บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยเดือน พ.ค. ผันผวนต่อจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลเกิด Sell in May หรือการเทขายหุ้นในเดือนพ.ค. บวกนักวิเคราะห์จ่อทบทวนผลการดำเนินงานทั้งปีหลังประกาศงบไตรมาส 1/64 จบ เพื่อสะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ให้กรอบดัชนี 1,550-1,630 จุด
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนพฤษภาคมว่า มีแนวโน้มปรับตัวลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งยังมีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องใน กทม.และต่างจังหวัด ทำให้คาดว่าจะเกิด Sell in May หรือการเทขายหุ้นในเดือน พ.ค.
อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนได้ทยอยประกาศผลการดำเนินงานออกมาซึ่งวันที่ 17 พ.ค.64 จะเป็นวันสุดท้ายในการแจ้งผลประกอบการ คาดว่าจะมีการประเมินตัวเลขผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนใหม่ เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในขณะนี้ รวมทั้งการจ่ายปันผลงวดปี 2563 ที่ขึ้น XD ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เริ่มทยอยจ่ายปันผลออกมาทำให้มีการขายทำกำไรออกมา จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนนี้จะอยู่ในกรอบ 1,550-1,630 จุด
ส่วนปัจจัยที่ยังคงต้องจับตานั้นยังคงเป็นการติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้อย่างไร รวมทั้งตัวเลข GDP ว่าจะสามารถเติบโตในระดับใด ซึ่งในเดือนนี้ทาง ส.อ.ท. จะมีการแถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ทั้งยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ก็จะมีการแถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า รวมทั้งทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค และการประชุมสภาสมัยสามัญ
ขณะที่ปัจจัยตัวเลขเศรษฐกิจของต่างประเทศ เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อียูเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และจีนเปิดเผยดัชนี PMI ภาคบริการดุลการค้าเดือน เม.ย. รวมทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือน เม.ย. สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ เช่น PTTEP, PTTGC, IVL และ IRPC รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกไตรมาสแรกขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางราคาทองคำในเดือนพฤษภาคม ว่า ราคาทองคำยังมีความผันผวน โดยให้กรอบทองคำในเดือนนี้ที่ 1,750-1,840 $/Oz และแนะนำให้กลับมาเล่นฝั่ง Long เนื่องจากในทางเทคนิคราคาทองคำสามารถผ่านแนวต้านที่ 1,750$/Oz ขึ้นมาได้ อีกทั้งทองคำตอบสนองต่อข่าวร้ายลดลง แต่ตอบสนองต่อข่าวดีเพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณของการกลับตัวเพิ่มเติม