นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศรวม 7 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนหุ้นไทย 4 กองทุน กองทุน Super Savings (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) จำนวน 1 กองทุน และกองทุนหุ้นต่างประเทศ 2 กองทุน รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท แบ่งเป็นงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2564 โดยกำหนดจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 19 ส.ค. 2564 มีจำนวน 5 กองทุน ได้แก่
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBSE) จ่ายปันผลในอัตรา 0.7500 บาทต่อหน่วย โดยมีการจ่ายระหว่างกาลแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 และวันที่ 20 พ.ค. 2564 ครั้งละ 0.2500 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.2500 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 20 รวมจ่ายปันผล 8.2100 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2554) กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนด้วยวิธี Active Approach ด้วยการคัดเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด และสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในขณะนั้น ซึ่งจะใส่น้ำหนักการลงทุนมากน้อยตามความน่าสนใจของหุ้นนั้นโดยลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30 ตัว นอกจากนี้ กองทุนนี้จัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Equity Large-Cap ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค. 2564)
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET ENERGY SECTOR INDEX (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBENERGY) จ่ายปันผลในอัตรา 0.1500 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 10 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 3.5700 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 มิถุนายน 2554) กองทุนมีนโยบายการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET BANKING SECTOR INDEX (SCBBANKING) จ่ายปันผลในอัตรา 0.200 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 8 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 3.9500 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 มิ.ย. 2554) กองทุนมีนโยบายการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหมวดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของตลาดหุ้นไทยมากที่สุด
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBPIND) จ่ายปันผลในอัตรา 0.1354 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 6 รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.9111 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (ชนิดเพื่อการออม) จ่ายปันผลในอัตรา 0.1414 บาทต่อหน่วย โดยทั้งสองกองทุนมีนโยบายการลงทุนโดยเน้นการคัดสรรหลักทรัพย์รายตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานในไทยและสิงคโปร์ นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้นจะส่งผลให้กองทุนได้รับประโยชน์ในระยะกลางถึงระยะยาว
สำหรับกองทุนหุ้นต่างประเทศอีก 2 กองทุน งวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564-31 ก.ค. 2564 โดยกำหนดจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 23 ส.ค. 2564 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBEUEQ) จ่ายปันผลในอัตรา 0.2122 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 11 รวมจ่ายปันผลแล้ว 2.0017 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 26 ก.พ. 2557) กองทุนมีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ iShares STOXX Europe 600 (DE) โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี STOXX Europe 600 เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี STOXX Europe 600 และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อิควิตี้ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBGEQ) จ่ายปันผลในอัตรา 0.3573 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 14 รวมจ่ายปันผลแล้วจำนวน 3.3618 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 14 ก.พ. 2556) กองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ กองทุน Veritas Global Focus (กองทุนหลัก) ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก
นายอาชวิณกล่าวถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าในช่วงแรกความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะมีอิทธิพลต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงทรงตัวในระดับสูง ซึ่งทำให้เกิดการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้นจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ ในขณะที่การกระจายการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้าทำให้โอกาสการกลับมาเปิดประเทศในช่วงปลายปียังมีความท้าทายอยู่มาก โดยคงคาดการณ์ว่าการฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจะเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อภายในประเทศมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศการลงทุนเชิงบวกให้แก่ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในเรื่องการลดวงเงินอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ สงครามทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และเสถียรภาพของรัฐบาลจากการชุมนุมประท้วงที่เพิ่มขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับภาพการลงทุนต่อตลาดหุ้นทั่วโลกมองว่ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่การกระจายวัคซีนมีความคืบหน้าอย่างมาก และประเมินว่าจะครอบคลุมในระดับที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐที่นำนโยบายขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล โดยสหรัฐฯ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สูงกว่าช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ในส่วนยุโรปเองก็กำลังจะเริ่มงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระหว่าง 0.5-1.5% ต่อปีต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังต้องจับตา ได้แก่ การส่งสัญญาณปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งอาจจะลดการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบในปี 2022 และเริ่มทำการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ