xs
xsm
sm
md
lg

การปราบปรามที่เทียนอันเหมิน: บ่อเกิด “ เหตุการณ์วันที่ 4 มิ.ย.” คืออะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คลื่นประท้วงเรียกร้องการเปิดกว้างปฏิรูปประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนจีนบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ปี 1989 ที่ถูกปิดฉากลงด้วยการนำกำลังทหารเข้าปราบปรามในวันที่ 4 มิ.ย.1989 (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
ในปี 1989 เป็นปีที่ “กำแพงเบอร์ลิน” ถูกพังทลายลง และเยอรมนีฝั่งตะวันออกหรืออดีตรัฐคอมมิวนิสต์ ได้โอบรับประชาธิปไตย ขณะเดียวกันขบวนการเคลื่อนไหวเสรีนิยมในจีนกลับจบลงด้วยเลือดและน้ำตาจากการที่รัฐบาลส่งกองทัพเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องการเปิดกว้างประชาธิปไตย และความโปร่งใสของรัฐบาล


เสียงปืนกึกก้องในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ปี 1989 และยังดังในห้วงความคิดของบางกลุ่มตลอดสามสิบกว่าปี แต่สำหรับจีนต้องการลบล้าง “ประวัติศาสตร์วันที่ 4 มิ.ย.” ซึ่งจีนเรียก “เหตุการณ์วันที่ 4 มิ.ย.” ดังนั้นจึงห้ามการถกเถียงและจัดกิจกรรมใดๆเพื่อรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนี้

กลุ่มนักหนังสือพิมพ์สนับสนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 พ.ค.1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
การประท้วงเรื่องอะไร?


หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมยุคประธานเหมา เจ๋อตง (1966-1976) ทศวรรษถัดมาคือ 1980 จัดเป็นยุคแห่งการเปิดเสรีและภาคเศรษฐกิจเอกชนตามนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง โดยมีผู้นำนักปฏิรูปที่โดดเด่น คือ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ หู เย่าปัง และนายกรัฐมนตรี จ้าว จื่อหยัง

ในยุคนั้นพรรคฯได้ปรับดุลอำนาจกับค่ายเสรีนิยมโดยผ่อนปรนอำนาจควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในขณะที่ค่ายอนุรักษ์นิยมระแวงสงสัยการทดลองใหม่ๆของรัฐบาล

ในยุคนั้นประชาชนต่างยกย่องผู้นำอย่างหู เย่าปังซึ่งไม่ได้รับความไว้วางใจจากพรรคฯหลังจากที่เขาแสดงความเห็นใจนักศึกษาที่เคลื่อนไหวการปฏิรูปเสรีการเมือง ในที่สุดผู้นำหูถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ในปี 1987 และผู้ที่ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคฯแทนเขา คือ จ้าว จื่อหยัง ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขับดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ต่อมาเขาได้แสดงความเห็นใจขบวนการนักศึกษาที่เคลื่อนไหวการปฏิรูปการเมือง

จ้าว จื่อหยาง (กลาง) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ขณะนั้น (1989) ขึ้นกล่าวแสดงความเห็นใจนักศึกษา และขอร้องให้กลับบ้านก่อนกองทัพเคลื่อนขบวนเข้าปราบฯ (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
ระบบเศรษฐกิจที่กลายเป็นใจกลางปัญหาในยุคนั้นคือระบบกำหนดราคาสองแบบ ได้แก่ สินค้าในโควตาของรัฐจะขายใน “ราคาอุดหนุนจากรัฐ” ขณะที่สินค้าที่ผลิตเกินโควต้าจะขายตามราคาตลาด

ระบบดังกล่าวได้สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ที่ได้สินค้าในราคาอุดหนุนจากรัฐและขายออกไปในราคาตลาดซึ่งสูงกว่าราคาที่ซื้อมา กลุ่มที่กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลนี้ก็คือบรรดาลูกๆหลานๆของผู้นำในพรรคฯ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ภาวะเงินเฟ้อกระฉูดและคอรัปชั่นกระจาย บรรยากาศความไม่พอใจในสังคมพุ่งสูงถึงขีดสุดในปี 1989

กอปรด้วยอสัญกรรมของผู้นำหู เย่าปังในเดือน เม.ย.ปีเดียวกัน ความขัดแย้งการเมืองในจีนก็ถึงจุดแตกหัก กลุ่มผู้ประท้วงเรือนแสนออกมาเดินขบวนโดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา นอกนั้นก็มีกลุ่มปัญญาชน นักดนตรี ศิลปิน คนงาน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และกระทั่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ

ชาวปักกิ่งล้อมรถหุ้มเกราะของกองทัพที่ขนทหาร 4,000 นาย บริเวณชานเมืองปักกิ่ง เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 1989(แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
กลุ่มประท้วงได้เคลื่อนมายังจัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งกรุงปักกิ่ง เพื่อแสดงความโกรธแค้น ความเศร้าอาลัยแด่อดีตผู้นำหูเย่าปัง พร้อมกับเรียกร้องสร้างระบบที่โปร่งใส และปราบปรามคอรัปชั่น ซึ่งเป็นสองเป้าหมายที่ผู้นำผู้วายชนม์พยายามผลักดัน

เวลานั้นยังเป็นช่วงที่พรรคฯควบคุมสื่ออย่างเบาะเบาที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ข่าวเกี่ยวกับการประท้วงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ในชั่วสองสามสัปดาห์นั้นประชาชนหลั่งไหลออกมาเดินขบวนประท้วงตามมณฑลต่างๆ

ในเดือน พ.ค. กลุ่มนักศึกษาบางคนได้เริ่มอดอาหารและนั่งประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยช่วงนั้นมีการคาดว่าประธานาธิบดีมิฮาอิล กอร์บาชอฟแห่งสหภาพโซเวียต จะมาเยือนกรุงปักกิ่ง

สำหรับ กอร์บาชอฟผู้บุกเบิกการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองในแดนหมีขาว นับเป็นผู้นำโซเวียตคนแรกที่มาเยือนจีนนับจากปี 1959 โดยกลุ่มนักศึกษาคิดว่าการอดอาหารประท้วงจะทำให้ผู้นำจีนเสียหน้า และกลุ่มนักศึกษาก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจจากต่างชาติ กลุ่มนักข่าวต่างชาติที่มายังปักกิ่งเพื่อรายงานข่าวการเยือนของกอร์บาชอฟ ได้เริ่มรายงานสดการอดอาหารประท้วงของนักศึกษาจีน

กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร?


ตอนแรกกลุ่มผู้นำในพรรคฯแตกคอกันว่าจะโต้ตอบการประท้วงอย่างไร บางผู้นำ อย่างเช่น จ้าวเสนอให้เจรจากับกลุ่มนักศึกษา ขณะที่คนอื่นๆผลักดันการโต้ตอบอย่างหนักข้อ ในที่สุดกลุ่มผู้นำอาวุโสนำโดยเติ้งเสี่ยวผิงก็ตัดสินประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค. 1989

กองทัพได้เคลื่อนเข้ามายังปักกิ่งแต่ก็ถูกชะลอโดยกลุ่มประท้วงที่แห่แหนมาขวางทาง โดยบางคนนอนบนถนนเพื่อหยุดขบวนรถทหารเข้าไปยังเมืองหลวง


แต่แล้ว ในคืนวันที่ 3 มิ.ย. ทหารก็เริ่มเปิดฉากยิง...

พาหนะหุ้มเกราะของกองทัพเหยียบเต็นท์ของกลุ่มประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 7 พ.ค. 1989 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
การปราบปรามอย่างนองเลือดข้ามวันข้ามคืน ทหารได้ใช้แก็สน้ำตา ปืนกล กระทั่งกระสุนหัวระเบิด (ที่จะเพิ่มฤทธิ์สังหารในตัวเหยื่อ) เพื่อสลายการชุมนุม

สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตแตกต่างไปตามแหล่งข่าวข้อมูลต่างๆ อาทิ ตัวเลขของคณะมุขมนตรีจีนรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต ประมาณ 300 คน ขณะที่สหพันธ์นักศึกษาอิสระ (Beijing Independent Student Union) เผยตัวเลขผู้เสียชีวิต มากถึง 4,000 คน

หลังเหตุการณ์นองเลือด นานาชาติได้ออกมาโต้ตอบอย่างทันควัน อาทิ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ประกาศแช่แข็งทางการทูตกับจีน ส่วนสหรัฐฯและอียูประกาศคว่ำบาตรด้วยมาตรการต่างๆมากมาย

ในฮ่องกงซึ่งตอนนั้นยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ ประชาชนกว่าล้านได้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนสนับสนุนขบวนการนักศึกษาและประท้วงปฏิบัติการทหารในจีน

หลังการปราบรามนองเลือด พรรคฯได้ปลดกลุ่มผู้นำในค่ายเสรี โดยเฉพาะจ้าว จื่อหยัง ถูกกักตัวในบ้านพักจนวันสุดท้ายของชีวิต นอกจากนี้ยังมีการไล่ล่าไปทั่วแผ่นดิน โดยอดีตนายกฯหลี่ เผิง ออกมาประกาศว่าผู้ที่สนับสนุนหรือเข้าร่วมการประท้วงจะโดนจับขังคุก

ชายจีนยืนขวางทางรถถังที่กำลังเคลื่อนเข้ามายังจัตุรัสเทียนเหมินในเช้าวันที่ 5 มิ.ย.1989 (แฟ้มภาพ เอพี)
ปฏิบัติการช่วยเหลือลับ ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการนกสีเหลือง” (Operation Yellow Bird) ถูกจัดตั้งในฮ่องกง และเชื่อกันว่าได้ช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลหลายร้อยคนหนีออกจากแผ่นดินใหญ่ โดยปฏิบัติการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากนักธุรกิจ เซเลป และประชาชน

ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ห้ามการถกเถียงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “เหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดที่เทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิ.ย.1989” ไปยันการเซนเซอร์ตัวเลขที่จะเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะ 6/4/1989

สำหรับในฮ่องกงที่ยืนหยัดจัดงานรำลึก “เหตุการณ์ 6-4” มาโดยตลอดทุกปี ปีนี้นับเป็นปีที่สองที่จีนประกาศห้ามจัดงานรำลึกโดยอ้างเหตุผลมาตรการควบคุมโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น