นักวิชาการอเมริกัน ชำแหละไม่ไว้หน้า จอมคน “โทนี่” การปล่อยให้ “ระบอบทักษิณ” คงอยู่ คือ ความตายของ “ปชต.” ไทย “ชาญวิทย์” ร่ายมนต์สิ้นหวัง สังคมหมดไฟ ปฏิวัติไม่ได้ อ้างถูกทำให้เซ็ง แล้วปกครอง! ปลุกม็อบ 3 นิ้ว ฮึดสู้!
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 มิ.ย. 64) นายต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“นักวิชาการอเมริกันระบุ การปล่อยให้ “ระบอบทักษิณ” คงอยู่ คือ ความตายของประชาธิปไตยไทย
ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน ดับเบิลยู สกอตต์ ธอมป์สัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์ ตบหน้ารัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประณามการรัฐประหารยึดอำนาจในประเทศไทย และที่ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในทันที โดยอ้างว่า เป็นหนทางไปสู่ประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ผู้นี้ ระบุว่า การให้ระบอบทักษิณปกครองประเทศต่อไป ก็คือ การรับประกันให้ประชาธิปไตยในไทยต้องตายดับสูญไปภายในอนาคตอันใกล้นั่นเอง ขณะที่การสนับสนุนการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหาร อาจจะเป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับคืนมาได้
ในบทความเรื่อง “Thai coup holds promise of democracy” (รัฐประหารในไทยให้ความหวังแก่ประชาธิปไตย) ดร.สกอตต์ ธอมป์สัน (W Scott Thompson) ศาสตราจารย์กิตติคุณทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ แห่งวิทยาลัยนิติศาสตร์และการทูตเฟลตเชอร์ (Fletcher School of Law and Diplomacy) มหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) ได้กล่าวถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุด ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายทหาร ได้บังคับขับไสผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีให้ออกจากอำนาจ โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีผู้นั้น ได้เข้าทำหน้าที่นี้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุติการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีความผิดในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ในระหว่างที่เธอปกครองประเทศอยู่ ก็คอยรับคำสั่งต่างๆ จากพี่ชายของเธอ -- จอมเผด็จการและอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในต่างแดน
บทความซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำต่อๆ มา เป็นต้นว่า ในเว็บไซต์กัลฟ์นิวส์ (gulfnews.com) ในวันอาทิตย์ (1 มิ.ย.) ชิ้นนี้ ชี้ว่า ประเทศไทยได้ตกอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในการประท้วงทางการเมืองยาวนานแรมเดือน ระหว่าง “เสื้อเหลือง” -- ซึ่งเป็นคนไทยในเขตชุมชนเมืองผู้สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกลุ่มผลประโยชน์ชนชั้นนำผู้ต้องการให้รัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่ออกจากตำแหน่งไป กับ “เสื้อแดง” -- ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้ยากจนกว่าที่พำนักอยู่ในเขตต่างจังหวัด โดยผู้คนเหล่านี้สนับสนุนทักษิณและหาทางให้เขากลับคืนสู่อำนาจ
“ดังนั้น เมื่อมีนายพลผู้มาดมั่นทะเยอทะยานและมีความสามารถผู้หนึ่ง พยายามที่จะทำให้ประเทศชาติมีเสถียรภาพ -- โดยที่ในขณะนี้เขาก็ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งด้วย – มันจึงมีความเป็นไปได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ว่า เขาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการรัฐประหารทั้งหลายนั้น ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด” ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันวัย 72 ปีผู้นี้ระบุ
ดับเบิลยู สกอตต์ ธอมป์สัน ซึ่งเคยทำงานอยู่ในคณะรัฐบาลอเมริกัน ทั้งของประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด และของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน โดยที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯด้วย ชี้ว่า ความปั่นป่วนสับสนทางการเมืองในประเทศไทยนั้น มีรากเหง้าที่ลึกซึ้ง
ในบทความนี้ เขาชี้ว่า ประเทศไทยต้องประสบโชคร้าย เฉกเช่นเดียวกับเยอรมันในยุคทศวรรษ 1930 และอิตาลีในยุคทศวรรษ 1920 ทำให้ได้นักหลอกล่อฉวยโอกาสทางการเมือง ซึ่งเที่ยวให้สัญญาต่างๆ มากมาย เข้าครองอำนาจปกครองประเทศ
นักวิชาการชื่อดังมะกัน “ตบหน้า” รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุปล่อยให้ “ระบอบทักษิณ” คงอยู่ คือ ความตายของประชาธิปไตยไทย...
“ทักษิณนั้นทำเงินได้เป็นพันๆ หมื่นๆ ล้าน ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ และได้เริ่มซื้อเหล่านักหนังสือพิมพ์ตลอดจนนักการเมืองทางภาคเหนือมาเป็นพวก เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2001 อย่างถล่มทลาย และก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของเขา เขาดำเนินการปิดกั้นส่วนต่างๆ ของสื่อมวลชนซึ่งเขายังไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนั้น มีรายงานว่า มีผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยๆ 3,000 คน ถูกฆ่าตายในสงครามปราบปรามยาเสพติดของเขา อีกทั้งแสดงให้เห็นอย่างเต็มตาว่า เขาจะยังครองอำนาจต่อไปอีกยาวนาน” บทความชิ้นนี้ กล่าว
“ทฤษฎีเรื่องประชาธิปไตยนั้น ไม่เคยเลยที่จะหมายความอย่างง่ายๆ เพียงแค่ว่า การปกครองโดยคนส่วนใหญ่ แน่นอนทีเดียวว่าทักษิณก็ใช้กลไกด้านการตรวจสอบและการคานอำนาจด้วย แต่เป็นชนิดที่แตกต่างออกไป โดยที่เขานำมาใช้เพื่อกระชับฐานอำนาจของเขาให้เข้มแข็ง ทั้งในกิจการตำรวจ และก็ในกองทัพด้วย ถึงแม้มีหลักฐานว่าเขาประสบความสำเร็จน้อยกว่า …”
ศาสตราจารย์อเมริกันผู้นี้ กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากลำบากเสมอที่จะอ้างเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การทำรัฐประหาร แม้กระทั่งในกรณีที่เป็นการเข้าแทนที่ระบอบปกครองที่ย่ำแย่เต็มที”
อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า “ถ้าหากจะให้เหตุผลความชอบธรรมแก่การต่อต้านการรัฐประหารคราวนี้ ก็จำเป็นจะต้องไปให้ความสนับสนุนต่อทักษิณ บุรุษผู้ซึ่งจะไม่ยอมอดทนต่อการคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งจากสถาบัน และเป็นผู้ซึ่งจะปกครองด้วยกำปั้นเหล็กตราบเท่าที่เขา-หรือผู้ที่เขาคัดเลือกให้มาสืบทอดต่อจากเขา ยังมีชีวิตอยู่”
“โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีความประหลาดใจว่า นายพลผู้นี้ (พล.อ.ประยุทธ์) ได้รอคอยมาเป็นเวลายาวนานถึงขนาดนี้ เขาเดินหมากของเขาด้วยความระมัดระวังมาก ด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างเป็นกลางๆ ในวันหนึ่ง แล้วจึงเข้ายึดอำนาจในอีกวันหนึ่ง กองทัพไทยไม่ได้ผลิตนายพลที่มีความสามารถอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางขนาดนี้เลยในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา”
ดับเบิลยู สกอตต์ ธอมป์สัน กล่าวในตอนสรุปบทความของเขาว่า “การเลือกให้ระบอบทักษิณปกครองประเทศต่อไป ก็คือการรับประกันให้ประชาธิปไตยในไทยตายดับสูญไปภายในอนาคตอันใกล้ ขณะที่การสนับสนุนการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหาร อาจจะ(แค่อาจจะ) เป็นเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับคืนมาได้
ความจริงทางประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไปนั้นมีอยู่ว่า ระบอบปกครองต่างๆ ที่นำมาซึ่งระเบียบเรียบร้อย อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ขณะที่แทบไม่ปรากฏเลยว่าระบอบปกครองในทางตรงกันข้ามจะสามารถทำอะไรเช่นนี้ได้
ทั้งนี้ ระบอบปกครองที่ปล่อยให้ทำอะไรตามใจนั้น มีความโน้มเอียงที่จะนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งกลายเป็นการสร้างความย่อยยับให้แก่การปกครองอันเรืองปัญญา”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ข้อความ ระบุว่า “ชาญวิทย์ หมดหวัง? โอด “สังคมหมดไฟ ปฏิวัติไม่ได้” อ้างถูกทำให้เซ็งแล้วปกครอง! ความจริงคือสามกีบแพ้หมดพลังแล้ว?
#ชาญวิทย์ #โอดสังคมหมดไฟ #สามกีบแพ้หมดพลัง
ทั้งนี้ เนื้อหาจาก TRUTHFORYOU.CO ระบุว่า “จากกรณีการเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎรที่ขณะนี้เหล่าแกนนำได้รับการปล่อยตัวอกมาแล้ว หลังจากที่ถูกจำคุกด้วยมาตรา 112 จากการเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ซึ่งการเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎร หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อหนึ่งในนั้นคือ การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการปล่อยข่าวลือต่างๆ และมีการสร้างเฟกนิวส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ถือว่า เป็นหนึ่งในยุทธวิธีของขบวนการทำลายชาติเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย
ล่าสุด ทางด้าน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการปฏิวัติ ว่า
สังคมหมดไฟ ปฏิวัติไม่ได้ สังคมที่ถูกทำให้เซ็ง แล้วปกครอง bore and rule ก้อไม่ได้ปฏิวัติ ความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ทำให้ชีวิตหมดพลัง หมดสิ้นการแสวงหา ครับ
อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มแกนนำและขบวนการทำลายชาตินี้ เป็นการเคลื่อนไหวตามยุทธวิธี ไม่ว่าจะเป็นการที่เพนกวิน ประท้วงอดอาหาร ก็เป็นหนึ่งในแนวทางการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การปฏิวัติ ซึ่งยังมีคนอื่นอีกจำนวนมากที่ไม่เอาด้วยกับม็อบ มองว่าม็อบยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากผู้ร่วมชุมนุมเริ่มลดลงแบบบางตา แถมยังเริ่มมีความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกครั้งที่มีการชุมนุม ม็อบเริ่มหมดความชอบธรรม
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 เฟซบุ๊ก Voice TV ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้บางช่วงที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เปิดมุมมองต่อคนรุ่นใหม่ ฝ่ายอนุรักษนิยม ชนชั้นนำ และหนทางตามวลีแห่งประวัติศาสตร์ที่ว่า “Thailand is the land of compromise” จะเป็นไปได้อย่างไร ณ จุดที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านอย่างถึงราก
นี่คือบทสนทนาบางส่วน…
วอยซ์ : นอกจากเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก 112 แล้ว เสียงของฝั่งรอยัลลิสต์ก็ไม่เบา อาจารย์มองอย่างไร กังวลใจไหมว่า ภาพแบบ 6 ตุลาฯ จะฉายซ้ำ
ชาญวิทย์ : กรณีของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ชุมนุมเมื่อกรกฎาคม 2563 เป็นสิ่งที่ผมประหลาดใจนะ แล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นด้วยซ้ำ ประหลาดใจมากๆว่า ความกล้าของเขาเรียกว่า ทะลุทะลวงข้อจำกัดเนี่ย ผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี กลับไม่พยายามหาทางมาเจอกัน ผมว่าน่าวิตก น่าห่วงมากๆ สถานการณ์โดยรวมซีเรียสนะครับ แต่ถามว่าน่าหมดหวังไหม น่าท้อถอยไหม ไม่นะ ผมว่าใช้คำว่าน่าจะยังมีโอกาส ถึงแม้ว่าผมจะไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่ผมอายุ 80 แล้ว เห็นโลกมายาวนานแล้ว ถ้าเรามองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของเรา และในโลกทั้งใบ ในที่สุดคงจะผ่านไปได้
วอยซ์ : อาจารย์มองเห็นความหวัง แปลว่า ทุกฝ่ายคงกลับมาคุยกันได้ใช่ไหม เหมือนดั่งประโยคที่ว่า “Thailand is the land of compromise”
ชาญวิทย์ : ผมคิดว่า คำว่า “Thailand is the land of compromise” เป็นคำที่งดงามมากๆ และเป็นคำที่โดยใครก็ตาม รวมทั้งผมด้วยก็คงหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ผมว่ามันเป็นวาทกรรม เป็นแนวคิดที่ว่าคนไทยมีอันนี้ แต่ในความจริงทางประวัติศาสตร์ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่ามันมีอยู่ในนี้ (ชี้ที่หัวตัวเอง) ก็น่าจะเป็นคุณสมบัติของเรา เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ถึงจนได้
และเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 64 ทางด้านของ “นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ผู้ต้องหาหนีคดี ได้โพสต์ข้อความถึงการประเมินสถานการณ์ม็อบผ่านทวิตเตอร์ว่า ตอนนี้ ไม่ว่าจะประเมินอย่างไร ต้องบอกว่า เรายังไม่พร้อม ยังมีคนจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เอาด้วยกับเรา นอกจากนี้ เฉพาะหน้า มีเพื่อนเราถูกจับ ไม่ให้ประกัน เราต้องยึดมั่นในใจไว้ให้ดี การปะทะตอนนี้ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น”
แน่นอน, ประเด็นที่นักวิชาการอเมริกัน และบุคคลระดับโลก ชำแหละ “ระบอบทักษิณ” ถือว่า ตรงใจคนไทยหลายคน รวมทั้งแง่มุมวิเคราะห์ก็ไม่ต่างจากคนไทยจำนวนมากที่ออกมาขับไล่ “ระบอบทักษิณ” เพราะมองเห็นหายนะทางการเมือง การปกครองที่จะตามมา รวมทั้งระบบผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจของทุนธุรกิจการเมือง ส่วนจะถึงขั้น ทำให้ประชาธิปไตยไทยตายไปด้วยหรือไม่ ถือว่า โชคดีที่วันนั้นยังไปไม่ถึง
แต่ถึงกระนั้น การออกมาเคลื่อนไหว และเดินเกมการเมืองถี่ยิบในช่วงนี้ของทักษิณและบริวารว่านเครือ ก็นับว่าน่าจับตามอง เพราะหลายคนเริ่มวิเคราะห์ว่า นี่คือ ความพยายามที่จะกลับมามีอำนาจทางการเมืองในประเทศไทยอีกครั้ง ใช่หรือไม่
และถ้าใช่ รวมทั้งหากทำได้จริง สิ่งที่นักวิชาการอเมริกันวิเคราะห์ ก็นับว่าน่ากลัว และถือว่า เป็นสิ่งที่คนไทยจะต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง ในการหลงเชื่อคำมั่นสัญญาอะไรต่างๆ เพราะเริ่มสัญญาว่า จะแก้เศรษฐกิจไทยให้สำเร็จภายใน 6 เดือนแล้ว
ส่วนประเด็นของ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรณีการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติสังคม และเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเบื้องต้นเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน” หรือ เปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันของพวกสามกีบนั้น
สิ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์ออกมาโพสต์ อาจไม่ใช่ความ “สิ้นหวัง” อย่างแท้จริง และยังถือเป็นการปลุกเร้า ยุยง ให้ “สามกีบ” ทั้งหลายต้องฮึดสู้อีกต่างหาก
โดยหยิบยกประโยคที่ว่า... “สังคมหมดไฟ ปฏิวัติไม่ได้ สังคมที่ถูกทำให้เซ็ง แล้วปกครอง bore and rule ก้อไม่ได้ปฏิวัติ ความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ทำให้ชีวิตหมดพลัง หมดสิ้นการแสวงหา” มาเป็นแรงกระตุ้นเตือน
ที่ต้องคิดให้หนักก็คือ คนอย่างอาจารย์ชาญวิทย์ ถ้ายอมแพ้อะไรง่ายๆ คงไม่สู้มาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นกองหนุนคนสำคัญยิ่งกว่าใครของม็อบ “3 นิ้ว” ก็ว่าได้
เหนืออื่นใด ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องฟันฝ่าอะไรบ้าง ที่ไม่เพียงแค่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายปี วิกฤตทางการเมืองที่ยังโงหัวไม่ขึ้น แล้วยังวิกฤตขัดแย้งแตกแยกของคนไทย
ประเทศใดในโลกก็ไม่เท่าประเทศไทย คิดดูก็แล้วกัน!