xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจจะเฆี่ยนซ้ำเหมือนพ่อแม่เมื่อลูกถูกครูตีที่โรงเรียน : กรณี ร.อ.ธรรมนัส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (แฟ้มภาพ)
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเข้าใจว่าทุกคนไม่ว่าจะกลุ่มการเมืองไหน ต่างก็ไม่พอใจคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวานนี้ผมเขียนบทความ คำพิพากษาศาลต่างประเทศ ไม่ครอบคลุมเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญของไทย กรณี ร.อ.ธรรมนัส https://mgronline.com/daily/detail/9640000043118 ก็มีคนที่ยังค้างคาใจ ว่าคดียาเสพติด มันชัดเจนเหลือเกิน ทำไมจะไม่ขาดคุณสมบัติ

ผมก็พยายามอธิบายว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านตัดสินตามหลักกฎหมาย ไม่ได้ตัดสินตามหลักจริยธรรมหรือกระแสสังคม หลักการคือหลักอำนาจอธิปไตยและหลักบูรณภาพแห่งดินแดน ที่ชาติอื่นจะมามีอำนาจอธิปไตยเหนืออำนาจอธิปไตยของไทยไม่ได้ ตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ดังนั้นศาลต่างประเทศย่อมไม่ได้เหนือกว่าศาลไทย และคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศย่อมไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อศาลไทย ในขณะเดียวกันจะมาใช้อำนาจแม้แต่กำลังทหารบังคับให้ไทยทำอะไรตามอำเภอใจก็ไม่ได้ เพราะเรามีหลักบูรณภาพแห่งดินแดนอยู่ หลักนี้เป็นหลักของกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่ง

แต่ก็มีผู้รู้ทางกฎหมายหลายคนส่งข้อความและข้อโต้แย้งมาเช่น มีคนส่ง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕ ที่บัญญัติไว้ว่า
ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณา จักร ถ้าปรากฏว่า
(๑) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ
(๒) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือ
รัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
(๓) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักรและมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตาม
กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม


และหลายคนพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่ากฎหมายพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้เอาตัวผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดนอกราชอาณาจักรมาลงโทษได้ หากเป็นคนไทยไปทำผิดนอกราชอาณาจักร คนต่างด้าวที่ทำผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดในประเทศไทย และคนต่างด้าวที่ทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศอื่น แต่มาอยู่ในไทยและยังไม่ได้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

การที่สังคมค้างคาใจในประเด็นนี้ผมเองก็ไม่แปลกใจ เพราะในความเห็นของผมนั้น กรณีนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ผิดจริยธรรม และไม่ได้หมายความว่าสง่างาม ทั้งคนที่ตั้งเข้ามาในตำแหน่ง และคนที่รับตำแหน่งเองก็ตาม

เรื่องที่คนไทยจำนวนหนึ่งอยากให้มีการพิพากษาลงโทษซ้ำด้วยอีกรอบในศาลไทย ก็ต้องชี้แจงว่าการฟ้องนี้ไม่ได้ฟ้องด้วยคดียาเสพติดในศาลอาญา แต่ฟ้องในแง่คุณสมบัติการดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ จึงมาวินิจฉัยพิพากษาเรื่องคดีค้าแป้งกันต่อไม่ได้แล้ว ไม่เกี่ยวกันคนละเรื่องเลย จะมาอาศัยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕ ในการฟ้องก็ไม่ได้

เพราะเจตนารมณ์ของการใช้พรบ. นี้คือเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมี
ประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พรบ. ฉบับนี้ไม่ได้ใช้สำหรับการตีความคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ!!! แต่จะอย่างไรก็คงไม่งดงาม

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง พ่อแม่สมัยก่อน เวลาที่ลูกถูกครูตีที่โรงเรียน กลับมาบ้านเห็นรอยไม้เรียวที่น่องของลูก พ่อแม่ยุคโบราณจะถามว่าทำอะไรผิด ถึงได้ถูกครูตี ดีไม่ดีบางบ้านไม่ถามเสียด้วยซ้ำ แต่ตีซ้ำเป็นการสั่งสอน ว่าลูกกระทำความผิด การถูกครูตีนี้ต้องตีเพื่อสั่งสอนซ้ำ พ่อแม่สมัยก่อนหลายคนถึงกับอายครูมากที่สั่งสอนลูกไม่ดี ต้องไปขอโทษครูที่โรงเรียนด้วยว่าทำให้ครูต้องลำบากมาตีลูกเพื่อสั่งสอนลูกเพราะตัวเองทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ขอฝากให้ครูช่วยเข้มงวดกวดขันและอย่าได้วิตกว่าพ่อแม่จะไม่เห็นด้วยหากครูจะสั่งสอนและเฆี่ยนตีลูกของตนเพื่อให้เป็นคนดี

อันที่จริงหากเป็นสมัยนี้การตีลูกซ้ำแบบนี้คงแทบไม่มี มีแต่พ่อแม่ที่วิ่งไปถามหาเรื่องครูด้วยซ้ำว่าตีลูกฉันทำไม ลูกฉันทำอะไรผิด ฉันตีเองได้ เป็นครูไม่มีสิทธิมาตีลูกฉันซ้ำหรอก พ่อแม่หลายคนวิ่งไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนกันทีเดียว เด็กสมัยนี้เลยรอดพ้นไม้เรียวครูกันไปหมดแล้ว
ศาลไทยเองไม่อาจจะทำอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยโบราณที่ตีลูกซ้ำหากรู้ว่าลูกทำผิดแล้วถูกครูตี ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่เป็นที่ยอมรับ เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับที่พ่อแม่สมัยนี้แทบจะไม่กล้าตีลูกซ้ำหากลูกถูกครูตีมาจากที่โรงเรียน (และในความเป็นจริงครูสมัยนี้ก็ไม่กล้าตีนักเรียน) แต่รุ่นผมนั้นทัน ทั้งตี และหยิก หยิกนี่ครูผู้หญิงชอบใช้ เจ็บจนน้ำตาเล็ด ทรมานมากจริงๆ ครับ (ไม่รู้จะเคยเจอกันบ้างไหม)

เมื่อเราพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ว่า
ผู้ใดกระทำการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และมาตรา 9 ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า
(1) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือ
(2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว
ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้น ได้รับมาแล้ว


ในกรณีของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ศาลออสเตรเลียได้พิพากษาจำคุกแล้วจนพ้นโทษ ปล่อยตัวออกมาแล้ว ย่อมคือว่าเป็นไปตาม (1) และ (2) จะไปลงโทษซ้ำโดยศาลไทยก็ย่อมไม่ได้อีกเช่นกัน จะเป็นการทำผิดกฎหมาย ป.อาญา ไปอีกด้วย

เมื่อคืนก็มีคนส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ว่าหากต้องคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ ทำให้ขาดคุณสมบัติ ส.ส. ดังนี้
เรื่องเสร็จที่ ๒๗๖/๒๕๒๕
บันทึก เรื่องหารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ปัญหาการตีความมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท๐๓๑๔/๕๕๗๔ ลงวันที่ ๒๐เมษายน ๒๕๒๕ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า มาตรา ๙๖[๑] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ รวม ๗ ลักษณะและมาตรา ๙๖ (๕) ได้กำหนดผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ
เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
การจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙๖ (๕) ดังกล่าว จะหมายความเฉพาะการถูกจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว หรือหมายความรวมถึงการถูกจำคุกในต่างประเทศด้วย
กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การถูกจำคุกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตามมาตรา ๙๖ (๕) น่าจะหมายถึงการถูกจำคุกในประเทศไทยและรวมถึงการถูกจำคุกในต่างประเทศด้วย เพราะ
๑. เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไปเข้าสมัครรับเลือกตั้ง มูลเหตุน่าจะมาจากบุคคลที่เคยถูกจำคุกนั้น ความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไปไม่ยอมรับนับถือโดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง ซึ่งแตกต่างกับผู้ที่กระทำผิดโดยประมาทเพราะความผิดดังกล่าวผู้กระทำผิดไม่มีเจตนากระทำผิด หรือความผิดลหุโทษ ซึ่งถือเป็นความผิดเล็กน้อยเพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ดังนั้น การที่บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก กฎหมายจึงต้องให้พ้นโทษเกินกว่า ๕ ปี เพื่อให้โอกาสประชาชนได้ติดตามพฤติการณ์ และเพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตน
๒. หากตีความให้การจำคุกตามมาตรา ๙๖ (๕) หมายถึงการจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว ย่อมจะเป็นผลทำให้ผู้ที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศมาแล้วใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลทำให้สภาพบังคับตามข้อ ๑. ไม่บังเกิดผลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ลักษณะความผิดบางประเภทซึ่งผู้กระทำผิดได้กระทำลงในต่างประเทศเป็นความผิดที่ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ความผิดฐานลักทรัพย์ความผิดฐานปล้นทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายังได้ให้อำนาจศาลไทยในการพิจารณาอรรถคดีและลงโทษผู้กระทำผิดที่ได้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรในลักษณะความผิดบางประเภทอีกด้วย ซึ่งพิจารณาได้จากมาตรา ๗[๒] มาตรา ๘[๓] มาตรา ๙[๔] มาตรา ๑๐[๕] มาตรา ๑๑[๖] แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้งซึ่งไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำลงโดยประมาทแล้ว หากกระทรวงมหาดไทยจะวางแนวทางปฏิบัติแก่จังหวัดไม่ให้รับสมัครบุคคลดังกล่าว โดยถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะถูกต้องหรือไม่ ประการใด จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว และได้ฟังคำชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย(กรมการปกครอง)แล้วมีความเห็นดังต่อไปนี้


ที่มา http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2525&lawPath=c2_0276_2525
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เป็นแค่คำแนะนำทางกฎหมายให้กับรัฐบาลและหน่วยราชการเท่านั้น มิได้เป็นคำพิพากษาหรือแนวฎีกาแต่อย่างใด

และในขณะเดียวกันก็มีคนส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่แทบจะเดินในทางเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ คือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไม่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องของหลักอำนาจอธิปไตยดัง บันทึก เรื่อง การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เรื่องเสร็จที่ 0562/2554 ได้วินิจฉัยว่า

ข้อ 10 (3) และข้อ 20 (2) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536

ข้อ 7 (2) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548

การตรากฎหมายหรือกฎเพื่อใช้บังคับภายในประเทศใด ย่อมต้องอยู่ในขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกล่าวถึงคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความให้รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศได้ เพราะจะขัดกับหลักการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ เว้นแต่หากผู้ตรากฎหมายประสงค์จะยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีผลต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายไทยด้วย ย่อมต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ โดยที่กฎหมายของแต่ละประเทศอาจกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา ประเภทของความผิด องค์ประกอบของความผิด เงื่อนไขการลงโทษ และวิธีพิจารณาคดีอาญาแตกต่างจากกฎหมายไทย หากยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ และการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ จะส่งผลให้การบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสองฉบับเกิดความลักลั่นไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน
ดังนั้น กรณีที่บุคคลใดเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศจึงไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามในการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ 10 (3) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทาน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ และกรณีที่บุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ คณะกรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่อาจมีมติให้รอการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับผู้นั้นตามข้อ 20 (2) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ ได้ และกรณีที่บุคคลใดเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยศาลต่างประเทศ จึงไม่ต้องด้วยเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ 7 (2) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ
ที่มา http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2554&lawPath=c2_0562_2554

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาคนละคณะก็ยังมีแนวคำวินิจฉัยในหลักการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นการวินิจฉัยคดีความต้องอาศัยหลักกฎหมายเป็นหลักสำคัญ

ขอให้เข้าใจหลักกฎหมายแม้จะขัดใจและไม่ถูกต้องตามหลักมโนสำนึก ที่ต้องยืนยันหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เราไม่ปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น แต่ควรร้องเรื่องจริยธรรมเพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง ผมมีความเห็นสอดคล้องกับท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ไม่ควรมาร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นสอบจริยธรรมชัดเจนกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น