ถอดรหัสความสำเร็จของจังหวัดลำปาง ยอดจองวัคซีนโควิด-19 ระยะแรกสูงกว่า 2 แสนคน ทิ้งห่างจังหวัดอื่นถึง 4 เท่า มาจากการทำงานเป็นทีม เปิดระบบสำรองในกรณี “หมอพร้อม” ไม่พร้อม รวมทั้งเปิดให้จองวัคซีนทางคอลเซ็นเตอร์โรงพยาบาลกว่า 10 คู่สาย แจ้งเพียงเลขที่บัตรประชาชน ก่อนเชื่อมกับระบบหมอพร้อมภายหลัง
รายงาน
หลังจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 สรุปข้อมูลการเปิดจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ครบ 77 จังหวัด หลังเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นอกจากกรุงเทพมหานครที่มีผู้จองวัคซีนจำนวน 516,282 คนแล้ว ที่ฮือฮาก็คือ จังหวัดลำปาง มีผู้จองวัคซีนมากถึง 223,976 คน มากกว่าอันดับ 3 จังหวัดนนทบุรีที่มีผู้จองวัคซีน 51,113 คน
อะไรที่ทำให้จังหวัดลำปาง ที่ไม่ใช่จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง แต่มีผู้สูงอายุให้ความสนใจจองวัคซีนมากขนาดนี้
ส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตไปที่การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางคนปัจจุบัน คือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรหรือฉายา “ผู้ว่าฯ หมูป่า”ที่เมื่อย้ายมายังจังหวัดลำปางแล้ว รับมือสถานการณ์โควิด-19 อย่างเข้มแข็ง
นายณรงค์ศักดิ์ อธิบายว่า จังหวัดลำปาง มีผู้สูงอายุ 24% ของจำนวนประชากร จากข้อมูลมีประชาชนกลุ่มอายุ 60 ขึ้นลงทะเบียนประมาณ 190,000 คน และมีผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประมาณ 30,000 คน รวมแล้วประมาณ 220,000 คน
“เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดมีศักยภาพในการลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง และลดการเสียชีวิต รวมทั้งทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงต้องการให้ชาวลำปางได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด คือ ประมาณ 500,000 คน”
สำหรับการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน นายณรงค์ศักดิ์ อธิบายว่า ในเบื้องต้นหน่วยงานสาธารณสุขนำเข้าข้อมูลสุขภาพของประชาชน เข้าระบบข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจองการฉีดวัคซีนให้สอดรับกับศักยภาพของหน่วยบริการ และจองวัคซีนจากรัฐบาลให้เพียงพอกับจำนวนประชาชนของจังหวัดลำปาง
ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และหมออนามัยครอบครัวพร้อมใจกันเดินเท้าเคาะประตูบ้านให้ข้อมูล อธิบายเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทราบ และยืนยันการฉีดวัคซีน หากปฏิเสธการฉีดวัคซีนต้องมีการลงนามยืนยันในเอกสาร
โดยประชาชนชาวจังหวัดลำปาง สามารถแจ้งความประสงค์จองการฉีดวัคซีน ได้ 2 ช่องทาง คือ การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” กับอีกช่องทางหนึ่ง คือ อสม. หรือหมออนามัยครอบครัวลงทะเบียนให้
ด้าน นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่ฉีดเข้าร่างกาย ทุกตัวมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยที่ดีพอ ซึ่งระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกแบบไว้ มีการเฝ้าระวัง ดูแลอาการอันไม่พึงประสงค์หลังจากได้รับวัคซีน
จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดลำปาง ฉีดวัคซีนให้มากที่สุด หากจังหวัดลำปางฉีดวัคซีนได้ถึง 500,000- 600,000 คน สามารถถอดหน้ากากดำเนินชีวิตประจำวันได้
อีกด้านหนึ่ง มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องหลังความสำเร็จของจังหวัดลำปาง พบว่าองค์ประกอบสำคัญคือ “การทำงานเป็นทีม”โดยยึดหลักการที่ว่า “คนที่ควรฉีดต้องได้สิทธิฉีด”
หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลลำปางพบว่า แผนกไอทีได้คิดระบบสำรอง กรณีที่แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ขัดข้องหรือล่าช้า โดยการเปิดให้ลงทะเบียนผ่านคอลเซ็นเตอร์มากกว่า 10 คู่สาย ผู้สนใจจองฉีดวัคซีนเพียงแค่แจ้งเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ก็จะแสดงข้อมูลออกมา
เพราะระบบสำรองของโรงพยาบาลลำปาง จะเชื่อมระบบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ (HIS) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะแสดงข้อมูลประวัติการรักษา เมื่อโปรแกรมสำรองมีข้อมูลพร้อม ก็จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบหมอพร้อมโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ มีการให้เจ้าหน้าที่ที่ลดงานจากการระบาด เช่น ทันตกรรม เวชกรรมฟื้นฟู ห้องผ่าตัด งานเวชกรรม มาผลัดกันรับโทรศัพท์อีกด้วย ขณะที่ อสม. จะเคาะประตูบ้านว่ามีใครจะฉีดวัคซีนหรือไม่ ลงทะเบียนแล้วหรือยัง ถ้ายังขอรายชื่อมา ส่งให้โรงพยาบาลลงทะเบียนให้
ส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ทำงานอย่างเข้มแข็ง ให้ทุกอำเภอต้องลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนให้เสร็จก่อนวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมติดตามผลอย่างใกล้ชิด ต้องมีการรายงานทุกอำเภอทุกวัน
รวมทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นยอมลงทะเบียนจองวัคซีน
ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดลำปาง (ณ วันที่ 11 พ.ค. 2564) มีผู้ป่วยสะสม 243 คน รักษาหายแล้ว 186 คน ระหว่างรักษา 56 คน เสียชีวิต 1 คน อำเภอที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ อำเภอเมืองลำปาง 96 คน รักษาหายแล้ว 84 คน อยู่ระหว่างรักษา 11 คน เสียชีวิต 1 คน
สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่มีผู้จองวัคซีนระยะแรก คือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังทั่วประเทศ น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเป้าหมาย 16 ล้านคน ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าจองฉีดวัคซีน คือ “คนกลัววัคซีน”
นอกจากความพยายามของคนบางกลุ่ม โจมตีประสิทธิภาพวัคซีนและผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปล่อยข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ให้ประชาชนหวาดกลัว เพื่อหวังผลทางการเมือง ให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นหลักแล้ว
อีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เกิดจากประชาชนเกิดความลังเล ไม่มั่นใจ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “ฉีดวัคซีนได้ไหม?” ที่แต่ละคนมักจะถามแพทย์ ไม่นับรวมคนที่ถามว่าขอทำร่างกายตัวเองให้แข็งแรงไปก่อนได้ไหมก็มี
เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ อาจจะได้เห็นทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น ก่อนที่จะคิกออฟฉีดวัคซีนระยะแรก 7 มิ.ย.นี้ ไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งเป้าหมายก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นำไปสู่การเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันต่อไป
อ่านประกอบ : ทึ่ง! คนลำปางจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 2.2 แสนราย สูงที่สุดรองจากกรุงเทพฯ