หนี่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส “ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” ร้องประธานกรรมการสรรหาฯ ชี้แจงการให้คะแนนต่อผู้สมัคร และเหตุผลที่ไม่ให้ผู้สมัครเพียง 5 ราย ให้กรรมการนโยบายมีส่วนร่วม หลังพบว่าคัดเลือกจาก 5 คนเหลือ 2 คน และเห็นว่า คณะกรรมการสรรหามากันไม่ครบ แนะเปิดโอกาสให้คนที่ได้คะแนนที่ 3 และ 4 แสดงวิสัยทัศน์รอบสุดท้ายเพื่อความชัดเจนและโปร่งใส
วันนี้ (10 พ.ค.) นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้ทำหนังสือถึงนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ของคณะกรรมการสรรหา โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ชี้แจงกรอบกฏเกณฑ์การให้คะแนนต่อผู้สมัคร และเหตุผลที่ไม่ให้ผู้สมัครทั้ง 5 ราย ให้กรรมการนโยบายได้เข้าร่วมรับฟังซักถามมีส่วนร่วม เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการสรรหามากันไม่ครบ และถามว่าระเบียบอำนาจสรรหา มีรายละเอียดอย่างไร และครบองค์ประกอบในการทำหน้าที่หรือไม่ เพื่อให้คนที่ได้คะแนนอันดับ 3 และ 4 ได้มีโอกาสให้กรรมการนโยบายได้พิจารณาอย่างชัดเจนและโปร่งใส
ในหนังสือระบุว่า อันเนื่องมาจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อมวลชนชั้นนำของสังคมไทย และดำเนินนโยบายโดยใช้งบประมาณภาษีพิเศษของประเทศชาติ ถือเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่สำคัญของสาธารณะ เป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคม มุ่งส่งเสริมสิทธิและโอกาสของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง ผู้สมัครทั้ง 5 ท่านคงมีความภูมิใจไม่น้อยที่ได้มีโอกาสไปสมัคร เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาได้มีโอกาสทำหน้าที่คัดสรร เลือกสรร สอบถามวิสัยทัศน์อย่างเต็มกำลัง ในสมัครครั้งแรกก็มาสมัครกันน้อย จนต้องมีการขยายเวลาให้มีผู้สมัครมากขึ้น เพื่อให้องค์กรไทยพีบีเอสได้มีโอกาสแสวงหาคัดสรรทรัพยากรบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ สร้างสรรค์สติปัญญาและข้อมูลข่าวสาร ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย
ผมเองในฐานะผู้สมัครคนหนึ่งซึ่งทำงานในวิชาชีพด้านสื่อมวลชน รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เข้าสู่การสรรหา เมื่อมีโอกาสได้เสนอตัวไปสมัครเป็นผู้บริหารให้กับองค์กรสำคัญด้านสื่อของสังคมไทย มีความเห็นว่า มีความจำเป็นอยู่เอง ที่คณะกรรมการสรรหาจะสร้างโอกาสที่เปิดกว้างให้แก่กรรมการนโยบายซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ได้รับฟังวิสัยทัศน์ สอบซักถามวิสัยทัศน์ผู้สมัคร ซึ่งมีกันเพียงแค่ห้าคนเท่านั้นเอง ให้ได้มีโอกาสร่วมสอบถามวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ตรวจสอบคัดสรรผู้สมัครอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีบรรยากาศการซักถาม แสดงความภูมิความรู้ ปฏิภาณวิสัยทัศน์ขององค์กรสื่อสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการนโยบายได้เข้าถึงตัวบุคคลที่มีกันเพียงแค่ห้าท่าน ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ ร่วมซักถาม ร่วมกับคณะกรรมการสรรหา และอาจจะเชิญผู้บริหารบรรณาธิการหัวหน้าส่วนงานร่วมรับฟัง อาจจะไม่มีโอกาสให้คะแนน แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการรับรู้การมีส่วนร่วมเพื่อหลอมรวมช่องว่างในการทำงานเพื่อบ้านเมืองและสาธารณะ
จึงเรียนสอบถามและปรึกษาหารือมายังประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ว่า
- ในการเชิญผู้สมัครไปแสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ในการพิจารณามีกรอบกฏเกณฑ์การให้คะแนนต่อผู้สมัครอย่างไรบ้าง? มีรายละเอียดเกณฑ์การพิจารณาความรู้ความสามารถของแต่ละท่านให้คะแนนแก่ผู้สมัครกันอย่างไร?
- ขอทราบเหตุผลเมื่อมีผู้สมัครเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครซึ่งมีกันน้อย ให้กรรมการนโยบายได้เข้าร่วมรับฟังซักถามมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงในระดับนโยบายขององค์กรได้เข้าถึงโอกาสแห่งการเลือกสรร สอบวิสัยทัศน์ สักถามแสวงหาทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ
- ทราบว่าคณะกรรมการสรรหามากันไม่ครบ ประธานคณะกรรมการสรรหาได้ใช้ระเบียบอำนาจสรรหามีรายละเอียดอย่างไร และครบองค์ประกอบตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไม่? ในการทำหน้าที่
ผมเองในฐานะผู้สมัครคนหนึ่ง รู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสแสดงตัวเข้าสู่การสมัคร เพื่อให้องค์กรสาธารณะ หรือหน่วยงานราชการของสังคม ได้มีโอกาสเฟ้นหาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความมุ่งมั่น อุทิศตัวทำงานให้บ้านเมืองและหน่วยงานราชการ ผมเองมีประสบการณ์ในการได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหลายองค์กร รวมทั้งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประธานศาลฏีกาเป็นประธานคณะสรรหามีผู้สมัครมากถึง 80 คน ผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์และมีใจมุ่งมั่นทำงานให้สาธารณะ ได้รับเกียรติถูกซักถามสอบถามวิสัยทัศน์ทั้ง 80 คนอย่างเต็มที่ โดยคณะกรรมการสรรหาแม้จะเหน็ดเหนื่อย ทั้งผู้สมัครและกรรมการสรรหาต่างก็เสียสละทุ่มเท “สร้างวัฒนธรรมของการคัดสรรบุคคลากรให้กับองค์กรสาธารณะของประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ”
ผมเองในฐานะผู้สมัครคนหนึ่งที่พอมีความรู้ความสามารถในการทำงานด้านสื่อมา 30 ปี เชื่อว่า ผู้มาสมัครผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ทั้ง 5 ท่าน เป็นคนมีความรู้ความสามารถเต็มเปี่ยม และผมเองเชื่อว่าเป็นผู้สมัครคนหนึ่งที่น่าจะได้คะแนนน้อยที่สุด แต่ก็อยากจะเรียนปรึกษาหารือมายังประธานกรรมการสรรหาว่า จะทำอย่างไรให้ผู้สมัครผู้ที่มีความตั้งใจทำงานให้กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย คนที่ 3 หรือคนที่ 4 ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงวิสัยทัศน์ ได้รับเกียรติแห่งสิทธิของการเข้าร่วมการเลือกสรรที่ดี ให้คนที่ได้คะแนนที่ 3 หรือที่ 4 ได้มีโอกาสให้กรรมการนโยบายซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ส.ส.ท. ได้เข้าถึงการแสวงหาบุคคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจน โปร่งใส
จึงเรียนปรึกษาหารือและสอบถามหลักเกณฑ์ต่างๆ มายังประธานกรรมการสรรหา ได้โปรดชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร อันจะเป็นการสร้างความโปร่งใส และก่อให้เกิดประโยชน์ กับองค์กรสื่อมวลชนสาธารณะที่สำคัญของสังคมไทย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สืบเนื่องมาจาก ส.ส.ท. หรือไทยพีบีเอส ได้เปิดรับสมัครรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งมีผู้ยื่นใบสมัครทั้งสิ้น 6 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที, นางศศิธร พงศธร, ผศ.ดร.มานพ กาญจนบุรางกูร, นายนุวีร์ เลิศบรรณพงษ์ และนายวรรณธนพล หิรัญบูรณะ แต่ภายหลังนายนุวีร์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอถอนตัวจากการสมัคร ทำให้เหลือผู้สมัครเพียง 5 ราย และประกาศรายชื่อบุคคลผู้สมัครเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และคัดเลือกให้เหลือผู้ที่เหมาะสมไม่น้อยกว่า 2 คน และไม่เกิน 5 คน โดยได้จัดการแสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา
ต่อมาวันที่ 7 พ.ค. คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้เสนอรายชื่อพร้อมประวัติและผลงานของผู้ที่เหมาะสมเพื่อรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ จำนวน 2 คน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาคัดเลือกรอบสุดท้ายและแต่งตั้งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้แก่ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล และ ผศ.ดร.มานพ กาญจนบุรางกูร โดยคณะกรรมการนโยบายจะดำเนินกระบวนการคัดเลือกรอบสุดท้าย โดยเชิญผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 ราย เข้าสัมภาษณ์ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 ต่อไป
อนึ่ง สำหรับ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ดำรงตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส มานาน 3 ปี โดยระหว่างปี 2548-2559 เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.อาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทั่งปี 2559-2560 เป็นรอง ผอ.ไทยพีบีเอส