xs
xsm
sm
md
lg

พอช.หนุนงบ 62 ล.ช่วยชุมชนผู้มีรายได้น้อยสู้ภัยโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘พอช.’ หนุนงบช่วยชุมชนผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม32 ล้าน เพื่อจัดทำโครงการต่างๆลดผลกระทบจากโควิด-19 เผยอนุมัติโครงการไปแล้ว 67 เมือง 761 ชุมชน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 179,127 ครัวเรือน

​วันนี้ (3 ก.ย.) น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Zoom Meetings โดยมีผู้บริหาร พอช. และคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงฯ ประมาณ 40 คนร่วมประชุม มีวาระสำคัญคือการพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณ ‘โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’

​​ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการ ‘การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน’ หรือ Community Isolation (CI) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน (วัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง-ซ่อมแซม เครื่องมือป้องกันการติดเชื้อ ฯลฯ) โดยมี 8 ชุมชนที่เสนอโครงการ ประกอบด้วย 1.ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ปรับปรุง CI เดิมให้ได้มาตรฐาน รองรับผู้ติดเชื้อได้ 10 เตียง งบประมาณ 147,394 บาท 2.ชุมชนสุภัทรภิบาล เขตภาษีเจริญ ปรับปรุง CI (ศูนย์พักรอ) เดิมให้ได้มาตรฐานรองรับผู้ติดเชื้อได้ 7 เตียง งบประมาณ 45,254 บาท

3.ชุมชนเขตจตุจักร ก่อสร้างศูนย์พักคอย/ศูนย์พักรอ (ใช้เต๊นท์หรือตู้คอนเทรนเนอร์ บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วน) รองรับชาวชุมชนในเขตจตุจักรได้ 32 เตียง งบประมาณ 510,700 บาท

4.ชุมชนพัฒนาหัวรถจักรตึกแดง เขตบางซื่อ ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเป็น CI รองรับ 3 ชุมชน รวม 44 เตียง งบประมาณ 150,000 บาท 5.ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว ปรับปรุงศูนย์ชุมชนเป็นศูนย์ประสานงาน รองรับได้ 6 เตียง งบประมาณ 158,010 บาท

6.ชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี ปรับปรุงศูนย์ประสานงานและพักฟื้น รองรับได้ 10 เตียง งบประมาณ 162,000 บาท 7.ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ปรับปรุงลานซ้อมมวยเป็นศูนย์พักรอ รองรับได้ 4 เตียง งบประมาณ 150,000 บาท และ8.ชุมชนเหล่านาดี 12 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ใช้ตู้คอนเทรนเนอร์ 4 ตู้ ปรับปรุงเป็นศูนย์แยกกักและพักฟื้น รองรับผู้กลับคืนถิ่นได้ 15 เตียง ใช้งบประมาณ 80,000 บาท รวมงบประมาณที่อนุมัติ 1,403,358 บาท ทั้งนี้งบประมาณที่จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนโดย พอช. มีทั้งหมด 5 ล้านบาท

ขณะนี้ยังมีอีกหลายชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกำลังจัดเตรียมโครงการจัดตั้งศูนย์พักคอยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ลดลง ส่วนใหญ่เป็นศูนย์พักคอยขนาดเล็ก ใช้สถานที่ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ห้องประชุม ศูนย์ชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก ใช้วัสดุที่มีอยู่นำมาปรับปรุง หรือวัสดุมือสอง ทำให้ประหยัดงบประมาณ รองรับผู้ติดเชื้อได้ 5 เตียงขึ้นไป (ตามขนาดของสถานที่รองรับในชุมชน) เพื่อนำผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มากหรืออยู่ในสถานะสีเขียวมารักษา ไม่ให้แพร่เชื้อในครอบครัวหรือชุมชน

โดยชุมชนจะมีคณะกรรมการคอยดูแลและประสานงานกับ สปสช.หรือศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาและการติดตามอาการจากแพทย์ หากอาการรุนแรงขึ้นผู้ติดเชื้อจะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลที่มีเตียงว่าง ขณะเดียวกันศูนย์พักคอยในชุมชนก็จะเป็นที่พักฟื้นหรือรองรับผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วก่อนกลับสู่ครอบครัว ทำให้ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และภาวะเตียงล้น

นอกจากการอนุมัติโครงการศูนย์พักคอยทั้ง 8 แห่ง (วงเงิน 5 ล้านบาท) แล้ว คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงฯ พอช. ยังอนุมัติงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อข้าวสาร อาหาร ผัก ผลไม้ สมุนไพรจากชนบท เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวชุมชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

สนับสนุนการจัดทำครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหาร งบประมาณ 4 ล้านบาท สนับสนุนสวัสดิการช่วยเหลือผู้นำชุมชน อาสาสมัครที่ติดเชื้อโควิด งบประมาณ 1 ล้านบาท รวมทั้งยังเตรียมสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ จัดทำโครงการแก้ไขผลกระทบจากโควิดอีก 20 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมด 32 ล้านบาท ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564

โดยก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฏาคมเป็นต้นมา พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 เช่น สำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน รณรงค์ป้องกัน แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน ทำอาหาร-สินค้าขายราคาถูก สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ รวมพื้นที่อนุมัติจนถึงปัจจุบัน 67 เมือง 761 ชุมชน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 179,127 ครัวเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น