กสิกรไทยมองแนวโน้มเงินบาทอ่อน ปรับประมาณการ ณ สิ้นปี 2564 ที่ 32.75 จากเดิมที่ 30.50 ชี้ปัจจัยกดดันหลักจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงกว่าคาดหลังภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ด้านนโยบายการเงินระบุมีโอกาสสูงขึ้นที่แบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 มาที่ระดับ 32.75 บาท จากเดิมที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยหลักๆ มาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงกว่าที่คาดไว้จากเดิมที่ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นขาดดุล 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการขาดดุลบริการที่สูงขึ้นหลังตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังกลับมาไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงค่าขนส่งสินค้าที่สูงกว่าเดิมมากจากปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันในประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวแล้ว กับประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และอีกประเด็นคือการที่บริษัทลูกของต่างประเทศในไทยได้ส่งเงินปันผลไปให้บริษัทแม่ในอัตราที่สูงกว่าปกติซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทแม่ แต่เรายังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนในขณะนี้ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้กดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี
"การอ่อนค่าของเงินบาทนอกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังเป็นปัจจัยจากในประเทศเองโดยหลักมาจากการการขาดดุลบริการที่กดดันให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามไปด้วย และยังมีการขาดดุลที่เรียกว่าการขาดดุลแฝดคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณ ทำให้เกิดการซื้อดอลลาร์สหรัฐมาตุนไว้และขายเงินบาทออกไปนอกเหนือจากการทำธุรกรรมค้าขายตามปกติอีกด้วย ซึ่งทำให้เราปรับประมาณการเงินบาทในครั้งนี้ที่ 32.75 และมีกรอบประมาณการที่ 32.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ"
ขณะที่ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะต่อไปยังคงมีความผันผวนจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายการทำ QE ว่าจะมีการลดสัดส่วนการซื้อทรัพย์สินหรือไม่ แม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ บางส่วนจะเริ่มมีการพูดถึงการลดสัดส่วนการทำ QE แล้ว แต่ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอยู่ จึงทำให้ตลาดยังคาดเดาทิศทางได้ไม่ชัดเจน
ส่วนนโยบายการเงินของไทยนั้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นไปในด้านลบมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงในระยะต่อไป ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งในส่วนของธนาคารยังให้โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยที่ประมาณ 40% เนื่องจากผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งต่อไปสู่ระบบนั้นมีไม่มาก จากปัจจุบันที่สภาพคล่องในระบบนั้นมีอยู่สูง แต่สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจจริงมีน้อย ปัญหาจึงอยู่ที่ขับเคลื่อนสภาพคล่องมากกว่าตัวอัตราดอกเบี้ย