ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุพิษโควิด-19 หนักกว่าต้มยำกุ้ง หวั่นลากยาว ปี 63-65 สถานการณ์เลวร้ายสุดกระทบครัวเรือนรายได้หายกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ปัญหา โดยเฉพาะภาครัฐ กระทรวงคลังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท อัดเข้าระบบเร็ว ตรงจุด ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ธปท.เตรียมออกมาตรการการใหม่ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับวัคซีนที่จะแก้ปัญหาระยะยาว
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ ทำให้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยลึกขึ้น และกว้างขึ้นมาก มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้องเร่งรัดมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา โดยเบื้องต้น ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นอย่างไร เรื่องที่ 1 คือ รายได้ของคนไทยกระทบรุนแรงมากจากโควิด-19 โดย “หลุมของรายได้” ของคนไทยที่หายไปลึกขึ้นมาก โดยจากการประมาณการของ ธปท.ใน 3 ปีช่วงของโควิด-19 คือ ปีที่แล้ว ปีนี้ และปีหน้าที่จะถูกกระทบอีกปี รายได้ครัวเรือนไทยหายไป 2.6 ล้านล้านบาท โดยปี 63 หายไป 8 แสนล้านบาท ปีนี้ถึงสิ้นปี 1 ล้านล้านบาท และปีหน้าอีก 8 แสนล้านบาท
เรื่องที่ 2 ที่เห็นคือ จำนวนคนว่างงาน และเสมือนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยอยู่ที่ 3 ล้านคน และที่น่าสังเกตคือ มีจำนวนคนตกงานนานกว่า 1 ปีสูงถึง 170,000 คน เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากช่วงก่อนโควิด-19 มีเด็กจบใหม่ที่ไม่มีงานทำ 290,000 คน และมีแรงงานที่ย้ายกลับถิ่นฐาน ซึ่งอาจมีงานทำแต่มีรายได้ลดลงมาก 1.6 ล้านคน ขณะที่เรื่องที่ 3 คือ การฟื้นตัวในประเทศที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นรูปตัว K โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 11-12% ซึ่งทั้ง 3 ข้อทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวรุนแรง และใช้เวลานานขึ้นในการฟื้นตัว
เศรษฐกิจไทยกระทบแรงขึ้น จำเป็นที่จะต้องใช้ยาแรงมากขึ้นเช่นกัน และยาตัวที่สำคัญที่สุดคือ การควบคุมโรคระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด ขณะที่วัคซีนยังต้องเป็นพระเอก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วครบ 2 เข็มจะพบว่าอยู่ที่ 7% ซึ่งต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย 31% ฟิลิปปินส์ 1% และอินโดนีเซีย 10% โดยภาพรวมนั้น เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการควบคุมโรค โดยในการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ที่ 0.7% นั้น คาดว่าจะควบคุมโรคได้ก่อนไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และหากการล็อกดาวน์ขยายไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ผลกระทบของเศรษฐกิจไทยจะมีมากขึ้น เพราะล็อกดาวน์ 1 เดือนกระทบ 0.3-0.4% ของจีดีพี แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมยังเห็นว่า เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวติดลบน้อย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
นอกเหนือจากวัคซีน และการควบคุมโรคที่เป็นสาระสำคัญหลักแล้ว สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ดีที่สุด คือ มาตรการการคลัง เพราะในวันนี้แม้ภาคการส่งออกจะขยายตัวได้สูง 19% ในครึ่งปีแรก หรือบริษัทขนาดใหญ่ยังคงจ้างงานอยู่ และมีโอกาสจ้างเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะรองรับหลุมรายได้และคนว่างงานที่สูงมาก โดยเฉพาะจากภาคบริการ และช่วงที่ผ่านมา มาตรการทางการคลังถือเป็นมาตรการหลักที่ช่วยส่งเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทย และทำให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ หากไม่มีมาตรการการคลังเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่านี้มาก
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องมาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐจะต้องเป็นกำลังสำคัญในช่วงนี้ ดังนั้น หากมีความจำเป็นของการใช้เงินเพิ่มเติมในการพยุงเศรษฐกิจต่อไป และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวที่ทำให้เกิดสร้างตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจที่สูงๆ เช่น มาตรการคนละครึ่ง หรือการเร่งรัดค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้มีเงินใหม่เข้าระบบ และต้องออกให้เร็วให้ทันสถานการณ์ โดยประเมินมาตรการทางการคลังที่สมเหตุสมผลน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 7% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่ากังวล แต่เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นควรที่จะต้องเร่งทำหรือกู้เงินเพิ่มเติมก็ควรที่จะทำ เพราะการทำเร็วตั้งแต่วันนี้มีโอกาสช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ ดีกว่ารอเวลาให้ทรุดลงกว่านี้แล้วทำอาจจะได้ผลน้อยกว่า
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า หากพิจารณาตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้ตัวเลขขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ของจีดีพีในปี 2567 ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ และหากทำแล้ววันนี้มองว่ามีโอกาสใช้คืนได้ เพราะเป็นการกู้มาเพื่อขยายฐานของเศรษฐกิจ ฐานภาษีในอนาคตและเวลานี้สภาพคล่องที่จะขอกู้มีมากเพียงพอ และดอกเบี้ยที่ประเทศไทยได้ต่ำกว่าหลายประเทศมาก
ส่วนมาตรการในด้านสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท.นั้น ในช่วงที่ผ่านมา การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ในระบบได้ผลที่ดี โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ 4.5 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้ 1.7 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้เข้าโครงการอื่นๆ เช่น คลินิกแก้หนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งช่วยลดภาระลูกหนี้ไปได้ รวมทั้งในช่วงล็อกดาวน์รอบ 2 นี้ ธปท.ได้ประกาศให้พักหนี้ได้เพิ่ม 2 เดือน
แต่ยังไม่เพียงพอ สิ่งที่ ธปท.ต้องการทำคือ การปรับหนี้จากระยะสั้นเป็นระยาว สร้างระบบการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมมากขึ้นใน 5 ด้านคือ 1.การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวที่สอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยื้อเยื้อมากขึ้น 2.การปรับโครงสร้างหนี้ที่ตรงจุด ตรงความต้องการเฉพาะของลูกหนี้แต่ละราย 3.การปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่การยืดหนี้ออกไป 4.การทำงานของธนาคารพาณิชย์ และลูกหนี้ที่จะต้อง “รอดไปด้วยกัน” ไม่ใช่สักแต่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่รอด 5.การปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่สร้างความเสี่ยงหรือการขาดวินัยทางการเงินในอนาคต ขณะเดียวกัน อีกส่วนที่ ธปท.จะทำคือ การเร่งการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ตรงจุด ยังมีบางส่วนที่ท่อตันอยู่ ธปท.จะเข้าไปลอกท่อ ด้วยการเป็นตัวกลางคุยทั้งกับผู้ประกอบการและแบงก์ เพื่อให้มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น