ข่าวปนคน คนปนข่าว
** หมอ(บุญ)พร้อม?? วัคซีนปีหน้า 120 ล้านโดส จะล็อก “โมเดอร์นา” ไว้ให้เอกชนเป็นวัคซีนทางเลือกอีกมั้ย
ต้องจับตาดูกันให้ดีๆ ชนิดห้ามกะพริบตา ...กรณี “บอร์ดวัคซีนแห่งชาติ” ที่ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นั่งเป็นประธาน ได้กำหนดทิศทางเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 มีความเห็นชอบเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด สำหรับปี 65 จำนวน 120 ล้านโดส ซึ่งจะประกอบไปด้วย วัคซีนที่มีความหลากหลาย โดยให้จัดหาวัคซีนในรูปแบบ ไวรัลเวกเตอร์ วัคซีนชนิด mRNA วัคซีนชนิดซับยูนิตโปรตีน และวัคซีนรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดในประเทศ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ
ประเด็นอยู่ที่ว่า หลังจากนี้ เมื่อบอร์ดวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นเสนอจัดหา 120 ล้านโดสแบบนี้ เรื่องจะถูกชงไปที่ “ศบค.” เพื่อให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้ “Single command” สั่ง “แม่ทัพปราบโควิดคู่กาย” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. และ “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” อดีต รมว.สาธารณสุข ที่เป็นประธานคณะทำงานจัดหาวัคซีน ลุยถั่วกันอีกหรือไม่
ถ้าใช่และเป็นไปตามสูตรเดิมของปี 64 ก็เชื่อขนมกินได้ล่วงหน้าเลยว่า วัคซีน mRNA “โมเดอร์นา” ที่ปั่นกระแสจนกลายเป็นวัคซีนเทพ บิวด์อารมณ์ของประชาชนจนแย่งกันจองซื้อหลายล้านโดสในปีนี้ จะยังคงเป็นวัคซีนทางเลือกของปีหน้า เพื่อให้เอกชนเอาไปทำมาหากินบนความทุกข์ของวิกฤตโควิด กันต่อหรือไม่
อย่าลืมว่า คณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนที่มี “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” เป็นประธาน คณะทำงานรวม 18 คน กว่าครึ่งมาจากหมอของโรงพยาบาลเอกชน ดูรายชื่อกันก็จะเห็นว่า บิ๊กเนมโรงพยาบาลเอกชนทั้งนั้น อย่างเช่น “หมอบุญ” นพ.บุญ วนาสิน เจ้าของกลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” ประธานกลุ่มโรงพยาบาลมหาชัย นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หรือพูดง่ายๆ ยกสมาคมโรงพยาบาลมาไว้ในคณะทำงานชุดนี้
เรื่องการจัดซื้อ จัดหา วัคซีนที่ผ่านมาลุง Single command ไฟเขียวมอบหมายหน้าที่และอำนาจในการเสนอต่อ ศบค.ได้เลย
ปีนี้ที่การจัดหาวัคซีนเป็นดรามา มาบ้างไม่มาบ้าง ซื้อยี่ห้อนั้นไม่ซื้อยี่ห้อนี้ และปริศนาที่ว่า โมเดอร์น่า วัคซีน mRNA ทางเลือกทำไมจึงถูก “กั๊ก” กันเอาไว้ให้เฉพาะสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็หาคำตอบกันได้จากคณะทำงานชุดนี้แหละ
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าปีหน้าใครที่รอคอยวัคซีนเทพอย่าง “โมเดอร์นา” จะได้ฉีดฟรี หรือ mRNA ยี่ห้ออื่นๆ อาจจะต้องผิดหวัง วัคซีนหลักก็น่าจะยังเป็นวัคซีนที่เราคุ้นๆ กันแล้ว อย่าง ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ กันต่อไป
นี่ก็ไม่รู้ว่า “หมอบุญ” นพ.บุญ วนาสิน หนึ่งในคณะทำงานจัดหาวัคซีนของ ศบค.คนที่ออกโรงเชียร์ “โมเดอร์นา” มาตลอดนั้น รู้หรือยัง และจะช่วยคณะทำงานถกเถียงเรื่องนี้ช่วยท่านประธาน “นพ.ปิยะสกล” หรือไม่อย่างไร
จะโอนเอนรักษา “โมเดอร์นา” ให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนต่อไป หรือจะช่วยรัฐจัดหาโมเดอร์นามาเป็นวัคซีนหลักให้ประชาชน...น่าสนใจจริงๆ งานนี้
พูดถึง “หมอบุญ” และ “โมเดอร์นา” ก็ต้องพูดถึงกรณีองค์การเภสัชฯที่เป็นเพียงตัวกลางจัดซื้อโมเดอร์นา แต่ถูกโยนบาป สร้างเฟกนิวส์ให้ตกเป็นจำเลยทั้งข้อกล่าวหา ซื้อแพง และ เตะถ่วงไม่ยอมซื้อมาให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จนทนไม่ไหวตัดสินใจแจ้งความกับ “อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง” และ “หมอบุญ” ในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา อันเป็นเหตุให้องค์การเภสัชกรรมได้รับความเสียหาย”
เรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อช่องน้อยสี ตีข่าวขยี้องค์การเภสัชฯ รัวๆ ราวกับว่า ดรามา โมเดอร์นาเป็นความผิดของ องค์การเภสัชฯ ทั้งที่ดรามา มาจากฝั่งของเอกชนล้วนๆ และแน่นอนว่า “หมอบุญ” โหมกระพือเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันองค์การเภสัชฯ มาตั้งแต่ต้น เมื่อถูกฟ้อง หมอบุญ ก็ยังบอกว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้รู้กันว่า เอกสารหลักฐานในการสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเป็นอย่างไร ได้พิสูจน์กันในศาล
งานนี้ดูๆ ไปก็ย้อนแย้งกับคำของ “หมอบุญ” ที่สถานะหนึ่งนั่งอยู่ในคณะทำงานจัดหาวัคซีนของรัฐ แปลกๆ ว่า ทำไมจึงไม่รู้ โดยเฉพาะราคาที่ว่า องค์การเภสัชฯ คิดสะระตะต้นทุนต่างๆ แล้วตกโดสละ 1,100 บาท แต่เอกชนเปิดรับจองที่ราคา 1,700 บาท กำไรส่วนต่าง 600 บาท จองซื่อไว้ 5 ล้านโดส คูณเข้าไปก็กว่า 3,000 ล้าน กลับไม่ค่อยมีคนพูด หรือสื่อช่องน้อยสี ก็ไม่นำเสนอว่า ใครได้ประโยชน์ ?
และที่แปลกกว่านั้น เมื่อเป็นคู่พิพาทกับรัฐ เพราะองค์การเภสัชฯ ถือเป็นหน่วยงานของรัฐแบบนี้แล้วก็ไม่ควรจะรับจากองค์การเภสัชฯ หรือเปล่า?
ฟังว่า “หมอบุญ” บอกว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะโควตาโมเดอร์นาของกลุ่มธนบุรีเฮลท์แคร์ของหมอบุญที่เห็นว่าถูกจองไปเป็นล้านโดส ฝากให้องค์การเภสัชฯสั่งซื้อนั่นส่งผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
เรียกพิพาทกันไป ฟ้องคดีกันไป แต่วัคซีนโมเดอร์น่าของข้า ขอหมอเถอะ...หมอ(บุญ)พร้อม!
** เป็นเพราะความ “รั้น” หรือเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้ “เวทีมิสแกรนด์” ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากไม่พักการประกวด ยังสั่งนางงามถอดมาสก์ ...ถึงวันนี้ติดเชื้อโควิดกันไปแล้วไม่รู้เท่าไร
กว่าสัปดาห์แล้ว ที่ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” พิธีกรดัง และผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ต้องนอนมองเพดานในห้องไอซียู หลังติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา
ในโซเชียลฯ แม้จะมีคนให้กำลังใจกันล้นหลาม ขอให้หายไวๆ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะ “ณวัฒน์” มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาล จึงไม่เห็นด้วยกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการต่อสู้กับโควิด จนกลายเป็นความ “ประมาท” ไป
ไม่ฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา ด้อยค่าว่าเป็น “วัคซีนเสิ่นเจิ้น” ไม่สวมมาสก์ ไม่เว้นระยะห่าง ลำพังตัวเองไม่พอ ยังห้ามคนอื่นด้วย โดยเฉพาะกับกองประกวดมิสแกรนด์ ซึ่งเป็นที่รวมคนหมู่มาก
ว่ากันว่า “ณวัฒน์” อาจได้รับเชื้อโควิดมาจากเวที “เวทีมิสแกรนด์สมุทรสาคร” เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา เพราะกองประกวดมีคำสั่งให้ผู้เข้าประกวด “ถอดมาสก์” ...ผู้เข้าประกวดบางคนกลัวติดเชื้อ ไปขอถอนตัวจากการประกวด ทางกองประกวดบอกถอนตัวก็ได้ แต่ต้องเสียค่าปรับ 60,000 บาท
เมื่อผู้เข้าประกวดไม่ใส่มาสก์ คนรอบข้าง ทั้งพี่เลี้ยง ช่างแต่งหน้า ทำผม ก็เลย “หละหลวม” ตามไปด้วย และในขั้นตอนการประกวดไม่ใช่มีแต่บนเวที ยังมีการเก็บตัว ซักซ้อม ทำกิจกรรม งานประกวดมิสแกรนด์สมุทรสาคร เลยมี “นางงาม” ติดเชื้อโควิดไป 13 คน พี่เลี้ยง 9 คน ที่มาร่วมงานอีกเป็นร้อยคนต้องอยู่ในภาวะ “กลุ่มเสี่ยงสูง”
เมื่อเป็นเรื่องเป็นราว เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา ชาวโซเชียลฯ ก็ตามไปขุดกองประกวด แล้วก็พบว่าในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่เพียงมีเวที “มิสแกรนด์สมุทรสาคร” เท่านั้น ยังมีเวทีมิสแกรนด์อีกหลายจังหวัด เช่น สมุทรปราการ-นครปฐม-สมุทรสงคราม และขอนแก่น …ทุกเวทีไม่ใส่มาสก์ ผู้ประกวดต้องไปวัดดวงกันเองเอง โชคดีก็รอด โชคร้ายก็เดลตา
…หลายคนอาจเห็นแย้งว่า ประกวดนางงามก็ต้องเปิดหน้า ถ้ามาใส่มาสก์ แล้วมันจะเห็นความงามตรงไหน ...อันนี้จริง แต่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ ถือว่าเป็นตรรกะที่ “ขาดความรับผิดชอบ”
ถ้าเปิดหน้าแล้วรักษาระยะห่าง ก็ยังพอไหว แต่เท่าที่เห็นทั้งไม่ใส่มาสก์ ไม่รักษาระยะห่าง ไม่เพียงแต่บนเวทีเท่านั้น ในห้องเตรียมตัว ห้องแต่งตัว บรรยากาศการซ้อม ล้วน “หละหลวม” เพราะกองประกวดไม่สำเหนียกในเรื่องเหล่านี้
อันที่จริงแล้ว ในสถานการณ์ที่โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เช่นนี้ กองประกวดควรงด หรือประกาศเลื่อนเวลาออกไปก่อน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ในการที่จะต่อสู้กับการแพร่ระบาด แต่อาจเป็นด้วย “เหตุผลทางธุรกิจ” ด้วยความ “รั้น” ของผู้อำนวยการกองประกวด จึงเป็นที่มาของความประมาท จนดูเบาในผลร้ายที่จะตามมา
ถึงวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้หลักหมื่น ก็ไม่รู้ว่าในจำนวนนี้ มาจาก “คลัสเตอร์นางงามมิสแกรนด์” กี่คน