“จิตตนันท์-นิพัทธ์” ชวดคืนสิทธิผู้สมัคร กสม. ศาล รธน.ชี้แม้มติ คกก.สรรหา ตัดสิทธิเหตุเป็นอดีต สนช.ถือว่าเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ไม่ชอบด้วย กม. แต่ไม่ขัด รธน. เหตุไม่เคยเสนอคนเคยเป็น สนช.นั่ง กสม. ชี้ สนช.แค่คนทำหน้าที่แทน ส.ส. ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน
วันนี้ (12 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตัดสิทธิ น.ส.จิตตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกจากการเป็นผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10(18) เป็นมติที่ขัดต่อกฎหมาย แต่ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 27
โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 10 บัญญัติลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง กสม. ไว้ว่า กสม. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (18) เป็น หรือเคยเป็นส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา ซึ่งเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 202(4) ที่บัญญัติลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา และรัฐธรรมนูญมาตรา 216(3) ที่บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึง กสม. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 ด้วย โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 6 บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกไม่เกิน 250 คน ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และ รัฐสภา ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 263 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติ ให้ระหว่างยังไม่มี ส.ส.และ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ สนช. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ยังคงทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และรัฐสภาต่อไป และให้สนช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 60 ยังคงทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 ว่า บทเฉพาะกาลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญซึ่งจำเป้นต้องมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนกับฉบับปัจจุบันเพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่น เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในระยะเริ่มแรก รวมทั้งเพื่อให้องค์กรนั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดช่องว่างอันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ต้องหยุดชะงัก จนกว่ากลไกที่เกิดขึ้นใหม่ หรือใช้บังคับมีความพร้อม หรือสามารถดำเนินการได้แล้วแต่กรณี
“การปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. จึงอยู่ในฐานะของการทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว.และสมาชิกรัฐสภาชั่วคราวในสถานการณ์จำเป็นระหว่างที่รอให้มีการจัดตั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประกอบกับ เมื่อพิจารณาคุณสมบัติที่ว่า ระยะเวลาในการดำรงแหน่ง และกรณีอื่นอีกหลายประการของ สนช. มีความแตกต่างจาก ส.ส.และ ส.ว. การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรค 1 บัญญํติให้ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ตามลำดับนั้น ย่อมหมายความถึงการให้ สนช. ทำภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบอย่าง ส.ส.และ ส.ว. และสมาชิกรัฐสภา โดยเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนในระหว่างยังไม่มี ส.ส. ส.ว.และรัฐสภา แต่มิได้หมายความว่า สนช. เป็น ส.ส.หรือ ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภาแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ น.ส.จิตตนันท์ และพล.อ.นิพัทธ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็น สนช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จึงไม่ถือว่าเป็นหรือเคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.แต่อย่างใด การที่คณะกรรมการสรรหา กสม.มีมติตัดสิทธิ น.ส.จิตตนันท์ และ พล.อ.นิพัทธ์ ในการเข้ารับการสรรหาเป็น กสม. ด้วยเหตุที่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.รป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มาตรา 10(18) จึงเป็นมติไม่ชอบด้วย พ.รป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มาตรา 10(18)
ส่วนที่ผู้ร้อง โต้แย้งว่า มติของคณะกรรมการสรรหา กสม.ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันซึ่งมีมติว่าการเป็น สนช. ไม่ถือเป็นส.ส.หรือ ส.ว. อันเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 61 มาตรา 11(18) มติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค เป็นกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 นั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการสรรหา กสม.เคยให้ผู้อื่นที่เป็นหรือเคยเป็น สนช. ได้รับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งเป็น กสม. แต่ปรากฏตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสม. ว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหา กสม.วินิจฉัยมาโดยตลอดว่า บุคคลใดที่เคยเป็นหรือเคยเป็น สนช.มีลักษณะต้องห้าม ทำให้ไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหาได้ จึงไม่มีความแตกต่างในการวินิจฉัยของผู้ร้องเรียนทั้งสอง มติดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ซึ่งเมื่อวินิจฉัยแล้วว่า มติดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการเพิกถอนมติและการคืนสิทธิการเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.แก่ น.ส.จิตตนันท์ และ พล.อ.นิพัทธ์