ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่พ้นจากตำแหน่ง โดยอธิบายว่าหลักกฎหมาย ผลการตัดสินของศาลออสเตรเลีย ไม่ผูกพันกับศาลไทย เพราะเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตย ผมเข้าใจและเห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
ศาลต้องตัดสินตามหลักกฎหมาย จะตัดสินตามอารมณ์ของคนในสังคมไม่ได้ ต้องยึดหลักการนี้เสียก่อนครับ ใจเย็น ๆ ครับพี่น้องประชาชน
ถ้าถามผมว่าอะไรคือสิ่งที่สมควร ไม่ควรตั้งคนมีประวัติด้างพร้อยเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น นี่คือความเห็นของผม
กรณีที่ใกล้เคียงคือศาลไทยสั่งปิดกั้น Facebook ไม่ได้ เพราะ Facebook ไม่มีนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย แต่อยู่ในประเทศที่เป็น tax heaven สำหรับ e-commerce เลยไม่ต้องเสียภาษีไทย และไม่ต้องทำตามกฎหมายไทย หากจะให้เสียภาษีให้ประเทศไทย อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายไทยแล้วรัฐบาลไทยก็ต้องบังคับให้มาจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย รับรู้รายได้ในราชอาณาจักรไทยตามหลักการบัญชี ศาลไทยจึงมีอำนาจบังคับกฎหมายได้
ย้อนกลับไปกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เคยออกมาแถลงให้ ส.ส. ในภาคเหนือคนหนึ่งที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ไม่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยได้ โดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดในสหรัฐอเมริกา
พันเอกพิเศษ ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และจบปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส ก็ออกมาแถลงโต้ทางการสหรัฐอเมริกาว่านี่เป็นเรื่องอธิปไตยของไทยเช่นกัน สหรัฐอเมริกาจะมามีอำนาจเหนือไทย เหนืออธิปไตยของไทยไม่ได้
อีกกรณีคือ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตสส. พรรคประชาธิปัตย์ ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก กลับมาประเทศไทยก็ถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ก็ไม่ได้พ้นจากตำแหน่ง สส. เพราะคำวินิจฉัยของศาลกัมพูชาไม่มีผลเหนืออำนาจอธิปไตยของศาลไทยและประเทศไทย โปรดอ่านรายละเอียดได้จาก https://mgronline.com/daily/detail/9540000012493 ทั้งนี้ส.ส.และรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ติดคุกเขมร ไม่ได้ติดคุกไทย จะขาดคุณสมบัติได้ยังไง”
เรื่องภายในก็เป็นเรื่องภายในประเทศ แยกขาดกันแบบนี้ จะให้ศาลต่างประเทศมามีผลผูกพันกับศาลไทยไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าศาลต่างประเทศมีอำนาจอธิปไตยเหนือศาลไทย
ส่วนความเหมาะสมในเชิงจริยธรรม หรือ เรื่องอื่น ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ ที่จริง ๆ ในสายตาผมคิดว่ามีความสำคัญมากเหลือเกิน
สิ่งที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องในเชิงจริยธรรมแต่อย่างใด และอาจจะไม่ได้ถูกต้องในทางการเมืองด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ผมว่าเป็นรอยด่างแผลของรัฐบาลครับ
แต่ผมมีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปตามหลักอำนาจอธิปไตยและหลักบูรณภาพแห่งดินแดน อันเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว
ไม่เช่นนั้น ศาลตัดสินในประเทศหนึ่ง จะมีผลผูกพันเหนือศาลอีกประเทศหนึ่ง ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำให้วุ่นวายไม่ใช่น้อย เพราะแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมและมีกฎหมายแตกต่างกันไป ผลผูกพันข้ามชาติข้ามแดนจึงต้องไม่มีในทางกฎหมาย
ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ คือขอบเขตอำนาจศาลของศาลต่างประเทศ ย่อมไม่ครอบคลุมขอบเขตอำนาจศาลของศาลไทย ผลการตัดสินคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ จึงไม่ส่งผลผูกพันต่อคำพิพากษาของศาลไทยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยเราก็จะสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไป
เรื่องนี้โยงกับปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเสียด้วยซ้ำในสายตาผม หากเราไปยอมรับผลคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มาผูกพันศาลรัฐธรรมนูญไทย
ส่วนคนที่มีหน้าที่ตรวจสอบ จะไปร้องจริยธรรม จะไปร้องเรื่องอื่น ๆ ต่อ ก็คงทำได้ครับ
อย่าลากศาลรัฐธรรมนูญไปตำหนิท่านเลยครับ ท่านทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายแล้ว อย่าไปดิสเครดิตท่านเลยครับ ยิ่งตอนนี้มีขบวนการพยายามดิสเครดิตสถาบันตุลาการอย่างรุนแรงมาก และพยายามโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยใช้คำที่แสนหยาบคายว่า ตุลาการใต้ตีนกษัตริย์ ทั้งๆ ที่ศาลทำงานในพระปรมาภิไธย แต่การโปรดเกล้าแต่งตั้งตุลาการ ย่อมมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามหลัก The king can do no wrong. จึงไม่ใช่เรื่องที่สมควรจะไปโยงเพื่อไปดิสเครดิตศาลและกระทบไปถึงสถาบัน ยิ่งสำหรับคนที่รักสถาบันด้วยแล้วยิ่งต้องใจเย็น แม้จะไม่ถูกใจไปทั้งหมด แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยยึดตัวบทกฎหมายเป็นบรรทัดฐานเป็นหลัก ต้องใจเย็นก่อนจะร่วมตำหนิติเตียนศาลไปกับคนที่ไม่หวังดีและจ้องจะดิสเครดิตสถาบันตุลาการ
ปล. ผมไม่ได้เห็นด้วยนะครับว่า ไม่ผิดในแง่จริยธรรม ถ้ามาทำแบบนี้พฤติกรรมค้าแป้งในไทย ศาลไทยตัดสินว่าผิด อันนี้ใช่เลยครับผม ผิดกฎหมายไทย เหตุเกิดในดินแดนไทย คนละเรื่องกัน