กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
วันที่ 11 สิงหาคม 2564 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะปรับวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท ต่อ 1 สถาบันการเงิน จริงๆ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา อาจจะสงสัยว่า แบบนี้คนจะไม่แห่กันถอนเงินจากธนาคารเหรอ เหมือนบีบให้คนถอนเงินมาใช้กลายๆ
แต่ถ้าคนที่ทราบเรื่องนี้จะรู้ว่า ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝากประชาสัมพันธ์มานานแล้ว เวลาเราไปเข้าคิวฝากเงิน ถอนเงินที่สาขา ก็จะมีแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตั้งอยู่ที่สาขาของธนาคารให้หยิบไปอ่านเล่นๆ
ถ้าคนที่ไม่ได้มีเงินในบัญชีเป็นล้านบาท ไม่ต้องซีเรียส แค่รู้เอาไว้ว่า หากวันไหนธนาคารล้ม ปิดกิจการเมื่อไหร่ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะจ่ายเงินฝากคืนภายใน 30 วัน เราไม่ต้องยื่นคำขอ เดี๋ยวเค้าจะให้มารับเงินเอง
บัญชีเงินฝากที่คุ้มครองมี 5 ประเภท ได้แก่ 1. เงินฝากกระแสรายวัน 2. เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก และ 5. ใบรับฝากเงิน และทุกประเภทต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น เงินฝากสกุลอื่นจะไม่ได้รับความคุ้มครอง
ส่วนที่ไม่คุ้มครอง ได้แก่ 1. เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 2. เงินลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน SSF RMF 3. เงินฝากในสหกรณ์ 4. แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน และ 5. เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
อาจจะมีคนสงสัยว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ได้คุ้มครอง e-Money ด้วยเหรอ หลายธนาคารก็มี e-Money หลายประเภท เช่น อี-วอลเล็ต (e-Wallet) ในแอปฯ หรือบัตรพรีเพด (Prepaid) ที่ใช้จ่ายแทนเงินสด
เท่าที่อ่านข่าว สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เขาก็ดูเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่กำลังถกเถียงกันอยู่ว่า e-Money ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากหรือไม่ แถมถ้าจะทำ ยังต้องมีข้อมูลลูกค้าทุกรายของผู้ให้บริการ e-Money เพื่อคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง
เรื่องของการคุ้มครองเงินฝากไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยก่อนหากจำกันได้ วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 มีธนาคารล้มระเนระนาด รัฐบาลยุคนั้นช่วยเหลือโดยคุ้มครองผู้ฝากและเจ้าหนี้เต็มจำนวน ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ทีนี้ หลังจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปี 2546 ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เลยเสนอกระทรวงการคลังจัดตั้ง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่เมื่อการจัดตั้งเกี่ยวข้องกับประชาชนที่เป็นผู้ฝากเงินโดยตรง ก็ต้องพิจารณาบทบัญญัติต่างๆ จำนวนมาก
ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้มีการร่างกฎหมาย ก่อนผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 13 กุมภาพันธ์ 2551 มีผลบังคับใช้ 180 วัน ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม 2551
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยใช้เงินกองทุนคุ้มครองผู้ฝาก ที่สถาบันการเงินส่งเงินสมทบเป็นประจำ 0.01% ของยอดเงินฝาก แทนที่เวลาแบงก์ล้มจะให้รัฐบาลนำเงินภาษีประชาชนมาอุ้มเหมือนในอดีต
ตามกฎหมายกำหนดให้คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ตามจำนวนเงินฝากที่ปรากฎในบัญชีของผู้ฝากทุกบัญชีรวมกัน หากมีหนี้สินค้างชำระให้หักเงินออกมาก่อน แล้วจ่ายคืนส่วนที่เหลือ (มาตรา 53)
โดยคิดเป็น 1 ผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน รวมทุกบัญชี แต่ไม่นับรวมสถาบันการเงินอื่น พูดง่ายๆ ก็คือ ธนาคารใครธนาคารมัน
ถ้ามีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท จะได้รับคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ เช่น นำสินทรัพย์ของธนาคารไปขาย เพื่อจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ธนาคาร ถ้ามีเงินเหลือถึงจะเฉลี่ยคืนเจ้าหนี้สามัญและผู้ฝากต่อไป
แต่เพื่อให้ผู้ฝากได้ปรับตัว ก็เลยมีบทเฉพาะกาล ปีแรกให้คุ้มครองเงินฝากเต็มตามจำนวนเงินที่ปรากฎในบัญชี ปีที่สอง (2552) ไม่เกิน 100 ล้านบาท ปีที่สาม (2553) ไม่เกิน 50 ล้านบาท และปีที่สี่ (2554) ไม่เกิน 10 ล้านบาท
ปรากฎว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออก พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ปีที่หนึ่ง ปีที่สอง และปีที่สาม คุ้มครองเต็มตามจำนวนที่ปรากฎในบัญชีเงินฝาก ปีที่สี่ ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ต่อมาสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออก พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 กำหนดให้ปีที่หนึ่ง ปีที่สอง ปีที่สาม (2555, 2556, 2557) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ปีที่สี่ (2558) ไม่เกิน 25 ล้านบาท
มาถึง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออก พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2559 กำหนดให้ปีที่หนึ่ง ปีที่สอง (2559, 2560) ไม่เกิน 15 ล้านบาท ปีที่สาม (2561) ไม่เกิน 10 ล้านบาท และปีที่สี่ (2562) จำนวน 5 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้แก้ไขขั้นตอนกระบวนการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน โดยเมื่อธนาคารล้ม เราไม่ต้องยื่นคำขอ แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเดินเรื่องให้เอง
ทีแรกจะกำหนดให้ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายตั้งแต่ปีที่แล้ว (2563) แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกรวมถึงไทย ต้องรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงิน
คณะรัฐมนตรีจึงให้ขยายเวลาวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาท ออก พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563 มีผลถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ถือเป็นปีสุดท้ายที่ออกกฎหมายลักษณะนี้
ปีนี้ (2564) เป็นปีแรกที่วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะเหลือ 1 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างจริงจัง จากเดิมจะเกิดขึ้นหลังบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลงในปี 2555 รัฐบาลแต่ละยุคก็ออกพระราชกฤษฎีกาตลอด
ปัจจุบันในปี 2564 วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท มีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ใครที่สนใจอยากศึกษาเพิ่มเติม เข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก www.dpa.or.th จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย
เอาจริงๆ คนที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท แสดงว่าเป็นคนที่เลือกจะเก็บเงินในธนาคารจริงๆ มากกว่าเอาไปลงทุน เพราะผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดานั้นต่ำมาก แถมจะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นอีกในอนาคต
ย้อนกลับไปในช่วงที่คุยกับแหล่งข่าว ที่เคยทำงานเกี่ยวข้องด้านการลงทุน เขาบอกว่า คนที่ร่ำรวยและมี ทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) จริงๆ จะมีเงินคงค้างในบัญชีออมทรัพย์เหลืออยู่ไม่กี่แสนบาท ยกเว้นคนที่เงินทองเหลือล้นจริงๆ
เพราะปกติมักจะเอาเงินไปใส่ใน กองทุนรวม ตามการจัดสรรสินทรัพย์ที่ผู้ที่ให้คําแนะนําการลงทุนแนะนำไว้ เช่น กองทุนหุ้น พันธบัตร กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ฯลฯ
คนที่อยากจะเอาเงินเก็บมาทั้งชีวิตไปลงทุนอย่างอื่น เช่น ซื้อกองทุน ไปคุยกับธนาคารได้ สาขาช่วยเหลือแน่นอน เพราะได้ยอดขายกองทุน แต่ลูกค้าต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อน ถึงจะเลือกพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้
ปัจจุบันหลายธนาคาร ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เพราะถ้าเป็นลูกค้า กลุ่มมั่งคั่ง (Wealth) ที่มีเงินฝากมากกว่า 1-2 ล้านบาทขึ้นไป ก็มี ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล (Financial Advisor) คอยดูแลลูกค้ากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
อีกทั้งปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเหลือ 0.25% ทำให้คนที่มีเงินเย็นในบัญชี โยกเงินไปลงทุนอย่างอื่นหมดแล้ว เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และกองทุนต่างๆ จะมีก็แต่คนที่ลืมไปว่ายังมีเงินฝากในบัญชีจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยเกษียณ
นอกจากนี้ ฐานะการดำเนินงานและเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังแข็งแกร่ง ดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง และยังมีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โอกาสที่แบงก์จะล้มครืนเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เป็นไปได้น้อย
เกิดมาเป็นคนธรรมดา เติบโตมาไม่หล่อไม่รวย ... ได้แต่พยายามเตือนเสมอว่า “เอาตัวเองให้รอดก่อน”