เมืองไทย 360 องศา
ก่อนหน้านี้ เชื่อว่า หลายคนคงจะไม่สนใจกับข่าวเรื่องการ “ยุบสภา” เนื่องจากเห็นว่ายังห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก เนื่องจากพิจารณาจากไทม์ไลน์ต่อเนื่องไปถึงอนาคต มันยังไม่ได้ และที่สำคัญ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ถือว่าเป็น “ตัวแปรหลัก” ภาพที่เห็นรวมๆ ยังอยากเป็นฝ่ายรัฐบาลกันต่อไป ส่วนการอภิปราย หรือการแสดงความเห็นทั้งในสภาฯและการให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทางขึงขังที่ผ่านมานั้น ล้วนถือว่าเป็นเพียงแค่ “การแสดง” เท่านั้น
ที่สำคัญ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ว่านั้นยังมีความสนุกสนานกับการใช้งบประมาณใน “บิ๊กโปรเจกต์” ที่กำลังลื่นไหลอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็เป็นการ “สะสมกระสุน” ไปเรื่อยๆ ดีกว่า ขณะที่ฝ่ายค้านก็มีอารมณ์ไม่ได้ต่างกัน นั่นคือ ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้งในเร็ววันนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ที่ต้องบอกว่า “กลิ่นยุบสภาแรง” นั้น มันเริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มองว่ายังห่างไกล แต่ล่าสุดก็เริ่มได้เห็นสัญญาณบางอย่างที่เริ่มชัดขึ้นเหมือนกัน และที่บอกว่ามีความเป็นไปได้นั้น น่าจะมาจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจนั่นเอง
แม้ว่าหากพิจารณาตามสถานการณ์และความเป็นไปได้แล้ว การ “ยุบสภา” ที่ว่านี้คงไม่มาถึงในช่วงสองสามเดือนข้างหน้านี้ แต่หากเป็นช่วงปลายปี หรือ “ต้นปีหน้า” นั้น ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะเมื่อพิจารณาจากปัจจัยและเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดเรื่องแบบนั้นน่าจะได้เวลาพอดี
ปัจจัยแรกที่เวลานี้ถือว่า เป็น “ปัจจัยหลัก” ก็คือ เรื่อง “วัคซีน” ป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่เวลานี้ถือว่าสามารถหายใจได้โล่งขึ้น อย่างน้อยก็มีรายงานยืนยันว่า “กำลังทยอยเข้ามา” เรื่อยๆ ตามเป้าที่วางเอาไว้ อีกทั้งการลงทะเบียนฉีดโดยรวมแล้วถือว่าไม่มีปัญหา ไม่เกิดความวุ่นวายมากนัก ทุกอย่างกำลังเดินไปตามลำดับ เพราะยิ่งเวลาผ่านไปการฉีดวัคซีนก็น่าจะเข้ารูปเข้ารอย ซึ่งเมื่อวันดีเดย์พร้อมกันวันแรกวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำได้เรียบร้อย วันต่อไปก็ทำให้แรงกดดันลดลงเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ทำให้ “พวกกองแช่ง” หมดเงื่อนไขที่จะหาสาเหตุมา “ด้อยค่า” วัคซีนเหมือนเช่นผ่านมา โดยเวลานี้หากสังเกตพวกเขากำลังเบนเป้าไปที่เรื่องเงินกู้ 5 แสนล้าน แต่มันก็ทำได้ยาก เพราะเรื่องตัวเลขแบบนี้มันไม่ทำให้ชวนติดตามนัก
ปัจจัยถัดมาที่ต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด ก็คือ เรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งปัจจัยหลังนี่แหละ ที่อาจทำให้เกิดการ “ยุบสภา” ตามมา เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไปกันคนละทาง โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด เริ่มมีการเคลื่อนไหวกันเข้ามาแล้ว ที่เห็นชัดก็คือ มีการแยกเสนอขอแก้ไข นั่นคือ 3 พรรค คือประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ไม่มีพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอขอแก้ไขแยกไปต่างหากตั้งสมัยประชุมที่แล้ว
สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ “รายมาตรา” ของพรรคพลังประชารัฐ มี 5 ประเด็น 13 มาตรา ซึ่งหลักๆ ก็คือ แก้ไขให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่ออีก 100 คน ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่มีการเสนอแก้ไขตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ รวมไปถึงแก้ไขให้ตัด ส.ว.สรรหา โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ระบุว่า เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และแก้ไขไม่ได้จริง อีกทั้งการเสนอแก้ไขในลักษณะดังกล่าวจะไม่ต้องมีการทำประชามติก่อนแก้ไข เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดทอนอำนาจขององค์กรใด
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ที่มีการเปิดเผยจากนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ขณะนี้ได้เตรียมร่างแก้ไขเอาไว้แล้ว จำนวน 6 ฉบับ และมีกำหนดจะยื่นแก้ไขต่อประธานสภาฯให้ทันการบรรจุระเบียบวาระ ภายในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ อย่างแน่นอน ซึ่งสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลกลุ่มนี้มีการเสนอแก้ไขเนื้อหาหลักๆ ที่ต่างกันก็คือ เรื่องอำนาจของ ส.ว.เช่น ในเรื่องการโหวตนายกฯ รวมไปถึงการตัด ส.ว.สรรหา เป็นต้น
แน่นอนว่า สำหรับเรื่อง “อำนาจ ส.ว.” นั้น ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง โดยเฉพาะกับพรรคร่วมรัฐบาล นั่นคือ เสี่ยงที่จะเกิดปัญหากับพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน การไป “แตะต้อง” เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.โดยเฉพาะการโหวตนายกฯ มันก็เหมือนกับการไปกระทบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น้อย
แม้ว่าในสถานการณ์ความเป็นจริงในอนาคตคงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.ชุดนี้ เพราะเป็นอำนาจตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ที่ต้องสิ้นสภาพไปเอง แต่ถึงอย่างไร ภายในระยะเวลา 5 ปี ก็ยังเป็นช่วงที่ “เหลื่อม” กันอยู่ นั่นคือ หากสภาฯชุดนี้อยู่ครบวาระ ก็แค่ 4 ปี ทำให้ ส.ว.ชุดนี้ยังมีอำนาจโหวตนายกฯได้อีกครั้ง หรืออย่างน้อยหากไม่จำเป็นต้องพึ่งพา ส.ว.แต่การมี ส.ว.จำนวน 250 เสียง (เต็มจำนวน) ในทางปฏิบัติก็เป็นการสร้างพลังต่อรองและกดดันพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ไม่น้อย
ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าวที่น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดการยุบสภาในอนาคต ก็น่าจะมาจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี่แหละ โดยเฉพาะการไปแตะต้องเกี่ยวกับ “อำนาจ ส.ว.” และที่สำคัญ โอกาสที่จะแก้ไขสำเร็จก็ยิ่งยาก โดยเฉพาะต้องหากต้องทำประชามติก่อน และที่สำคัญ เมื่อถึงเวลานั้น ที่คาดว่าน่าจะเป็นต้นปีหน้าที่แรงกดดันเรื่องวัคซีนคลี่คลาย มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้ “ลุงตู่” ฉวยจังหวะยุบสภา ให้ประชาชนตัดสิน และมีโอกาสคัมแบ็กสูงเสียด้วยซี !!