พอช.หนุนงบแก่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยจัดทำโครงการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้ดีขึ้น เผยจัดตั้ง ‘ศูนย์พักคอยชุมชน’ ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดแล้ว 8 แห่งช่วยลดภาระแพทย์-ปัญหาเตียงไม่พอ
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช. นอกจากจะมีภารกิจในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศในด้านต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันแล้ว ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณไปยังชุมชนผู้มีรายได้น้อยเพื่อจัดทำโครงการต่างๆ แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้ดีขึ้น
ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา พอช.ได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’ ใช้งบประมาณจำนวน 62 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนนำไปจัดทำโครงการต่างๆ เช่น รณรงค์ให้ความรู้ ป้องกันการติดเชื้อโควิด แจกอุปกรณ์ป้องกัน (หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ชุด PPE ฯลฯ) จัดทำครัวชุมชนทำอาหารแจกผู้ได้รับผลกระทบ ผู้กักตัว สร้างแหล่งอาหารในชุมชน เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ปลูกสมุนไพรรักษาโควิด แจกสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ป่วย กลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมอาชีพ ฯลฯ
ส่วนงบประมาณสนับสนุน พอช.จะพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้กักตัวในชุมชน ความหนาแน่นของชุมชน สนับสนุนชุมชนละ 20,000-40,000 บาท และสนับสนุนในระดับเครือข่ายเมือง/ตำบล พิจารณาจากจำนวนชุมชนที่รวมตัวเป็นเครือข่ายๆ ละ 50,000-150,000 บาท โดยขณะนี้ พอช.ได้สนับสนุนไปแล้ว รวม 91 เมือง 840 ชุมชน มีประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ รวม 206,767 ครัวเรือน
นายสมชาติกล่าวด้วยว่า นอกจากการช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว พอช.ยังสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) หรือ CI เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก หรืออยู่ในสถานะสีเขียว หรือผู้ที่กักตัวเพื่อดูอาการ เป็นการแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในชุมชน
“นอกจากนี้การจัดตั้ง CI ในชุมชนยังช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยแก้ปัญหาภาวะเตียงล้นในโรงพยาบาล เพราะ CI จะรองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ใช้สถานที่ในชุมชนเป็น CI เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่ปิดเรียน ห้องประชุมในชุมชน นำมาปรับปรุงเป็นที่พัก มีเตียงนอน ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา มีอาสาสมัครในชุมชนช่วยกันดูแล ขณะที่ผู้ติดเชื้อจะได้รับการลงทะเบียนเพื่อรับยาและเวชภัณฑ์จาก สปสช. และมีแพทย์หรือพยาบาลให้คำแนะนำ ดูแลผู้ป่วยผ่านการสื่อสารออนไลน์ หรือ Telemedicine” ผอ.พอช.กล่าว
ขณะนี้ พอช.สนับสนุนการจัดตั้ง CI แล้วใน 8 ชุมชน และกำลังทยอยจัดตั้งอีกหลายแห่ง เช่น ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ชุมชนตึกแดง เขตบางซื่อ ฯลฯ รองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 128 เตียง (ใช้งบรวม 1.4 ล้านบาทเศษ) ส่วนใหญ่เป็น CI ขนาดเล็กตามสภาพของชุมชน โดยจะใช้ที่ทำการชุมชนหรือศูนย์เด็กเล็กมาปรับปรุง รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 5-20 คน แต่บางแห่งอาจรองรับได้มากกว่านี้ตามสภาพพื้นที่ โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณแห่งละ 50,000-150,000 บาท