สภาผู้แทนฯ ลงมติ 270 ต่อ 196 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ขณะฝ่ายค้านยังเสียงแข็งไม่เห็นด้วย ชี้ไม่จำเป็นเร่งด่วน “บิ๊กตู่” ไม่มีความเป็นผู้นำ ด้าน “อาคม” พร้อมปรับแผนใช้เงิน เน้นช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง- เล็กเป็นหลัก ย้ำทุกเม็ดเงินจะทำอย่างรอบคอบ ขณะที่ปลัดคลังยันมีแหล่งเงินใช้หนี้สาธารณะแล้ว ไม่เป็นภาระงบประจำปี
วันนี้ (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท วันที่สอง ได้เริ่มขึ้น โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายปิดท้ายส่วนของพรรคฝ่ายค้าน ว่า การแก้ไขปัญหาโควิด- 19 ด้วยวัคซีน ตนมองว่ากลายเป็นภาระแห่งชาติ ไม่ใช่วาระแห่งชาติ เพราะจากความไม่พร้อมของการบริหารวัคซีน ทำให้โรงพยาบาลต้องเลื่อนนัดฉีดวัคซีน และทำให้หมอ และคนไข้มีความขัดแย้ง ทั้งนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหมอ จะเป็นหมอที่ทำให้อาการของคนไข้แย่ลง และเสียชีวิต กว่า 1,300 ราย ภายใน 2 เดือน และมีคนไข้สะสมหลักแสนคน ทั้งนี้ พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีภาวะผู้นำ เพราะการชี้แจงต่อสภาฯ พบการเสียดสี ถากถาง เยาะเย้ย ทำให้ไม่ไว้ใจ ว่า จะทำหน้าที่ได้ดีต่อไปหรือไม่ และกังวลว่าจะทำให้ประเทศลงเหว หากเป็นวงการแพทย์ต้องถูกถอนใบวิชาชีพทางการแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้ ความบิดเบี้ยวของการตัดสินใจ ทำให้ประเทศเสียหาย
“นายกรัฐมนตรี ไม่มีความมั่นใจต่อการระงับการระบาดของโควิด-19 ได้ จากท่ีชี้แจงเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่แก้ไขง่าย ต้องใช้เงินกู้เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อระงับการระบาดของโควิดเท่านั้นภายใน 1 ปี ส่วนงานฟื้นฟู ที่เสนอกว่า 4 หมื่นโครงการ เป็นแผนงานปกติ ไม่ใช่แก้ปัญหาและไม่ควรใช้เงินกู้ แต่ควรนำเข้าระบบงบประมาณปกติ ดังนั้น ผมเชื่อว่า กู้เงินอีกรอบ 5 แสนล้านบาท จะไม่สามารถระงับยังยั้งการระบาดได้ เพราะความล้มเหลวจากการใช้เงินกู้ก้อนแรก”นพ.ชลน่าน อภิปราย
นพ.ชลน่าน อภิปรายเรียกร้องให้ประชาชนฟ้องร้องทางละเมิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เป็นตัวอย่าง ว่า เป็น ผู้นำที่ทำให้ประชาชนเสียหาย และเสียชีวิต ซึ่งตนมองว่าเป็นการตัดวงจรชีวิตประชาชน ไร้จริยธรรม ทั้งนี้ตนมองว่ากรณีที่องค์กรได้คนโง่และขยันเป็นผู้นำ ทำให้องค์กรเสียหาย ตนยืนยันว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านไม่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะ 1. การให้กู้เงินไปก่อนหน้านั้นไม่สามารถระงับยับยั้งควบคุมการระบาด เยียวยาไม่ตรงประเด็น ฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้
นพ.ชลน่าน อภิปรายด้วยว่า 2. เหตุที่ฝ่ายค้านไม่อนุมัติ เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งที่ควรใช้เป็นกฎหมายงบประมาณ แทนการออก พ.ร.ก. แต่การบริหารกลับเป็นการบริหารปกติ 3. ผู้นำไม่มีความเหมาะสมเป็นผู้นำ ทั้งนี้ ตนต้องการความเชื่อมั่นจากผู้นำ และ 4. การฟื้นประเทศ ยับยั้งวิกฤต โรคระบาด และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ ส่วนที่บอกว่าจะยุบสภาฯ และอีก 1 ปี ขณะนี้มีสัญญาณแก้รัฐธรรมนูญและไทม์ไลน์เป็นไปตามนั้น เพราะคิดว่าได้พวกของท่านจะได้ประโยชน์
“หากท่านลาออก ประชาชนจะยกย่องเป็นวีรบุรุษ ดังนั้นขอให้ท่านออกเพื่อบ้านเมือง แต่หากดื้อต่อไป จะเป็นคนที่ประชาชนเกลียดชัง และขนานามว่าเป็นทรราชย์ เพราะท่านทำร้ายและเข่นฆ่าประชาชน ดังนั้นขอให้ออกเพื่อบ้านเพื่อเมือง” นพ.ชลน่านกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าว ตนจะรับสิ่งที่สมาชิกอภิปรายไปดำเนินการปรับปรุง โดยเฉพาะวิธีการทำงาน รายละเอียดของกรอบแผนงานทั้ง 3 แผนงาน โดยเน้นในแผน 2 และแผน 3 ที่อยากให้ลงในกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในปี 63 ช่วงเกิดระบาดโควิด-19 รอบแรก ได้มีการเข้าไปยียวยาและเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นมีการเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของประชาชนในโครงการต่างๆ เพื่อให้การบริโภคภายในประเทศไม่หยุดชะงัก โดยพยายามให้ถึงรากหญ้าให่มากที่สุด และยังช่วยผู้ประกอบธุรกิจโดยผ่านมาตรการต่างๆของรัฐบาล แต่ครั้งนี้มีการโฟกัสไปที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก การรักษาการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่องจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเป็นเท่าไหร่นั้น คงต้องมีการทบทวนว่าหนี้และองค์ประกอบของหนี้มีอะไรบ้าง ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ และในภาวะที่ไม่ปกติทั่วโลกจะดำเนินการอย่างไร ในส่วนที่กู้เพิ่มเติมจากงบรายจ่ายประจำปี จะเป็นภาระที่ควรกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอย่างไร
“ผมขอทุกข้อความเห็น ข้อเสนอะแนะเป็นประโยชน์กับการทำงานของคลังในฐานะเป็นผู้กู้เงิน ทุกเม็ดเงินเราจะทำด้วยความรอบคอบมีการติดตามตลาดเงิน ตลาดทุนทั้งภายในและภายนอกเพื่อให้การบริหารหนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศ”
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารนะ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นั้น เราเอาไปเยียวยาฟื้นฟูสาธารณสุข ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 2563 โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดไทยติดลบ 7.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสภาผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และนำไปใช้จ่ายก็ทำให้เศรษฐกิจไทยโตติดลบ 6.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดีกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
ส่วนหนี้สาธารณะตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท สัดส่วนคือ 54 เปอร์เซ็นต์ หากรวมถึงที่เราจะกู้ทั้งกู้ขาดดุล และอีก 5 แสนล้านบาทนี้ ในสิ้นปีงบประมาณนี้ก็ยังไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์อยู่ที่ 58-59 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น เรามีคณะกรรมการการเงินการคลังภาครัฐจะพิจารณาในเรื่องของกรอบเงินกู้อยู่ อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะจะเป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบตรงๆ โดยจะมีแหล่งเงินมาคืนที่ชัดเจนอยู่แล้วคือกองทุนฟื้นฟูที่เป็นหนี้ตั้งแต่ปี 40 ตอนนี้เหลือเงินต้นอยู่ประมาณ 7 แสนล้านบาท โดยแหล่งที่มาที่จะใช้หนี้มาจากการเก็บจากเงินฝากจากสถาบันการเงินเพื่อมาชำระหนี้ในทุกๆ ปี รวมถึงหนี้รัฐวิสาหกิจบางประเภทที่มีความสามารถชำระคืนได้เองอยู่แล้ว เช่น ปตท. อีก 3 แสนล้านบาทด้วย ซึ่งรวมแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นที่ว่ารัฐบาลจะการเอาเงินงบประมาณไปชำระตามที่กังวลกัน
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติอนุมัติ พ.ร.ก. ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 270 เสียง ต่อ 196 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง