวไกลว่าคงก้าวไปได้ไม่ไกลนัก หรือหากพิจารณาจากกระแสในเวลานี้ ก็ต้องบอกว่า “ไม่แรง” เมื่อเปรียบเทียบกับยุคเป็นพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านไประยะหนึ่งหากพิจารณากันแบบความเป็นจริง ก็ต้องถือว่าอยู่ในสภาพที่เริ่ม “นิ่ง” มีลักษณะฐานเสียงแน่นอนในระดับหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะเติบใหญ่ขึ้นไปได้

สิ่งแรกที่ได้เห็นจากผลสำรวจจากสำนักต่างๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกล เริ่มมีชื่อติดหูติดตามากขึ้น โดยเฉพาะ “ช่องว่าง” ความนิยมที่เริ่มแคบลงเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น

ผลสำรวจที่ออกมาจะเห็นว่า พรรคก้าวไกล จะได้รับความนิยมที่เพิ่มขึ้น ทั้งพรรคและตัวหัวหน้าพรรค คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยผลสำรวจจาก “นิด้าโพล” ก่อนหน้านี้ ก็เห็นว่า มีชื่อของ นายพิธา ที่จะได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนร้อยละ 11.05 ตามหลัง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยสร้างไทย ในแบบสูสีร้อยละ 11.15 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมาเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 17.54

ที่น่าสนใจก็คือ เป็นคะแนนความนิยมของนายพิธา ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจคราวก่อนเกินเท่าตัว คือ จากร้อยละ 5.45 ขณะที่คนอื่นทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ คุณหญิงสุดารัตน์ กลับมีคะแนนลดลงมาก

ส่วนในเรื่องความนิยมของพรรคการเมืองกลับพบว่า พรรคก้าวไกล ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการสำรวจคราวที่แล้ว ที่เคยได้ร้อยละ 14.51 ครั้งล่าสุดเพิ่มเป็นร้อยละ 15.11 ตามหลังพรรคเพื่อไทย ที่ยังมาเป็นอันดับหนึ่ง ที่ร้อยละ 22.50 ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ร้อยละ 9.51 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.78 ซึ่งในประเด็นนี้หากโฟกัสเฉพาะพรรคก้าวไกล ก็ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่า หลายคนอาจจะโต้แย้งกับผลสำรวจจากบางสำนัก เช่น กรณีของ “นิด้าโพล” ซึ่งที่ผ่านมา อาจถูกตั้งคำถามไม่น้อย แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของความนิยมและฐานเสียงของแต่ละพรรคการเมือง

สอดคล้องกับข้อมูลยอดเงินบริจาคภาษีเงินได้ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ประจำปี 2563 พบว่า มีพรรคการเมืองที่ได้รับการบริจาคภาษียอดเกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 5 พรรค คือ 1. พรรคก้าวไกลจำนวน 12,695,739.77 บาท 2. พรรคประชาธิปัตย์ 3,241,639.30 บาท 3. พรรคกล้า 2,532,740.71 บาท 4. พรรคพลังประชารัฐ 2,032,004.08 บาท และ 5. พรรคเพื่อไทย 1,422,517.81 บาท

ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่ที่บริจาคเงินภาษีดังกล่าวให้กับพรรคการเมืองล้วนเป็นผู้มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ซึ่งน่าจะเป็นคนชั้นกลาง และคนในเมือง ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ายังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่จะต้องนำมาใช้สำหรับวัดความนิยมของแต่ละพรรคการเมือง แต่อย่างน้อยส่วนหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองเหล่านี้อยู่ในหัวของคนที่ตัดสินใจบริจาคเงินดังกล่าวไปให้

อย่างไรก็ดี นาทีนี้อยากโฟกัสเปรียบเทียบระหว่างสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล เป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาและคาดว่า ต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งสองพรรคจะกลายเป็นคู่แข่งในลักษณะที่ “ตัดคะแนนเสียง” กันเอง เนื่องจากรับรู้กันว่ามีฐานเสียง “ทับซ้อนกัน” ซึ่งที่ผ่านมา มีการแข่งขัน มีการโจมตีดิสเครดิสระหว่างกันชัดเจน และรุนแรงมากขึ้นดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

แน่นอนว่า ฐานเสียงหลักสำหรับพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นฐานเสียงที่มีความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นมวลชนคนเสื้อแดงในอดีต อย่างไรก็ดี จากบทบาทในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ถือว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่น โดยเฉพาะผลงานในสภา แม้ว่าจะเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด แต่บทบาททั้งในและนอกสภา กลับแทบเป็นรองพรรคก้าวไกล และในความเป็นจริงเวลานี้ แทบจะไม่มีใครได้รู้จัก หรือรับรู้ถึงบทบาทของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

ลักษณะความนิยมจึงขึ้นอยู่กับความนิยมดั้งเดิมของมวลชนที่ศรัทธาต่อนายทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัวชินวัตรเท่านั้น จึงไม่ต่างจากการ “กินบุญเก่า” ที่นับวันมีแต่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ และยังเป็นไปได้อีกว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังต้องมาแชร์คะแนนเสียงกับพรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในพื้นที่หลักอย่างภาคอีสาน เป็นต้น

ขณะที่ พรรคก้าวไกล นาทีนี้รับรู้เช่นกันว่า ฐานเสียงหลักน่าจะมาจาก “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะฐานเสียงในกลุ่มที่สนับสนุน “ม็อบสามนิ้ว” และแม้ว่าที่ผ่านมา ผลจากการเคลื่อนไหวที่พุ่งเป้าโจมตี “สถาบันเบื้องสูง” ทำให้การสนับสนุนไม่ได้อยู่ในวงกว้างนัก พิสูจน์ได้จากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลทั่วประเทศ ผู้สมัครที่พวกเขาสนับสนุนต่างพ่ายแพ้อย่างหมดรูป แต่ถึงอย่างไรก็ยังสร้างปรากฏการณ์บางอย่างในเรื่องความตื่นตัวในท้องถิ่นได้พอสมควร

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย หากยังคิด “กินบุญเก่า” ที่หวังพึ่งแต่อานิสงส์ของ นายทักษิณ อยู่เรื่อยไปในแบบไม่ยอมไปเกิดใหม่สักที นาทีนี้สำหรับพรรคก้าวไกลที่กำลังหายใจรดต้นคอเข้ามาเรื่อยๆ แม้ว่าจะคาดหวังจาก “บัตรเลือกตั้งสองใบ” ว่าจะได้เปรียบ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่แน่ เพราะหลายพรรคย่อมต้องเตรียมแก้เกมมาเหมือนกัน

ดังนั้น นาทีนี้หากโฟกัสเน้นเฉพาะพรรคฝ่ายค้านสองพรรคหลัก ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ถือว่าในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องแข่งขันกันเข้มข้นแย่งชิงฐานเสียงที่ทับซ้อนให้มาเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด และแม้ว่าในอนาคตยังมีตัวแปรเกิดขึ้นมากมาย แต่รับรองว่าพรรคก้าวไกล จะต้องเป็น “หอกข้างแคร่” พรรคเพื่อไทย แน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น