อดีตตุลาการศาล รธน.ชี้ “ธรรมนัส” ติดคุกออสซี่ ผิดจริยธรรมดำเนินการได้ตามช่องทาง รธน. ยันศาล รธน.ตัดสินถูกแล้ว คนร้องเดินเรื่องผิดเอง เหน็บอยากถูกใจแก้ ม.98 ให้หมายรวมถึงคำพิพากษาศาลทั่วโลก “พนิช” ชี้ ติดคุกเขมรคดีลอบเข้าเมืองไม่เกี่ยวจริยธรรม
วันนี้ (6 พ.ค.) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลง เพราะคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเป็นของศาลออสเตรเลีย ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายไทยได้ ว่า เคยมีคำวินิจฉัยแบบนี้ เป็นบรรทัดฐาน มาก่อนแล้ว และ ก่อนหน้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหลักพื้นฐานที่ระบบกฎหมายไทยสอดคล้อง กับมาตรฐานสากล มาก่อนแล้ว ว่า คำว่า ศาล คำว่ากฎหมาย คำพิพากษา ของประเทศใดก็ต้องใช้ของประเทศนั้น และเมื่อพูดถึงเฉพาะคำพิพากษาของศาล ในระบบกฎหมาย สมมุติเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็หมายถึงศาลของประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เขาไม่มีวันจะมาบอกว่า คำว่าศาลในกฎหมายของเขา หมายรวมถึงศาลทั่วโลก ทุกประเทศ 200 กว่าประเทศ คำว่าศาลและคำพิพากษาของศาลในประเทศไทยในระบบกฎหมายไทยก็หมายความถึงคำพิพากษาศาลไทย นี่คือระบบที่เป็นมาแต่เดิมและเป็นอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งคงจะเป็นอยู่ต่อไป ถ้ามีเหตุผลหรือความจำเป็น ประเทศไหนประสงค์จะให้คำว่าศาลในกฎหมายเขา หมายรวมถึงศาลทั่วโลกทุกประเทศด้วย เขาจะต้องเขียนไว้เป็นการเฉพาะ เพราะกำลังจะออกจากหลักพื้นฐานไปสู่ข้อยกเว้น
เหมือนกับบางเรื่องที่มีคนระบุว่าทำไมเราไปยอมรับคำพิพากษา ติดคุกในต่างประเทศแล้วก็ขอแลกเปลี่ยนนักโทษกลับมาติดคุกในไทย หรือชาวต่างประเทศติดคุกตามคำพิพากษาศาลไทย เขาก็มาขอรับไปติดคุกประเทศเขา เสมือนหนึ่ง ยอมรับคำพิพากษา ของศาลกันและกัน นั่นเพราะมีข้อยกเว้นที่เกิดจากสนธิสัญญาระหว่าง 2 ประเทศ และ 2 ประเทศนั้นมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงต้องมีการวางหลักไว้ในกฎหมายภายในของเขาให้ชัดว่ากรณีจะแลกเปลี่ยนนักโทษกันทำได้ เมื่อมีสนธิสัญญา ระหว่างกันและเป็นไปเพื่อประโยชน์ระหว่างสองประเทศ
“เรื่องนี้คนดำเนินเรื่อง คิดผิดประเด็น ดำเนินเรื่องผิดช่องทาง เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเหมาะ ความควร เรื่องจริยธรรม ว่าประเทศไทยควรแต่งตั้ง ยกย่องคนที่ต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งชั้นสูงรับผิดชอบบ้านเมืองหรือไม่ ไม่ใช่ไปใช้กฎหมายอย่างนี้ กฎหมายห้ามแล้วบอกว่า คำว่าศาล หมายถึงศาลทั่วโลกอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ต้องเข้าให้ถูกประเด็น ถูกช่องทาง กฎหมายที่เป็นอยู่ กับกฎหมายที่อยากจะให้เป็น มันคนละเรื่อง ถ้าต่อไปเบื้องหน้าสังคมไทยเห็นว่ากรณีแบบนี้ควรจะเป็นลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งระดับสำคัญของบ้านเมืองก็ต้องเขียนไว้ ไม่ใช่ กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้แล้วความรู้สึกของเราเห็นว่า มันไม่สมควรก็อยากจะมาใช้กฎหมายให้ครอบคลุมตามความรู้สึกของเรา ความต้องการของเรา มันไม่ได้ ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 100%”
ส่วนที่มีการยกกฎหมายยาเสพติดที่ระบุว่า หากกระทำผิดนอกประเทศก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดในราชอาณาจักรไทย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2525 ที่ให้ถือว่าการต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศให้จำคุก เข้าลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มาโต้แย้งนั้น นายจรัญ กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติดก็ผิดประเด็น นั่นคือ เรื่องกฎหมายกับคำพิพากษาของศาล ตรงนี้มันเบียดกันนิดนึง กฎหมายโดยหลักของประเทศใดก็หมายถึงประเทศนั้น หลักกฎหมายไทยก็ใช้บังคับใ ราชอาณาจักรเขตของไทย ฉะนั้นคนที่ไปขับรถชนคนตายในต่างประเทศ แล้วหนีกลับมาประเทศไทย ตำรวจไทยไปจับมาดำเนินคดีลงโทษตามกฎหมายไทยไม่ได้ โดยหลักพื้นฐานก็เหมือนกันใช้ในขอบเขตประเทศแต่ในกรณีมีความจำเป็นและเหตุ ผล ประเทศนั้นจะออกกฎหมายให้ขยายเขตอำนาจออกไปใช้กับการกระทำนอกประเทศได้ ถ้าไม่ไปปะทะกับอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้น แล้วเรื่องยาเสพติดสังคมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ามันเป็นภัยกับมนุษยชาติ จำเป็นต้องร่วมมือกันจัดการกับผู้ค้ายาเสพติด จึงต้องมาตกลงกันแล้วออกกฎหมายของแต่ละประเทศขยายเขตอำนาจของกฎหมายให้ไปใช้กับคนของตัวเอง ที่กระทำผิดนอกประเทศ แต่ว่าถ้าฝ่าฝืนกฎหมายยาเสพติดของไทย ถ้าเราได้ตัวมาก็ลงโทษตามกฎหมายไทยได้เป็นคนละเรื่องกับศาล คดียาเสพติดนั้น ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรในเขตของประเทศไทยแต่เขาไปถูกศาลประเทศอื่นตัดสินลงโทษ เราเลยบอกว่านี่ไงกฎหมายยาเสพติดของไทยก็ใช้กับการกระทำนอกราชอาณาจักรได้ซึ่งก็ใช่ นั่นคือ เราต้องเอาตัวเขามาดำเนินคดี ฐานติดยาเสพติด ผิดกฎหมายไทย ในประเทศไทยได้ แต่ไม่ใช่ไปเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ เพราะกฎหมายยาเสพติดเขาไม่ได้รวมถึงศาลเขาใช้กับกฎหมาย ศาลที่เขายกเว้นคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักโทษ ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าจะดำเนินการในระดับสูง ถือหลักนิติรัฐคือกฎหมายเป็นเกณฑ์ ไม่ได้เอาความรู้สึก หรือความต้องการของคนกลุ่มใดฝ่ายใดเป็นสำคัญก็ต้องจับหลักให้แม่น ไม่อย่างนั้นก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้
สำหรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่ามีผลผูกพันเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทั้งหมด ว่า ถ้าทำตามคำวินิจฉัยกฤษฎีกาไม่ถือว่าเป็นความผิดพลาด ถึงแม้จะผิดกฎหมายก็ได้รับความอนุเคราะห์ว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ได้ทำตามคำวินิจฉัยที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และ ครม. ก็มีมติรับรองแล้วว่า คำวินิจฉัยกฤษฎีกาอยู่ในฐานะให้บังคับใช้ได้ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเสมือนหนึ่งเป็นมติ ครม.แต่คำวินิจฉัย กฤษฎีกาไม่ใช่กฎหมายไม่มีผลผูกพันรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ผูกพันตุลาการ ศาลต่างๆ เวลามีปัญหากฎหมายในฝ่ายบริหารก็จะอ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกาได้ เพื่อให้ระบบการบริหารประเทศมีทิศทางที่แน่นอนไม่ลักกลั่น ขัดแย้งกันระหว่างกำลังของฝ่ายผู้บริหารที่เป็นกำลังใหญ่ในการบริหารกิจการบ้านเมือง แต่ในทางตุลาการนิติบัญญัติไม่ได้มีความผูกพันตามคำวินิจฉัยกฤษฎีกา เพียงแต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ฝ่ายนิติบัญญัติตุลาการ จะให้ความเคารพ และมักจะเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่ได้มีผลผูกพัน และเมื่อเรื่องมาถึงปัญหา กฎหมายแท้ๆ ฝ่ายตุลาการซึ่งต้องวินิจฉัยเพื่อให้เป็นหลัก มั่นคงในบ้านเมือง ก็ต้องวิเคราะห์สถานะกฎหมายที่เป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร และวินิจฉัยตามกฎหมายนั้น ส่วนถ้าฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือบุคคลกลุ่มใดเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นประโยชน์ไม่เหมาะสมกับประเทศชาติควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ต้องไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติขอให้รัฐสภาเปลี่ยนแปลงแก้ไข
“ต่อไป ก็เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาตรานี้พูดให้ชัด ว่า คำพิพากษาศาลตามมาตรา 98 นี้ ให้หมายรวมถึงศาลต่างประเทศทั่วโลก 200 กว่าประเทศ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญออกมาอย่างนี้ได้ศาลก็ต้องตัดสินตามรัฐธรรมนูญอย่างนั้น แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายไปถึงความต้องการแบบนั้น จะมากดดันให้ศาลตัดสินให้ตรงตามความต้องการ หรือตรงตามความรู้สึก ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้แม้แต่รัฐบาลก็มากดดันฝ่ายตุลาการแบบนั้นไม่ได้เช่นกัน”
เมื่อถามว่า หากเรื่องของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นเรื่องทางจริยธรรมควรต้องดำเนินการอย่างไร อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คงต้องไปเปิดแล้วรัญธรรมนูญดู ไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะไปชี้ช่องให้เล่นงานคนนั้นคนนี้ ต้องไปรับภาระกันเอง ตนพูดได้แต่ว่าช่องทางที่ถูกต้องคือเรื่องจริยธรรมและความเหมาะ ความควร ส่วนจะไปทางใดรัฐธรรมนูญ 60 บัญญัติช่องทางไว้แล้วและก็มีกรณีตัวอย่าง ขึ้นไปสู่ศาลฎีกากำลังพิจารณากันอยู่ให้เราเห็นแล้ว
ด้าน นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีมีการนำเรื่องที่ตนเองยังคงลงสมัคร ส.ส.ได้ทั้งที่เคยต้องคำพิพากษาศาลกัมพูชาให้จำคุก เหตุถูกกล่าวหาลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายและบุกรุกพื้นที่ทหาร ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีได้รับการร้องเรียนว่าทหารกัมพูชา รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณอ.โคกสูง จ.สระแก้ว เมื่อปี 2554 มา มาเปรียบเทียบกับกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส ว่า ช่วงปี 54 หลังจากที่ตนเดินทางกลับจากกัมพูชา ก็มีคนนำเรื่องไปร้องต่อ นายชัยชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้น ว่าตนยังจะสามารถทำหน้าที่ ส.ส ต่อไปได้หรือไม่ เพราะต้องคำพิพากษาจำคุกของศาลกัมพูชา เป็นประธาน สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นก็มีความเป็นห่วงและมีการปรึกษาข้อกฎหมายกับทีมกฎหมายของสภา สวยอ่ะ โดยตนเชื่อว่ามีการส่งเรื่องให้กับกกต.พิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมา ไม่เคยมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีแต่การอภิปรายในสภากันพอสมควร ว่า กรณีของตนเป็นสารนอกประเทศ ไม่มีข้อผูกพันกับศาลไทยพูดง่ายๆ ว่า คุณสมบัติของตนในเรื่องที่ ต้องคำพิพากษาศาลกัมพูชาให้จำคุกไม่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส.อีกครั้งลักษณะ ของคดี มันก็เป็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งมันไม่มีเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม เหมือนเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงในขณะนี้