พันธุ์ศักดิ์ ซาบุ
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่
หากสังคมจะเริ่มนับความผิดหวังกับการสรรหา กสทช. ในทุกย่างก้าวของกระบวนการสรรหากว่าจะจบ สังคมจะนับความผิดหวังได้ทั้งหมดถึงกี่ครั้ง?
นับจากรัฐธรรมนูญ 40 รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับแรกและฉบับเดียวที่บัญญัติให้ “ทรัพยากรคลื่นความถี่” เป็นของประชาชน อันเป็นที่มาของ พรบ. กสทช. 2543 และมาแก้ไขเพิ่มในปี 2553 ที่ให้อำนาจประชาชนเพิ่ม โดยให้ กสทช. ส่วนหนึ่งมาจากประชาชน มีจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐธรรมนูญ และประชาชน ด้วยการให้องค์กรวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาสังคม และภาคอุตสาหกรรม แต่ละภาคส่วนคัดเลือกกันเองแล้วเสนอชื่อขึ้นมาให้วุฒิสภาเลือก ซึ่งไม่ว่าคนในภาควิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม คนในวงการนั้นๆ ต่างก็จะเห็นหน้ากันเองมาตลอดเป็นสิบๆ ปีว่าใครคือผู้เชี่ยวชาญใครคือนักวิชาการตัวจริงเหมาะสมที่จะเป็น กสทช. เสียงสะท้อนชื่นชมหรือร้องยี้เหล่านั้นจะช่วยให้ สว. ที่ไม่มีความคุ้นเคยในวงการสื่อสารได้เห็นทิศทางที่เหมาะสม
แต่ภายหลังรัฐประหารของ คสช. ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไป พรบ. กสทช. ถูกแก้ไขในปี 2560 โดยตัดที่มา กสทช. จากประชาชนไปหมดสิ้น แล้วยกอำนาจประชาชนไปให้คณะกรรมการสรรหา 7 คน ตัดสินใจแทน และเพิ่มคุณสมบัติผู้เป็น กสทช. ว่า เป็นทหารหรือตำรวจยศ “พันเอก” และกลายมาเป็น “ยศพลตรี” ขึ้นไปใน พรบ. กสทช. 2564 แค่เป็นทหารหรือตำรวจชั้นนายพลเหล่าไหนก็ได้ คุณสามารถเป็นผู้กำกับดูแลกิจการสื่อสารของชาติได้หมด ไม่ว่าเหล่า เสนารักษ์ สุนัขทหาร สารบัญ ราบ ปืนใหญ่ เราเปิดกว้าง พรบ. กสทช. ไม่ติด ทหารและตำรวจทุกเหล่าน่าจะเคยเรียน และมีประสบการณ์ด้านการกำกับดูแลกรสื่อสารมาทั้งหมด แต่ทางตรงกันข้ามลองจินตนาการนึกถึงหน้าบรรดาผู้เชี่ยวชาญตัวจริงนักวิชาการตัวจริงที่คนในวงการคุ้นเคยยอมรับนับถือ แทบไม่มีโอกาสเข้าสมัคร เรามาดูว่าหน้าที่ กสทช. คืออะไรกัน
กสทช. ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารของชาติ แล้วกำกับไปทางไหน? กสทช. ไม่ใช่องค์กรตุลาการที่ต้องการคนเป็นกลางมานั่งตัดสินใจข้อพิพาท แต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารตัวจริงๆ เป็นผู้นำพากิจการสื่อสารของชาติพัฒนาบ้านเมืองในทุกมิติ ไม่ใช่กระทรวงดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลไม่มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ประกอบกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม แล้วจะนำพาได้ไง
กสทช. เปิดเสรีในการแข่งขันทุกตลาดสื่อสาร ซึ่งก็ใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ตลาดแข่งขันเสรีในการกำกับดูแลว่า ทำอย่างไรตลาดจะแข่งขันคุณภาพให้ดีราคาถูก ประเทศก็ได้เครือข่ายสื่อสารประสิทธิภาพสูง ประชาชนก็ได้ใช้ของถูก รัฐก็ไม่ต้องลงทุนเอง ยังมีรายได้เข้ารัฐอีก ส่วนหน้าที่อีกด้านคือใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารโดยเฉพาะความรู้เรื่องข้อบังคับวิทยุสากล (Radio regulations) ที่ ITU และสมาชิกประเทศทั่วโลกเห็นพ้องลงมติร่วมกัน ว่าจะนำไปออกบังคับใช้ในประเทศของตนให้สอดคล้องต้องกันอย่างไร
อำนาจหน้าที่ กสทช. ถูกบัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 27 มีทั้งหมด 25 วงเล็บ ผู้เขียนได้ยกตารางย่อถ้อยคำขึ้นมาให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าหน้าที่ กสทช. ต้องการคนมีความรู้ และประสบการณ์เรื่องใดในการกำกับดูแลกิจการสื่อสารชาติดังนี้
จากตารางจะเห็นว่า อำนาจหน้าที่ กสทช. ตามมาตรา 27 นั้น ใช้ผู้มีความรู้ และประสบการณ์หลักๆ ทางด้าน วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร และเศรษฐศาสตร์ เป็นหน้าที่หลักของ กสทช. โดยบังคับใช้เป็นกฎหมาย
กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแล ทั้งการประกาศบังคับใช้ และการดำเนินคดี ไม่ใช่ภารกิจหลักของ กสทช. และเป้าหมายสูงสุดของการกำกับดูแลตลาดแข่งขันคือ “มีกฎหมายให้น้อยที่สุด” เขาเรียกกันว่าเมื่อตลาดแข่งขันแล้วต้อง Deregulation ถอนข้อบังคับออก ให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันมากขึ้นหลากหลายมิติ
นับตั้งแต่ คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรแถลงร่าง พรบ. กสทช. 2564 ต่อสภา โดยประธานคณะกรรมาธิการ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แก้กฎหมายให้ตัด กสทช. ด้าน วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และกฎหมายออก โดยเพิ่ม เอ็นจีโอ เข้ามาอีกหนึ่งด้าน และเพิ่มคำว่า “กสทช. ด้านอื่นๆ” เข้ามาแทนสองตำแหน่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าคืออะไร และมีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้หรือไม่ ให้น่าสงสัยใบสั่งจากใคร ทั้งที่มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสารเบอร์ต้นๆ ของไทย คัดค้านว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากกำลังตัดนั่นคือ “ภารกิจหลัก” ของ กสทช. ไปตัดทิ้งทำไมกัน ทำไมไม่ตัดภารกิจรอง เป็นที่ตั้งข้อสงสัยไม่ได้เลยว่า “หาที่ทำงานให้ทหารหลังเกษียณ” สังคมก็กลับมาตั้งความหวังที่คณะกรรมการสรรหา
ล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาเมื่อวานนี้ ที่ประชุมกรรมการสรรหาถกกันว่า กสทช. ด้านอื่นๆ คืออะไรกันนะ ก็คงมาติดเรื่องหน้าที่ตามกฎหมายที่อดีตรัฐมนตรีพุทธิพงษ์เผื่อเอาไว้ เผื่อมีด้านอื่นๆ ในอนาคต แต่ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ จะมีด้านอื่นๆ ได้อย่างไรกันเล่า ลองหันไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเช่น คณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรารู้ว่าภัยไซเบอร์เป็นเรื่องใหญ่ รัฐควรมีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้ ทีนี้เราลองจินตนาการดูว่า คนมีคนแบบไหนมาทำงาน แล้วลองเสิร์ชดูว่า ใครกันบ้างเป็นกรรมการ เกี่ยวอะไรกับไซเบอร์มาก่อนไหม
คณะกรรมการสรรหาตัด กสทช. ด้านวิศวกรรมทิ้งไป ให้เหลือด้านเศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย ทั้งที่ กสทช. ด้านวิศวกรรมคือภารกิจหลักที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อบังคับวิทยุสากล ซึ่งมีมากกว่าสามพันมาตรา ว่าด้วยเรื่องวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร อาทิ การจัดสรรคลื่นตามหลักวิศวกรรมแม่เหล็กไฟฟ้า การออกแบบสถานีกับธรรมชาติการแทรกสอดของคลื่น เทคโนโลยีการรบกวนต่างๆ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้สำหรับคนทั่วไป และเป็นหน้าที่ๆ ต้องทำประจำวันมากที่สุดตามมาตรา 27 พรบ. กสทช.
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคม ไม่ได้มีความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารกันทุกคน บ้างก็เป็นผู้ประกาศ บ้างก็เป็นนักกฎหมาย บ้างก็เป็นนักธุรกิจ นักนิเทศศาสตร์ นักประชาสัมพันธ์ และเป็นทหาร โดยเฉพาะทหารนี่คือผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุกระจายเสียง ด้านโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ตัวจริง!!!
ทำไมทหารเก่งหมดเลย? ไม่เหลือที่ยืนให้คนที่เรียนมาโดยตรงทำงานมาโดยตรงได้มีโอกาสพัฒนาบ้านเมืองเลยกระนั้นหรือ? ลองหาข้อเท็จจริงอะไรมาชี้วัดดู เช่น ทหารเก่งกฎหมาย ทหารเรียนกฎหมายบ้างหรือไม่? จบเนติฯ ? หรือจบตรี? ถ้าตอบว่าไม่ใช่แล้วทำไมเก่งกฎหมายจัง ทหารจบวิศวกรรม แล้วทหารเก่งวิศวกรรมหรือไม่? เอาแค่ใบอนุญาตขั้นต้นของวิศวกรจบใหม่ ทหารแก่สอบให้ผ่านได้ก่อนจะมีสักกี่คน เอาเด็กจบตรีวิศวกรรมสักคนมานั่งดีเบตกับพลเอกสักคนดูสิ
ทหารเก่งทุกอย่างเป็นอะไรได้หมดเลย แต่ไม่เคยมายืนบนเวทีและทำให้ประชาชนลุกขึ้นปรบมือชื่นชมได้เลยตบตาได้เฉพาะ กรรมการสรรหา และ สว. แต่สื่อมวลชน และบรรดาคนในวงการสื่อสารไม่ได้เห็นด้วย จะไปเหมารวมด้วยวิสัยทัศน์ที่มืดบอดของคณะกรรมการสรรหามาจินตนาการภาพสร้างไม่ได้
ด้วยความเคารพ คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่จริง แต่ท่านไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสาร เรื่องสำคัญที่ท่านต้องยอมรับก่อน ท่านรู้เท่าที่ท่านรู้ในวงจำกัดของที่ประชุมในการตัดสินใจ ไม่ได้เกิดจากการรู้ทั้งหมดแล้วตัดสินใจ ท่านควรจะลองขอความเห็นบ้างจากองค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชน สื่อมวลชน ธุรกิจ และการศึกษา ว่า กสทช. ควรมีด้านใดหรือคุณสมบัติอย่างไรบ้าง แม้รัฐบาล คสช. จะตัดอำนาจประชาชนไป แต่ก็เปิดช่องไว้ให้ท่านทำได้หากมีเมตตา
ข่าวการตัด กสทช. ด้านวิศวกรรมออกไปเป็นการรับประกันว่า เราจะไม่มี กสทช. ที่พูดเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมเชื่อใจได้ เราจะไม่มีคนทำหน้าที่หลักตามมาตรา 27 ได้ ทั้งที่มีหลายมาตราเหลือเกิน แต่การส่งเสริมสิทธินั้นมีเพียงข้อเดียวเท่านั้นที่บัญญัติไว้ให้ เอ็นจีโอ เข้ามา
ทิศทางการสรรหา กสทช. ดูเหมือนพยายามตัดโอกาสผู้เชี่ยวชาญตัวจริงออกไป และให้โอกาสทหารหรือข้าราชการเกษียณที่ไม่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อสารเข้ามาให้มากที่สุด กระบวนทัศน์กรรมการสรรหาไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าเลือกคนที่เรียนจบสูงๆ มีตำแหน่งสูงๆ ไม่มีทางที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาได้ ถ้าแน่จริงด้านกฎหมาย กับเศรษฐศาสตร์ ให้ระบุความเชี่ยวชาญกฎหมายสื่อสาร 10 ปี เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์สื่อสาร 10 ปี เฉพาะทางมาด้วยสิ ไม่ใช่อะไรก็ได้
อย่างไรก็ตามการรับสมัคร กสทช. ไม่มีการตัดชื่อผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติ เปิดโอกาสให้ผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติได้รับเลือกได้ แล้วไปตกชั้น สว. เช่นเคย ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ให้ข้อมูลเท็จในใบสมัคร แต่โปรโมชั่นผู้สมัครทุกคนจะได้รับสิทธิพิเศษมากมายที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง นอกจากเข้าชมพิธีกรรมการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นโรงละครอย่างหนึ่งที่น่าสนใจแล้ว ผู้สมัครทุกคนจะมีชื่อชั้นในแถวหน้าวงการสื่อสาร และมีโอกาสได้รับการทาบทามจากนายทุนเชิญกินข้าวฟรี จิบไวน์ฟรี มีสปอนเซอร์ให้ เขาหว่านพืชเป็นปกติวิสัยกับตัวเก็งได้ทุกคนอยู่แล้ว เรียกได้ว่าใครไม่เข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นน้ำไม่ถือว่ารักกันจริง มาทีหลังนี่หมดราคาเลย และจะแพงมาก นี่คือหนึ่งสาเหตุหรือไม่ที่ต้องสรรหาแล้วล้ม สรรหาแล้วล้ม ไม่รอสปอนเซอร์ 6-8 ปี ครั้งหนึ่ง หวังว่าจะมีผู้สมัครสัก 20,000 คน ในครั้งนี้ เพราะกรรมการสรรหามีโอกาส แต่ไม่วางบรรทัดฐานเรื่องคุณสมบัติไว้ อย่างไรก็ตามก็อยากให้วินทุกฝ่าย แม้สังคมจะนับความผิดหวังไปเรื่อยๆ จบกี่ครั้ง ก็ขอให้สรรหา กสทช. ได้ครั้งนี้ โปรดติดตามชมตอนต่อไป