xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านวาระสองร่างแก้ รธน.จ่อยื่นศาลปม กมธ.ติงจำนวน ส.ส.หวั่นซื้อเสียงเพิ่ม เลือก 2 ใบ มีผลอิเล็กทรอนิกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสภาถกร่างแก้ รธน.วาระสอง แม้ถูกติงการทำงาน กมธ. ส่อยื่นศาล รธน. ก้าวไกล-พรรคเล็ก ค้านจำนวน ส.ส. เสรีรวมไทย หวั่นซื้อเสียงเพิ่ม ถามผู้มีอำนาจไม่กลัวผีแล้วหรือ ส.ว.ห่วงบัตร 2 ใบ กระทบเลือกตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ เสียงข้างมากลงมติหนุน

วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ ต่อเนื่องจากวันที่ 24 ส.ค.โดยเป็นวาระที่ประชุมต้องลงมติอนุญาตการแก้ไขเพิ่มเติมของ กมธ. ซึ่งมีการทบทวนเนื้อหาที่ต่างจากการยื่นร่างแก้ไขและรายงาน เมื่อ 19 ส.ค.จากที่เสนอ 9 มาตราไปเป็นการปรับแก้ไข เพียง 4 มาตรา

โดยก่อนการลงมติของรัฐสภา นายไพบูลย์ ชี้แจงว่า กมธ. ได้ปรับแก้ไขรายงานโดยได้ตัดออกหลายมาตรา เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น อาทิ มาตรา 85 ว่าด้วยการกำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 30 วัน , บทเฉพาะกาล ว่าด้วย กำหนดให้ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน หากทำไม่แล้วเสร็จ ให้ กกต. ออกประกาศเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ กมธ. ได้คงมาตราที่เพิ่มเติม คือ มาตรา 86 เพื่อปรับตัวเลข ส.ส.​ให้สอดคล้องกับหลักการ ที่ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน และ คงบทเฉพาะกาล ในบทว่าด้วยกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมจะไม่นำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับ ยกเว้นมีการเลือกตั้งทั่วไป

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติอภิปรายว่า การแก้ไขของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญแบบฉุกละหุก เมื่อ 24 ส.ค.เพื่อนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาไม่เห็นเนื้อหาว่าแก้อย่างไร ไม่แน่ใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่ตนเชื่อว่าจะมีผู้ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่มาของ ส.ส. ดังนั้น การแก้ไขของ กมธ. ควรพิจารณาในที่ประชุม ไม่ใช่ใช้มติ กมธ. แก้ไขเปลี่ยนแปลง แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุญาต ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนฐานะผู้แปรญัตติ พบว่า มีการแก้ไขคำแปรญัตติที่ไม่ตรงกับคำขอที่เสนอต่อที่ประชุม ดังนั้น หากการประชุม กมธ. เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดระบุว่าทำได้แล้ว แต่สิ่งที่ควรทำ คือ การถอนญัตติเพื่อกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์ ให้เนื้อหาตรงกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติเป็นเฉพาะ ตนไม่ต้องการให้มีปัญหากระทบต่อสมาชิกรัฐสภาระยะยาว

ด้าน นายชวน ชี้แจงว่า เมื่อ กมธ. แก้ไขเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ต้องขออนุญาตการแก้ไขจากที่ประชุมรัฐสภา ข้อ 37 จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ ผลปรากฏว่า เสียงข้างมาก 357 เสียงเห็นด้วยให้ กมธ. แก้ไข ต่อ 42 เสียง งดออกเสียง 86 เสียง

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาในวาระสอง โดย นายไพบูลย์ กล่าวรายงานว่า คณะ กมธ.ได้พิจารณาเสร็จ โดยมีมาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องและเสนอคำแปรญัตติที่ชอบด้วยข้อบังคับการรประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 การแก้ไขในแต่ละมาตรา กมธ.ได้นำคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม มีการแก้ไขมาตรา 86 แบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแก้ไขจำนวน ส.ส.ให้สัมพันธ์กับการแก้ไขมาตรา 83 โดยตรง นอกจากนี้ ก็มียังมีการเพิ่มบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสส. ถ้าเกิดเลือกตั้งซ่อมตอนนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขฉบับนี้

ทั้งนี้ ที่ประชุมเริ่มพิจารณามาตรา 83 ว่าด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ภาพรวมการอภิปราย พรรคก้าวไกล พรรคพลังท้องถิ่นไท และพรรคเสรีรวมไทย ไม่เห็นด้วนตามที่ กมธ.แก้ไข และเสนอให้คงใช้สัดส่วน ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ส.ส.แบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากกำหนดสัดส่วน ส.ส.ไม่ห่างกัน จะทำให้พรรคการเมืองได้เน้นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพรวมว่าเมื่อพรรคได้เป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร ไม่ใช่เน้นส.ส.แบ่งเขตแบบตัวบุคคล ซึ่งการเข้ามา ส.ส.ก็จะใช้อิทธิพลหรือการอุปถัมภ์ ซึ่งแบบนั้นไม่ได้สะท้อนประชาธิปไตยในบ้านเรา

ขณะที่ นายวิรัจน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า การให้สัดส่วน ส.ส.เป็นแบบที่ กมธ.แก้ไข จะทำให้มีการซื้อเสียงทวีคูณและแข่งขันมากขึ้น เราจะยอมรับหรือไม่ว่า มีการซื้อสิทธิขายเสียงจนเป็นธรรมเนียมว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” เป็นแบบนี้ทั่วประเทศ ฟังปราศรัยได้ 200 บาท คืนหมาหอนได้อีก 500 บาท จึงอยากถามว่าสัดส่วน ส.ส.แบบที่ กมธ.แก้ไข ยังเหมาะสมจริงกับประเทศเราจริงหรือ ระบบนี้ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 40 เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นระบบกินรวบรัฐสภา เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่สะท้อนเจรจาของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อยากถามผู้มีอำนาจว่าหากใช้ระบบนี้ ไม่กลัวผีแล้วหรือ หรือว่าเพียงเพื่อให้ได้ประโยชน์เท่านั้น ก็เลิกกลัวผี

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้ใบเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 62 ใช้แบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหามาก ตั้งแต่เกิดการร้องเรียนต่อ กกต. ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการคำนวณ ส.ส.ใหม่ ได้เป็น ส.ส.อยู่ดีๆ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมและคำนวณคะแนนใหม่ ทำให้ ส.ส.ต้องกลับบ้าน รู้สึกสงสาร ฉะนั้น ตนจึงเห็นด้วยที่จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประชาชน แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ดูเหมือนประชาชนจะไม่ได้อะไร เพราะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้บัตร 2 ใบ ตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ ที่ผ่านมา การเลือกตั้งมีปัญหาสร้างความแตกแยก ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญและให้ประชาชนได้ประโยชน์ต้องใช้เขตเลือกตั้งใหญ่ มี ส.ส.หลายคน ไม่ใช่เขตเดียวคนเดียวแบบที่ทำกัน ซึ่งเขตใหญ่ซื้อเสียงยาก ทำให้ได้ตัวแทนของประชาชนอย่างทั่วถึงกว้างขวาง

พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายข้อสังเกตที่ระบุให้การเลือกตั้ง ส.ส. ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัย ในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งหรือบุคคลที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ช่วยกาเครื่องหมายบนบัตรเลือกตั้งในคูหา ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 92 กำหนด ว่าจะขัดต่อการลงมติเป็นการลับหรือไม่ ว่าสามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติไว้

พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า การกำหนดเนื้อหาให้มีบัตรเลือกตั้งแบบละ 1 ใบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นอาจทำให้มีปัญหากระทบต่อการจัดการเลือกตั้งด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ปี 40, ปี 50 และ ปี 60 ไม่เคยเขียนถึงจำนวนบัตรเลือกตั้ง เพราะมีประเด็นที่อนาคตอาจใช้วิธีการเลือกตั้งแบบอื่นนอกจากบัตรเลือกกตั้ง อีกทั้งในการพิจารณา พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เคยหารือกันถึงการใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของ ส.ว.ในมาตรา 83 เป็นที่น่าสังเกตว่าได้ถอนคำแปรญัตติตามที่สงวนไว้ แต่ให้รัฐสภาบันทึกข้อสังเกตเพื่อให้รัฐสภาบันทึกไว้ อาทิ การคำนวณคะแนนของ ส.ส. ที่ไม่ควรใช้ระบบคำนวณที่ทำให้ได้ ส.ส.เกินคะแนนนิยมที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง และควรพิจารณาให้เหมาะสมกับสัดส่วนของผู้ลงคะแนนเลือกผู้แทนตามความจริง

ด้าน นายชินวรณ์ บุญเกียรติ กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนั้นเพื่อต้องการแก้ปัญหาเรื่องบัตรเขย่ง และผลเลือกตั้งที่ทำให้เกิดพรรรคเล็กพรรคน้อย และกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล นอกจากนั้นการปรับให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการใช้สิทธิเลือก ส.ส.เขต และเลือกพรรค

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนเป็นขั้นตอนที่เตรียมพร้อมไว้ เมื่อรัฐสภาเห็นพ้องสามารถใช้ช่องทางพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติได้ ซึ่งการเร่ิมต้นให้แก้ไข จะนำไปสู่การเปลี่ยนปลงครั้งสำคัญ ที่เปลี่ยนบริบททางการเมือง ไม่ให้กลับไปสู่วังวนเดิม ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบบัตรเลือกตั้งสองใบจะทำให้การเมืองไม่กลับไปวังวนเดิม และคือการถอดสลักทางการเมือง” นายชินวรณ์ อภิปราย

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงยืนยันการพิจารณาว่าได้อย่างครบถ้วนและยืนยันต่อเนื้อหาที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุม พร้อมขอให้ลงมติ

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ เสียงข้างมากเห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก 476 เสียง ไม่เห็นด้วย 70 เสียง งดออกเสียง 91 เสียง














กำลังโหลดความคิดเห็น