ข่าวปนคน คนปนข่าว
**จบมั้ย? “พลอย เฌอมาลย์” รับผิด เสียใจที่ประมาท-สะเพร่า หลังดรามา “เที่ยวยับ” ไม่ใช่ “เที่ยวทิพย์” ไม่เลิก ลามดาราคนอื่นๆ “ชมพู่-อารยา” ก็โดน
หลังจาก “พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์” ดาราสาวชื่อดัง ออกมาประกาศว่าติดเชื้อโควิด โดยไทม์ไลน์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลว่า ไม่ได้ #เที่ยวทิพย์ หากเป็น “เที่ยวยับ” จนกลายเป็นดรามา ทัวร์ลงอยู่หลายวัน
ทัวร์ที่มาลงส่วนใหญ่มองว่า “พลอย เฌอมาลย์” ไม่ได้สนใจสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดหนัก เที่ยวไปทั่วอย่างสบายใจ ทั้งๆ ที่คนชนชั้นกลางถึงล่างไม่มีจะกินอยู่แล้วจากการต้องกักตัว บางคนต้องปิดร้าน พักธุรกิจ
อีกด้านหนึ่งก็มองว่า “พลอยเฌอ” เธอไม่ได้ทำผิดอะไร ในแง่ของการไปท่องเที่ยวก็ถือว่าได้ช่วยธุรกิจท้องถิ่นที่กำลังลำบากเช่นกัน
กระนั้นก็ดี ดรามาพลอยไม่ยอมจบ แถมกระแสยังลุกลามไปสูดาราคนอื่นๆ ที่ถูกตรวจสอบโซเชียลว่าเข้าข่าย เที่ยวยับ แทนเที่ยวทิพย์ โดยโยงไปถึง “ชมพู่-อารยา” ดาราสาวชื่อดังอีกคนก็พลอยถูกลูกหลงจากดรามานี้ไปด้วย หลังเพิ่งกลับจากท่องเที่ยวกับครอบครัว
งานนี้ นางเอกสาว “พลอย เฌอมาลย์” จึงออกมาโพสต์ขอโทษกับสิ่งที่เธอได้ทำลงไปพร้อมยอมรับว่าตัวเองการ์ดตก สะเพร่า เข้าใจหากทุกคนจะโกรธ ไม่ให้อภัย
“พลอย” ย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาจะทำให้หลายๆ คนต้องเกิดความลำบากและเพิ่มงานให้กับหน่วยรัฐทีมแพทย์ และทีมพยาบาลและอีกหลายๆ ทีมที่ต้องมาทำงานหนักมากขึ้นเพราะพลอย
“พลอย” ขอยอมรับผิดที่ตัดสินใจเดินทางในช่วงเวลาที่ไม่ควรเดินทาง มันเป็นความประมาทของพลอยเอง เพราtคิดว่าป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดแล้วจะไม่ติดเชื้อ แต่เหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ พลอยคิดว่าการระวังตัวใส่มาสก์ ล้างมือ ไม่ไปเจอคนเยอะๆ เจอแค่เพื่อน 2-3 คนที่สนิท มันเพียงพอกับการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย... แต่พลอยคิดผิด
“พลอย” เองยอมรับผิดในความผิดพลาดครั้งนี้ และยอมรับในคำวิพากวิจารณ์ และยินดีรับผิดชอบการการะทำของตัวเอง และอยากให้บทเรียนของพลอย เป็นบทเรียนของใครก็ตามที่คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ความประมาทเพียงเล็กน้อยนั้น อาจส่งผลกระทบมากมายกว่าที่คิด ขออย่าประมาทกัน พลอย ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนา และไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นดาราแล้วจะไปไหนทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความประมาทเท่านั้น พลอยต้องกราบขออภัยทุกท่านจากใจจริงๆ
ฟังอย่างนี้แล้วก็คงต้องบอกว่าน่าเห็นใจ และดรามา ก็น่าจะจบๆ กันไปได้ละ
** เปิด “ลำปางโมเดล” ของ “ผู้ว่า ฯหมูป่า” แชมป์ยอดจองฉีดวัคซีนโควิด เป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อคนลำปางและคนทั้งประเทศจะได้ถอดหน้ากากดำเนินชีวิตประจำวันได้
ถึงวันนี้ต้องบอกว่า “วัคซีน” คือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อใด และถึงแม้ว่าจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้ทุเลาลงได้ แต่เมื่อมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว โอกาสที่จะกลับมาระบาดรอบใหม่ ก็ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
“ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศเรื่องการฉีดวัคซีนเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมติดแฮชแท็ก “#ฉีดวัคซีน_หยุดเชื้อ_เพื่อชาติ” รณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน...เลิกกลัววัคซีน
เพราะก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวที่เป็นทั้งข่าวจริง ข่าวลวง ข่าวเท็จ เผยแพร่ในสื่อหลักและโซเชียล ถึงผลข้างเคียงต่างๆ นานา หลังการฉีดวัคซีน บางกระแสถึงกับบอกว่า ฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้อายุสั้นลง ถึงจะไม่แสดงอาการหลังการฉีดในทันที แต่จะไปแสดงอาการในอีกปี หรือสองปีข้างหน้า
แม้บุคลากรทางการแพทย์จะออกมาชี้แจง ยืนยันถึงผลดีของการฉีดวัคซีน ทั้งในแง่การป้องกัน และการลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตหากติดเชื้อ... แต่ประชาชนก็ยัง “ลังเล” หลายคนยังตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี... ฉีด หรือไม่ฉีด
ดูจากตัวเลข ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ที่สรุปข้อมูลการเปิดจองคิวฉีดวัคซีน ผ่านระบบ “หมอพร้อม” สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ปรากฏว่าในภาพรวมทั้ง 77 จังหวัด มีผู้ลงชื่อจองเพียง 1.6 ล้านคน ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 16 ล้านคนมาก คิดเป็นร้อยละ10 เท่านั้น โดยกรุงเทพฯ มีผู้จองมากสุดคือ 516,282 คน รองลงมาเป็น จ.ลำปาง 223,976 คน และอันดับ 3 จ.นนทบุรี 51,113 คน ส่วนจังหวัดที่อยู่ลำดับท้ายๆ มีผู้ลงทะเบียนแค่หลักพัน
หากเทียบจากจำนวนประชากรของจังหวัด กับจำนวนผู้ที่ลงชื่อจองคิวฉีดวัคซีน ต้องยกให้ จ.ลำปาง “เป็นแชมป์” ทั้งที่ จ.ลำปาง ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาดสูง แต่มีผู้สนใจจองคิวมากขนาดนี้
ผลงานนี้ ต้องให้เครดิตกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้ประชาสัมพันธ์ บริหารจัดการ อำนวยความสะดวก สร้างความมั่นใจให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน ซึ่งก็คือ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” หรือ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ที่ย้ายจาก จ.เชียงรายมาอยู่ จ.ลำปาง นั่นเอง
“ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” บอกว่า จ.ลำปาง มีผู้สูงอายุ 24% ของจำนวนประชากร จากข้อมูลมีประชาชนกลุ่มอายุ 60 ขึ้นลงทะเบียนประมาณ 190,000 คน และมีผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประมาณ 30,000 คน รวมแล้วประมาณ 220,000 คน และเชื่อมั่นว่า วัคซีนโควิดทุกชนิด มีศักยภาพในการลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง และลดการเสียชีวิต รวมทั้งทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงต้องการให้ชาวลำปางได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และเร็วที่สุดคือประมาณ 500,000 คน
หัวใจหลักในการบริหารจัดการของ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” คือ ประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ทำงานกันเป็นทีมร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ในเบื้องต้น หน่วยงานสาธารณสุข นำเข้าข้อมูลสุขภาพของประชาชน เข้าระบบข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจองการฉีดวัคซีนให้สอดรับกับศักยภาพของหน่วยบริการ และ จองวัคซีนจากรัฐบาลให้เพียงพอกับจำนวนประชาชนของ จ.ลำปาง
มอบหมายหน้าที่ให้ อสม.และหมออนามัยครอบครัว ออกเดินเท้าเคาะประตูบ้านให้ข้อมูล อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทราบ และยืนยันการฉีดวัคซีน หากใครปฏิเสธต้องมีการลงนามยืนยันในเอกสาร ... อำนวยความสะดวกการจองฉีดวัคซีนใน 2 ช่องทาง คือ อธิบายการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” กับอีกช่องทางหนึ่ง คือ อสม. หรือหมออนามัยครอบครัว ช่วยลงทะเบียนให้... ทุกอำเภอต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ทุกอำเภอต้องรายงานทุกวัน
นอกจากนี้ ที่ รพ.ลำปาง แผนกไอที ได้คิดระบบสำรอง กรณีที่แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ขัดข้อง หรือล่าช้า โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านคอลเซ็นเตอร์ มากกว่า 10 คู่สาย จัดเจ้าหน้าที่ผลัดกันมารับโทรศัพท์ ... ผู้สนใจจองคิวฉีดวัคซีน แค่แจ้งเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ระบบก็จะเชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข และเข้ากับระบบ “หมอพร้อม” โดยอัตโนมัติ
การทำงานเป็นทีม ยึดหลักการ “คนที่ควรฉีดต้องได้สิทธิฉีด” เป้าหมาย “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่” คนลำปาง และคนทั้งประเทศจะได้ถอดหน้ากากดำเนินชีวิตประจำวันได้
นี่คือ “ลำปางโมเดล” ของ “ผู้ว่าฯหมูป่า” ที่ผู้ว่าฯจังหวัดอื่นๆ สามารถนำไปใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายวัคซีนวาระแห่งชาติ อันเป็นทางรอดของประเทศ