xs
xsm
sm
md
lg

พอช.สานพลังสังคมสู้ภัยโควิด สนับสนุนครัวชุมชน-สร้างแหล่งอาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พอช. หนุนงบ “โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด” ประเดิม “ครัวปันอิ่ม” สานพลังสังคม ช่วยชุมชนผู้มีรายได้น้อยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน !!

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ “พอช.” กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากผู้คนทั่วไปจะระมัดระวังการใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโควิดแล้ว ในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่หาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีทั้งคนตกงาน คนแก่ คนป่วย และเด็กๆ ที่หยุดเรียน พวกเขาต้องมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายครอบครัวขาดรายได้หรือมีรายได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะหากหัวหน้าครอบครัวคนใดติดเชื้อ ต้องหยุดงาน นั่นหมายความว่ารายได้ที่จะนำมาเลี้ยงดูครอบครัวในแต่ละวันจะต้องหายไปด้วย

นอกจาก พอช. จะมีภารกิจในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศในด้านต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันแล้ว ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณไปยังชุมชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อจัดทำโครงการต่างๆ แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้ดีขึ้น เช่น การจัดทำครัวชุมชนเพื่อทำอาหารขายในราคาถูก และแจกจ่ายให้แก่คนตกงาน คนป่วย และเด็กๆ ที่กินไม่อิ่มท้อง

ด้าน นางผุสดี ปั้นเลิศ ผู้นำชุมชนเฟื่องฟ้าพัฒนา เขตประเวศ กรุงเทพฯ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดตั้งแต่ปี 2563 ในชุมชนมีคนตกงานจำนวนมาก จึงคิดเรื่องทำอาหารแจกจ่ายกันกิน โดยทำเป็นกับข้าวแจกจ่ายกันกิน และทำเผื่อไปอีก 10 ชุมชนที่อยู่ใกล้กัน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. 100,000 บาท แต่ทำได้ 8 ครั้งงบประมาณก็หมด ปีนี้จึงคิดว่าจะทำให้อย่างไรให้ยั่งยืน ช่วยเหลือกันได้นานๆ

“ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เราจึงทำ “ครัวปันอิ่ม” ขายกับข้าวราคาถูก ถุงละ 20 บาท ถุงนึงจะใหญ่กว่าร้านข้าวแกงทั่วไป ข้าวให้ฟรีไม่อั้น และแจกฟรีสำหรับคนแก่ คนป่วย เด็กๆ หรือครอบครัวไหนตกงาน ไม่มีเงินเราก็ให้ฟรีๆ ทั้งข้าวและกับ ช่วยกันทำขายอาทิตย์ละ 1 ครั้ง มีกับข้าว 5-6 อย่าง บางครอบครัวจะซื้อเอาไปใส่ตู้เย็นกินได้ทั้งอาทิตย์ คนนอกชุมชนรู้ข่าวก็มาซื้อ ครั้งนึงจะขายได้ประมาณ 2-3 พันบาท ได้เงินไม่มาก เพราะเราไม่ได้กะจะเอากำไร ถือว่าช่วยเหลือกัน แบ่งปันกันกิน ข้าวเปล่าเราก็ให้ฟรี พอให้มีเงินมาหมุนเวียน ถ้าทำแจกฟรีคงจะได้ไม่กี่ครั้ง แต่ถ้าทำขายแบบนี้ เราจะช่วยกันได้ตลอดไป” เธอบอกถึงแผนงาน

“ครัวปันอิ่ม” ได้รับงบประมาณสนับสนุนเบื้องต้นจาก พอช. จาก ‘โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’ จำนวน 10,000 บาท และมูลนิธิพุทธิกา 5,000 บาท เพื่อนำมาหมุนเวียนทำอาหารราคาถูกขาย ขณะที่ชุมชนได้นำผักสวนครัวที่ชุมชนปลูกเอาไว้มาทำอาหาร ทำให้ลดต้นทุนได้มาก เช่น ฟักต้มไก่ คะน้า-บวบ-เอามาผัด ฟักทองเอามาแกงไก่-ผัดไข่ ชะอมชุบไข่ทอด แกงส้ม น้ำพริก ผักลวก ฯลฯ หมุนเวียนกันไป ทำให้คนในชุมชนมีอาหารกิน เด็กๆ กินอิ่มก็ไม่งอแง ยิ้มหัวได้ทั้งวัน

ปัจจุบันมีชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ จัดทำครัวชุมชนแล้วใน 22 เขต รวม 58 ครัว นอกจากนี้ ยังมีครัวชุมชนขายอาหารและสินค้าจำเป็นราคาถูกในหลายในจังหวัด บางชุมชนใช้พื้นที่ว่างปลูกผัก เลี้ยงปลา ไก่ไข่ เพาะเห็ด เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง รวมทั้งจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณจำนวน 62 ล้านบาท กระจายไปทั่วประเทศ รวม 91 เมือง 840 ชุมชน

ขณะเดียวกัน ยังมีธารน้ำใจจากพี่น้องชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ จัดส่งข้าวสาร อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ สมุนไพรต่างๆ มายัง พอช.เพื่อให้นำไปแจกจ่ายพี่น้องชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมลฑลที่ได้รับพิษเศรษฐกิจ รวมแล้วประมาณ 10 คันรถบรรทุก รวมทั้งภาคเอกชน องค์กรต่างๆ นำอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของจำเป็นต่างๆ มาสมทบช่วยเหลือชาวชุมชน อาทิบ.ไทยเบเวอเรจ จำกัด บ.มิตรผล จำกัด บจก. มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ข้าวมาบุญครอง บ.เอเซี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บ.สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บ.ทัฟคีเอชั่น สมาคมศิษย์เก่าพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) บ.เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) บ.เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด โครงการอิ่มบุญ กลุ่มเพื่อนตี๋ (NIDA) ชมรมฟอร์ดสมุทรปราการ ชมรมฮักหล่มสัก กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน ฯลฯ เป็นการสานพลังสังคมเพื่อให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน !!
​​​​​


กำลังโหลดความคิดเห็น