xs
xsm
sm
md
lg

กฟก.เดินหน้าแก้หนี้เกษตรกร ขยายเพดานจัดการหนี้ NPL และ NPA เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรสมาชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฟก. เดินหน้าแก้หนี้เกษตรกร ขยายเพดานจัดการหนี้ NPL และ NPA จาก 2.5 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรสมาชิก

ด้วยที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้แทนเกษตรกรสมาชิกทั้งที่เป็นหนี้ที่ทรัพย์ถูกขายทอดตลาด (NPA) และ หนี้ผิดนัดชำระ (NPL) รายละไม่เกิน2.5 ล้านบาท ปัจจุบัน กฟก. ได้มีการชำระหนี้แทนและซื้อทรัพย์คืนไปแล้วจำนวนกว่า 29,000 ราย ใช้งบประมาณไปจำนวน 7,000 ล้านบาท ยังคงเหลือหนี้ที่เกิน 2.5 ล้านบาท ที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กฟก.ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีบังคับคดีขายทอดตลาด คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในคราวประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ได้มีมติขยายเพดานการชำระหนี้ทั้งหนี้ NPL และ NPA จาก 2.5 ล้านบาทเป็น 5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือร้อนจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีบังคับคดีขายทอดตลาดเป็นอย่างมากดังนั้นทางคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯจึงได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานการจัดการหนี้ NPA และ NPL เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับหนี้ในส่วนของ NPL นั้น ให้ กฟก. ดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ ซึ่งปัจจุบันหนี้สหกรณ์ได้ดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกรแล้วรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขเดิม คือชำระหนี้เงินต้น 100 คิดดอกเบี้ย 7.5 ระยะเวลาการคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10 ปี ส่วนธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล อยู่ระหว่างการเจรจากำหนดหลักเกณฑ์กับเจ้าหนี้ สำหรับหนี้ NPA มอบหมายให้ กฟก. ทำเรื่องเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบในการขยายเพดานการซื้อทรัพย์คืน จากรายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เป็นรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท เนื่องจากเป็นมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2552 ที่ได้อนุมัติให้ กฟก. ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง กฟก. ทำเรื่องเสนอ ครม. เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วก็จะนำมาสู่การซื้อทรัพย์คืนให้กับพี่น้องเกษตรกร ด้วยการขยายเพดานจากไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาทต่อราย ซึ่งมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวนี้กว่า 2,000 ราย

นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้NPAของเกษตรกรสมาชิกกฟก. กว่า 463 ราย จากจำนวนสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯ ทั้งหมด 400,000 กว่าราย รวมมูลค่าหนี้กว่า 96,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกในกลุ่มนี้ ทางคณะกรรมการบริหารฯ และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร เห็นควรดำเนินมาตรการขยายกรอบวงเงินเพื่อซื้อทรัพย์คืนจากเดิมกำหนดไว้ที่ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

นายมนัส กล่าวต่อไปว่า ระหว่างที่กำลังรอการอนุมัติขยายเพดานการซื้อทรัพย์NPA จาก 2.5 ล้านบาทเป็น 5 ล้านบาท จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนั้น ในส่วนของการดำเนินการชำระหนี้ NPL ของสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรในวงเงินไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรสมาชิกเป็นอย่างมาก จากข้อมูลล่าสุด ปรากฏว่า มีเกษตรกรแจ้งขอออกหนังสือชะลอการดำเนินการตามกฎหมายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 รวมถึงการแสดงความประสงค์ที่จะให้ กฟก.ไปจัดการหนี้ให้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกว่า ในปี 2564 จนถึงขณะนี้กองทุนฯ ได้มีการอนุมัติชำระหนี้รวมแล้วประมาณ 1,179 รายเป็นวงเงินกว่า 950ล้านบาท ซึ่งเกินกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้ 700 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดำเนินการที่เกินอยู่ระหว่างการของบกลางหรืองบอื่นๆจากรัฐบาลเพื่อมาชำระหนี้ให้เกษตรกรต่อไป

“สิ่งสำคัญที่อยากฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรสมาชิกทั่วประเทศ หากท่านใดอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่สามารถชำระหนี้ที่เป็นหนี้ในระบบ และหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรได้ ให้มาแจ้งที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ในพื้นที่เพื่อกองทุนฯ จะเข้าไปร่วมจัดการหนี้ให้ตามระเบียบและขั้นตอนเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ต่อไปส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ขณะนี้กองทุนฯได้เปิดรับการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกทุกวันทำการ ขอให้รีบติดต่อและดำเนินการขึ้นทะเบียน เพื่อกองทุนฯจะได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ” นายมนัส กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น