น่าน - เปิดใจครอบครัวปู่เมืองน่าน บอกเหมือนโดนหลอกซ้ำ..หลังถูกยึดบ้านขายทอดตลาด-ผู้ซื้ออัปราคาขายคืน 100% จนต้องร้องผ่านสื่อ กรมบังคับคดีออกโรงเปิดเวทีไกล่เกลี่ย พอเสนอซื้อเท่าราคาขาย+ค่าดำเนินการ จนท.มีแต่เปิดช่องขยับราคาขึ้น
ความคืบหน้ากรณี นายสกฤษ์ ธนะคำ อายุ 76 ปี ชาวจังหวัดน่าน ได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชนหลังถูกกรมบังคับคดียึดบ้าน-ที่ดินขายทอดตลาดทั้งๆ ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตรง รวมทั้งได้ยื่นร้องขอให้กรมบังคับคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มแรกแต่ก็ไม่เป็นผล
ก่อนร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ให้แก่ครอบครัว แต่กรมบังคับคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ และศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์ ทำให้คำพิพากษาถึงที่สุด ต่อมากรมบังคับคดีเดินหน้าขายทอดตลาด โดยดึงทรัพย์ซึ่งมีที่ตั้งอยู่จังหวัดน่านขายเองที่ กทม.หลังจากขายที่จังหวัดน่านแล้วไม่มีคนซื้อ
กระทั่งมีการยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือขอความเป็นธรรม โดยขอให้หน่วยงานลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ระหว่างที่หน่วยงานต่างๆ ยังคงตรวจสอบข้อเท็จจริง กรมบังคับคดีได้แจ้งว่าจะทำการตรวจสอบ แต่ก็ยังคงเดินหน้าขายทรัพย์
หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวไป อธิบดีกรมบังคับคดีได้ออกมาให้ข่าวว่าพร้อมเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ครอบครัวได้ซื้อทรัพย์คืน โดยให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังผู้เสียหาย คือ น.ส.รัตนา ลูกสาว ในวันถัดมา เพื่อนัดวัน เวลา ในการไกล่เกลี่ย ซึ่งได้ข้อตกลงวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ผ่านระบบ Session Call เพื่อลดความเสี่ยงของสถานการณ์โควิด
ทั้งนี้ ได้สอบถาม น.ส.รัตนา (ลูกสาว) ถึงความคืบหน้าในการเจรจาไกล่เกลี่ย (31 พ.ค.) เปิดใจว่า เสียความรู้สึกมาก เหมือนถูกหลอกซ้ำอีก เพราะตอนแรกที่ จนท.กรมบังคับคดีประสานมาบอกว่าไม่มีความมั่นใจหากกรมบังคับคดีจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ขอให้มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นกลางที่ไม่เกี่ยวข้องมาร่วมในการเจรจาด้วย 1 คน จนท.รับปากว่าในการเจรจาจะมีผู้ซื้อ ผู้ขาย จนท.ไกล่เกลี่ย และคนกลางที่ไม่เกี่ยวข้องอีก 1 คน จึงตกลงร่วมเจรจา เพราะหากไม่มีคนกลางตนยังยืนยันว่าจะเดินทางไปร้องขอความยุติธรรมที่กระทรวง
แต่พอถึงเวลาการเจรจากลับมีเพียง 3 คน คือ จนท.ผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ซื้อ (นายชาญชัย) และตนเอง ไม่มีคนกลาง ซึ่งการเจรจาประมาณครึ่งชั่วโมง เริ่มต้นผู้ซื้อทรัพย์ยินดีที่จะขายคืนให้ในราคาที่เกินกว่าที่ซื้อมา 100% เช่นเดิม คือจากที่ซื้อมา 1.56 ล้าน จะขาย 2.9 ล้านบาท ซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยสอบถามตนว่าจะเสนอซื้อในราคาเท่าไหร่ จึงได้เสนอขอซื้อคืนในราคาที่กรมบังคับคดีขายไปคือ 1.56 ล้านบาท
จนท.ผู้ไกล่เกลี่ยบอกว่า หากขอซื้อในราคานี้ (1.56 ล้านบาท) ผู้ขายยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้คิด จึงถามนายชาญชัยว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประมาณเท่าไหร่ นายชาญชัย บอกว่าประมาณแสนกว่าบาทเกือบสองแสน ผู้ไกล่เกลี่ยจึงบอกว่าหากตนเองขอซื้อคืนในราคา 1.56 ล้านบาท จะขอบวกเพิ่มมาอีกสองแสนประมาณ 1.8 ล้าน ได้หรือไม่ ซึ่งตนก็ยินยอมที่จะรับในส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง
แต่หลังจากคุยกันในประเด็นราคา ผู้ไกล่เกลี่ยก็ได้ถามว่าหากจะเพิ่มเป็น 2 ล้าน หรือ 2 ล้านต้นๆ จะได้ไหม เพราะราคาที่ตนเสนอนั้นผู้ขายยังไม่ได้ค่าเสียเวลาอะไรเลย ตนจึงบอกว่าหากเกินกว่านี้ครอบครัวไม่มีกำลังซื้อ เพราะราคาที่เสนอซื้อไปนี้ก็ยังหาเงินไม่ครบแล้วจะรับปากตามข้อเสนอในราคาที่สูงกว่านี้ได้อย่างไร หากรับปากแล้วทำไม่ได้ก็จะเสียอีก
จากนั้นนายชาญชัยได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ข้อ เพื่อให้ตนนำไปคิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือข้อเสนอที่ตนเองปฏิเสธมาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ คือ 1. ขอให้ครอบครัวของตนออกจากบ้าน 2 ปี และจะเข้าไปทำธุรกิจ-ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านของตน ก่อนจะขายคืนในราคาที่ถูกกว่านี้ ซึ่งครอบครัวของตนไม่ต้องการให้มาปรับเปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น และเป็นไปไม่ได้ที่พ่อของตนจะย้ายไปอยู่ที่อื่นเพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดและเติบโตจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับหลานชายของตนก็กำลังเรียนหนังสือด้วย ส่วนเงื่อนไขที่ 2 ขอให้ตนไปหาซื้อบ้านมาแลกเปลี่ยน ซึ่งตนไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ใช่นายทุนซื้อ-ขายที่ดิน และไม่ได้อยู่ที่จังหวัดน่าน พ่อก็แก่ไม่รู้จักใครเป็นพิเศษเป็นชาวบ้านธรรมดา ยิ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และไม่ยอมระบุว่าจะลดราคาได้เท่าไหร่
“การเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้แก่หน่วยงาน ที่ให้สังคมเห็นว่าไม่ได้นิ่งนอนใจรีบเข้ามาช่วยเหลือแล้ว แต่กลับไร้ซึ่งความจริงใจเช่นเดิม”
การไกล่เกลี่ยครั้งนี้ครอบครัวของตนคือผู้ถูกกระทำและเป็นผู้ร้องขอความเป็นธรรม ร้องขอความช่วยเหลือ และเป็นผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ขณะที่นายทุนที่ซื้อบ้านไม่ได้เดือดร้อน แต่ไม่ต้องการเสียประโยชน์ที่อ้างว่าในอนาคตตนจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มหากต้องไปซื้อบ้านหลังใหม่ โดยอ้างว่าได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานในพื้นที่จังหวัดน่าน และต้องการเอาบ้านของตนไปหาประโยชน์ในทางธุรกิจ คือ หากำไร หากมองแค่จุดเริ่มต้น ความเท่าเทียม-ศักยภาพ ทั้งสองฝ่ายไม่มีความเท่าเทียมด้วยประการทั้งปวง การที่หน่วยงานจะใช้ข้อเสนอเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน กับบุคคลที่ไม่เท่าเทียมกัน มันจะหาความยุติธรรมได้จากไหน
การขอซื้อบ้านคืน ตนเองไม่ได้ขอฟรี ไม่ได้ต้องการเอาเปรียบใคร แม้ครอบครัวจะถูกกระทำมาตลอดแต่ก็ยอมที่จะแบกรับภาระทั้งหมด ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็ยังหาเงินไม่ครบตามจำนวนที่เสนอขอซื้อคืน คือ 1.8 ล้านบาทก็ตาม แต่ก็พร้อมที่จะหาหนทางหาเงินมาจ่ายให้ แต่การเจรจากลับเสนอเงื่อนไขในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มาเพิ่ม ขณะที่การเจรจาเรื่องราคาก็จะเห็นได้ว่าเพื่อไม่ให้นายทุนขาดทุนกำไร มากกว่าที่จะช่วยเหลือครอบครัวของตนเองที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ
ด้านนายสกฤษ์ หลังจากทราบการเจรจา บอกว่าทำไมปัญหามันไม่จบเสียที ตั้งแต่เกิดเรื่องก็เครียดมาตลอด นอนก็ไม่หลับคิดแต่เรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เราก็ร้องขอความเป็นธรรมมาตลอด ทำไมถึงมาทำกับครอบครัวของตนมากมายขนาดนี้ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปสร้างความเดือดร้อนอะไรให้กับใคร เราไม่ต้องการความหรูหราอะไร เราต้องการอยู่อย่างพอเพียงเหมือนที่เราอยู่ ไม่ต้องการหาประโยชน์ไม่ต้องการไปเบียดเบียนอะไรกับใครทั้งนั้น ตนเกิดที่นี่ก็จะขอตายที่นี่ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดหากสังคมยังหาความเป็นธรรมไม่ได้