xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” แนะใช้ 5 แสนล้าน พยุงเศรษฐกิจ พร้อมขันนอตระบบราชการ ให้ทันรับมือวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กรณ์” แนะใช้ 5 แสนล้าน พยุงเศรษฐกิจ พร้อมขันนอตระบบราชการ ให้ทันรับมือวิกฤต ชี้ ยังไม่ต้องกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน

วันนี้ (27 ส.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวในรายการถามอีกกับอิก ถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ว่า ที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติออกมาพูดถึงการกู้เพิ่มครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่คาดไม่ถึง ซึ่งอีกทางหนึ่งก็สบายใจได้ว่า สถานะทางการคลังของประเทศ สามารถแบกรับหนี้สาธารณะได้อีกหนึ่งล้านล้านบาท โดยไม่ต้องมีความกังวลในแง่ของเสถียรภาพ แต่ก็ต้องตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

“การที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่า 1 ล้านล้าน กู้ได้ เป็นสัญญาณให้รัฐบาลว่า ถ้าจำเป็นต้องกู้ก็เป็นความเสี่ยงที่รับได้ เหลืออยู่ที่ว่าจะกู้ตอนไหน กู้แล้วไปทำอะไร เพราะเท่าที่ดูสถานการณ์ปัจจุบัน ความจำเป็นยังไม่มี เพราะ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน มีการเบิกจ่ายใช้ไปประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 แสนล้าน เหลืออีก 4 แสนล้าน ก็ควรมีแผนงานการและประเมินผลการใช้เงินส่วนนี้ต่อดัชนีเศรษฐกิจ แล้วพิจารณาว่าต้องกู้หรือไม่ เพราะในตัวงบประมาณปี 65 เอง ก็ต้องกู้ 4 แสนล้านอยู่แล้ว ในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยที่เราก็หวังว่าการฉีดวัคซีน การบริหารจัดการโควิด จะส่งผลทำให้เราเปิดเศรษฐกิจเปิดประเทศได้ เริ่มจะมีรายได้เข้ามาใส่กระเป๋าประชาชน ถ้าเราทำได้เร็ว ทำได้ดี อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มเติม และการพิจารณาว่าจะกู้หรือไม่ในสถานการณ์วิกฤตขนาดนี้ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่” อดีต รมว.คลัง กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ช่วงที่รัฐบาลกู้ 1 ล้านล้านบาท ครั้งแรก มีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านรวมทั้งตนเอง กังวลว่า อาจจะไม่พอ และยังกังวลว่าถ้าเบิกจ่าย พ.ร.ก.ที่สอง คือ 5 แสนล้านบาทครบถ้วนแล้ว จะดันหนี้สาธารณะเทียบกับจีดีพีขึ้นไปเกือบๆ จะชนเพดาน อยู่ที่ระดับร้อยละ 58 ถ้าเทียบกับการกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 65 ที่สภาฯ เพิ่งอนุมัติไป ทำให้หนี้สาธารณะทะลุเพดานร้อยละ 60 แน่นอน ซึ่งมีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีอาจต้องปรับ เงื่อนไขตามกฎหมายวินัยทางการคลัง ให้เพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปอีกที่ร้อยละ 70 เพราะมีแนวโน้มว่ายังขาดดุลประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ไปอีกระยะหนึ่ง ยังไม่เห็นสัญญาณที่จะจัดงบสมดุลได้อีกหลายปี

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงการคาดการณ์รายรับปี 2565 ว่า การตั้งสมมติฐานรายได้ของรัฐบาลอาจจะสูงเกินไป อย่างปี 2564 จะเห็นว่ารายรับของรัฐบาลต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหวังว่า ปี 65 จะไม่ต่ำกว่านี้ จนเป็นเหตุที่ต้องให้กู้เพิ่มอีก ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียดว่า การออก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท เป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจากความเห็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่บอกว่าถ้าจะกู้ก็กู้ได้ เงินมี และข้อดีอีกอย่างของประเทศไทย มีหนี้สาธารณะจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ ประเทศอื่น ๆ หลายประเทศหนี้สาธารณะเท่ากับร้อยละ 100 ของจีดีพีเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ของเราอยู่ที่ร้อยละ 50 กว่า ข้อดีอีกอย่างคือหนี้สาธารณะกว่าร้อยละ 98 เป็นการกู้เงินบาทภายในประเทศ ลดความเสี่ยงลงไปมาก ผิดกับอินโดนีเซียที่กู้เงินเป็นเงินดอลลาร์ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน ทำให้ความเชื่อมั่นในเงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซียลดลง

ส่วนกรณีที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะทำให้เกิดหลุมดำขนาดของรายได้จะหายไปราว 2.6 ล้านล้านบาท อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า หลุมดำมันมีอยู่แล้วจากการล็อกดาวน์ และการห้ามรับนักท่องเที่ยว และอื่นๆ เราไม่มีรายได้มาเป็นปีแล้ว ผู้หาเช้ากินค่ำไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ เจ้าของร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรม ท่านจึงมองว่าต้องอัดฉีดงบประมาณเข้ามา หนึ่งในประเด็นปัญหาที่ผ่านมา คือ การขับเคลื่อนนโยบายของแบงก์ชาติเองด้วย ผู้ว่าฯ บอกจะกู้ 1 ล้านล้าน อัดฉีดเข้าไป แต่หากเราย้อนไปดู การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จริงๆ มันมีการออกกฎหมายอีกสองฉบับ เป็น พ.ร.ก. เช่นเดียวกัน คือ พ.ร.ก. เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเวลาผ่านไปนานหลายเดือน มีเสียงสะท้อนชัดเจนว่าเขาเข้าไม่ถึงเงินส่วนนี้ เพราะโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อจากแบงก์ชาติผ่านธนาคารพาณิชย์ มันจึงเป็นปัญหาคอขวด ทั้งความเสี่ยง และความพร้อมในการรับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ไม่พิจารณาอนุมัติให้กับผู้เดือดร้อนจริง จึงไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย แม้ต่อมามีการปรับเงื่อนไขให้มันง่ายขึ้นแต่ก็ยังยากอยู่ดี ถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวันนี้ว่า อะไรคือปัญหาหลักของเขา คำตอบคือขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลและของแบงก์ชาติได้

ส่วนถ้ากู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทแล้ว จะจบหรือไม่ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า มันก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการใช้เงิน ยกตัวอย่าง เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแรก กว่าจะเบิกจ่ายใช้เงินก็ใช้เวลานานพอสมควร แต่ในส่วนของ 5 แสนล้านที่กู้เพิ่ม ตอนนี้ใช้ไปแค่ 1 แสนล้าน เหลืออีก 4 แสนล้าน ก็มีคำถามว่าเงินจำนวนนี้จะเบิกจ่ายให้เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจเมื่อไหร่ และหลังจากใช้เงินนั้นไปแล้ว เป็นจังหวะที่เศรษฐกิจของเราจะกลับเข้ามาเป็นปกติแล้วหรือยัง ตรงนี้จะเป็นคำตอบว่าเราจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อดูประสิทธิภาพในการใช้เงินกู้ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า เมื่อเป็นลักษณะการผันเงินตรงให้กับประชาชนส่วนนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่พอโครงการที่ต้องพึ่งระบบราชการ เราจะเห็นว่าประสิทธิภาพลดลงไปมาก รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขันน็อตเพื่อปรับระบบการทำงานในภาวะวิกฤต

ส่วนกรณีว่ามีความจำเป็นต้องเยียวยารายได้ประชาชน อีกนานแค่ไหน อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ให้รัฐบาลคิดเผื่อไว้เลยอย่างน้อย 3 เดือนหรือจนถึงสิ้นปี เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนว่ารัฐบาลดูแล โดยอาจจะเป็นยอดเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ในกลุ่มอยู่ในเขตล็อกดาวน์ เชื่อว่า เงินประมาณสามแสนล้าน ทำให้ดูแลประชาชนมีอยู่มีกินไปต่อไปได้ แต่ถ้าจะกู้มาเพื่อมาจัดสรรให้กับโครงการต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง ไม่เห็นด้วย จัดสรรไป ก็ใช้ไม่ทันอยู่ดี และเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจก็ไม่ทันเช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น