พอช.-พมจ.ขอนแก่น สานพลังเครือข่าย ตั้ง‘โครงการคูปองปันกัน’ ช่วยกลุ่มเปราะบาง ชู ‘ขอนแก่นโมเดล’ สานพลังสังคมช่วยเหลือคนจน คนตกงาน และคนไร้บ้าน สู้ภัยโควิด
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.และ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ตั้ง‘โครงการคูปองปันกัน’ เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตจากการตกงาน ขาดรายได้ กลุ่มเป้าหมายในเมืองขอนแก่นประมาณ 300-500 คน ให้มีเงินจับจ่ายซื้ออาหาร โดยจะจัดสรรคูปองอาทิตย์ละ 100 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ เพื่อให้นำไปซื้ออาหารและสินค้าจำเป็น และยังช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียนด้วย โดยมีชุมชนเข้าร่วม 11 ชุมชน ร้านอาหาร ร้านค้าเข้าร่วมรับคูปอง รวม 26 ร้าน
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการ ‘สร้างพื้นที่สะสมอาหาร’ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ในชุมชนต่างๆ เพื่อนำมาทำอาหาร มีการจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้าน-คนตกงาน ให้ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ เช่น เช็ดถูราวสะพานคนเดินข้าม ถางหญ้า ให้ค่าตอบแทนวันละ 300 บาท จ้างงานไปแล้วประมาณ 100 คน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณโครงการดังกล่าว 300,000 บาท และ พมจ.ขอนแก่น 360,000 บาท
ป้านงเยาว์ กงภูเวศน์ ประธานชุมชนเหล่านาดี 12 ตั้งอยู่ริมทางรถไฟในเขตเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า ชุมชนเหล่านาดี 12 มีทั้งหมด 135 ครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน เป็นลูกจ้างในตลาด ค้าขายเล็กๆ น้อย ๆ เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด จึงคิดเรื่องทำอาหารขายให้คนในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน ขายในราคาถูก จานละ 15 บาท เช่น ก๋วยเตี๋ยวไก่ ข้าวมันไก่ ข้าวไข่เจียว และอาหารตามสั่ง เริ่มทำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“เราขาย 15 บาท แต่กินอิ่มเท่ากับคนอื่นขาย 30 บาท คนนอกชุมชนก็มากินได้ ส่วนคนแก่ คนป่วย เราก็ให้กินฟรี คนที่รู้ข่าวก็มาสนับสนุน เอาเงินมาช่วยให้ทำอาหารแจก ส่วนคนที่ตกงานในชุมชน แม่บ้านที่ว่างงาน เราก็ให้มาช่วยกันทำครัว หั่นผัก ช่วยล้างจาน ทำให้มีรายได้วันละ 100-200 บาท แล้วแต่ใครทำน้อย ทำมาก แต่ก็ช่วยให้มีรายได้ไปเลี้ยงดูครอบครัว คนกินก็จะได้กินของถูก ถือว่าช่วยเหลือกันไป” ป้านงเยาว์บอก
จากการจุดประกายของป้านงเยาว์ ทำให้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและต่อยอดไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเปราะบางในชุมชนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน เช่น พอช. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ. ขอนแก่น ขึ้นมาสสส. เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน กลุ่ม Hugtown เครือข่ายชุมชนเมืองขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น ฯลฯ ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองเปราะบางเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19’
ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือมีหลากหลาย เช่น การทำครัวชุมชน ขายอาหารราคาถูก นำพืชผักที่ปลูกมาแจกจ่ายเพื่อทำอาหาร ลดรายจ่าย เทศบาลนครขอนแก่นจัดตรวจคัดกรองเชื้อโควิดและฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนไร้บ้าน แจกอาหารแห้ง สิ่งของจำเป็น อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ โครงการคูปองปันกัน ฯลฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
จังหวัดขอนแก่น เป็นหัวเมืองใหญ่ในภาคอีสาน มีสถาบันการศึกษา โรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีย่านธุรกิจการค้าที่คึกคักเฟื่องฟูมาช้านาน ขณะเดียวกันก็มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่รอบเมือง มีคนทุกข์ยาก หรือ ‘คนไร้บ้าน’ที่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเช่าบ้าน ต้องยึดเอาพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักพิง รวมทั้งคนตกงานที่กลายมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ (ปัจจุบันมีประมาณ 120คน) ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ พวกเขาต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
นอกจากการช่วยเหลือเรื่องปากท้องและอาชีพแล้ว ชุมชนเหล่านาดี 12 ยังร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ขอใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟชั่วคราวที่อยู่ใกล้ชุมชนจัดทำศูนย์พักคอยชุมชน (Community Isolation) หรือ CI เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในชุมชนที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ที่กักตัวดูอาการ ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในชุมชน โดย CI แห่งนี้ใช้ห้องต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของสถานีรถไฟ ปรับปรุงเป็นห้องพักสำหรับผู้ติดเชื้อหรือกักตัวดูอาการ รวมทั้งหมด 7 ห้อง รองรับได้ 14 คน
ทั้งนี้ศูนย์พักคอยในชุมชน หรือ CI มีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในสถานะสีเขียว และยังช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนกับ สปสช. เพื่อรับยาและเวชภัณฑ์ แพทย์และพยาบาลจะดูแลให้คำแนะนำการรักษาตัวผ่านการสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือเป็น ‘ขอนแก่นโมเดล’ ด้วยการสานพลังสังคมเพื่อช่วยเหลือคนจน คนตกงาน และคนไร้บ้าน สู้ภัยโควิด