นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความผิดหวังผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลง ระบุ ตนเองผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาด ยัน เป็นการตอกย้ำความเสียหายของระบอบประยุทธ์ จำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากต้องการหลุดออกจากความวิปริตนี้
จากกรณี ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ 160(6) มาตรา 98(10) และมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) จากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือน มี.ค. 37 ว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดสั่งคุก 6 ปี แต่จำคุกจริง 4 ปีก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย ร.อ.ธรรมนัส จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งส.ส.และรัฐมนตรีหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลว่า คำพิพากษาจำคุกของศาลออสเตรเลีย ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (6 พ.ค.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก “พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu” เกี่ยวกับกรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รอด ไม่สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.- รมต. โดยได้ระบุข้อความว่า
“[ผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาด – ข้อกังขาของกรณี #ธรรมนัส และความจำเป็นในการร่วมลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ]
เมื่อวานเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราเห็นประชาชนจำนวนมาก ออกมาแสดงความผิดหวัง (แต่อาจไม่ผิดคาด) กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีความให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รอดจากการหลุดพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี โดยอ้างว่าการกระทำผิดของคุณธรรมนัสเกี่ยวกับคดียาเสพติด เกิดขึ้นนอกประเทศ เลยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) และ 160(6)
ถึงแม้เราจะตัดสามัญสำนึกพื้นฐานของเราออกไป และตีความจากแแค่บทกฎหมาย ก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่หลายคนรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล
1. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) และ 160(6) มีความชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เป็นบุคคลที่ปราศจากการกระทำความผิดร้ายแรง (รวมถึงการ ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือค้าขาย ยาเสพติด) – การตีความกฎหมาย จึงควรเป็นไปเพื่อปกป้องหลักการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ถูกเขียนอย่างชัดเจนว่าครอบคลุมการกระทำผิดตามกฎหมายของประเทศใด
2. ความผิดด้านการค้าขายยาเสพติด เป็นความผิดสากลทั้งในประเทศไทยและในประเทศออสเตรเลีย (หรือที่นักกฎหมายเรียกว่า double criminality) - การเปรียบเทียบความผิดที่เกิดขึ้นและถูกตัดสินในประเทศออสเตรเลีย ว่าจะตรงกับความผิดตามกกฎหมายไทยหรือไม่ หากเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก
แต่ถึงแม้เรายอมจำใจยึดตามคำวินิจฉัยของศาลในส่วนนี้ ก็ยังมีอีก 2 เหตุผลว่าทำไมคุณธรรมนัส ถึงควรหลุดออกจากตำแหน่ง (อย่างน้อยที่สุด คือตำแหน่งรัฐมนตรี)
1. ในกฎหมายส่วนอื่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) ระบุว่า รัฐมนตรีต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” - ไม่ว่าใครจะกระทำความผิดค้าขายยาเสพติดในมุมไหนของโลก คงยากที่จะบอกว่าคนๆ นั้น ผ่านคุณสมบัติข้อนี้ (และ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับมาตรานี้)
2. ถึงแม้จะถูกบิดทุกวิถีทางให้ไม่ผิดทางกฎหมาย แต่ในเชิงความรับผิดชอบทางการเมือง คงไม่เป็นการเรียกร้องมากจนเกินไป ที่จะคาดหวังให้นายกรัฐมนตรีไม่เลือกบุคคลที่มีประวัติความผิดเช่นนี้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี – ถ้าย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ ยังต้องถอนตัวออกจากการท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเพียงถูกข้อกล่าวหาเรื่องคดียาเสพติด การที่คุณธรรมนัสยังเลือกที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นชัดว่า ระบอบประยุทธ์ได้ทำให้วัฒนธรรมการเมืองของประเทศถดถอยและย้อนเวลาไปมากกว่า 30 ปี
หากเราถอยจากคดีของคุณธรรมนัส เพื่อมามองที่ภาพรวม เหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงความเสียหายที่ระบอบประยุทธ์ได้สร้างต่อ ความศรัทธาของประชาชนต่อความเป็นกลางของระบบตรวจสอบถ่วงดุล และ ความเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม
องค์ประกอบสำคัญของกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ คือ ความเป็นกลางทางการเมือง หรือความพร้อมที่จะตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคนทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น แต่ระบอบประยุทธ์กลับวางกติกาในรัฐธรรมนูญที่ทำให้สามารถควบคุมกลไกเหล่านี้ได้ ผ่านการแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง
ถึงแม้จะไม่มีคำวินิจฉัยที่น่าชวนตั้งคำถามอย่างเช่น กรณีเรื่องคุณธรรมนัสออกมา ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ในเมื่อ คสช. มีส่วนร่วมโดยตรงในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งชุดปัจจุบัน โดยการกำหนดให้ สนช. ที่ตนเองแต่งตั้ง (ในช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560) และ ส.ว.ที่ตนเองแต่งตั้ง (หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560) มีอำนาจชี้ขาดในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน
ที่ผ่านมา กฎหมายและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ที่ควรถูกบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน จึงกลับถูกบังคับใช้ด้วยสองมาตรฐาน มาตรฐานหนึ่งสำหรับพรรคพวกตนเอง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมใช้ประโยชน์จากทุกช่องโหว่ หรือสรรหาสารพัดข้อยกเว้น เพื่อยกเว้นความผิดหรือแม้กระทั่งนิรโทษกรรมการกระทำของตนเองในอดีต อีกมาตรฐานหนึ่งสำหรับคนที่เห็นต่าง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมบิดทุกการตีความหรือสรรหาสารพัดเงื่อนไข เพื่อสกัดกั้นหรือเอาผิดกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
จนนำมาสู่คำถามแทงใจประชาชนทุกคน ว่า
“อะไรจะถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ยังคงขึ้นอยู่กับการกระทำของคน หรือได้กลายมาขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนของใคร”
การหลุดออกจากความวิปริตนี้ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อกติกาที่บิดเบี้ยวและสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ผ่านการปฏิรูปที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน ให้มีที่มาที่เป็นกลางทางการเมือง (ถูกเสนอจากหลายฝ่าย) เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย (ได้รับเสียงข้างมากของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เช่น 2 ใน 3 ของ ส.ส.) และพร้อมตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ริบหรี่ลงในทุกวัน”