xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สั่งประเมินผลกระทบคุมโควิด ก่อนชงเยียวยา กำชับลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ มอบหน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินผลกระทบ หลังออกมาตรการคุมโควิด-19 เสนอ ศบศ.ออกแนวทางเยียวยา ปชช. กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องผลักดันแผนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระตุ้นภาคการผลิต การขนส่ง ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (2 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยให้เตรียมความพร้อมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ.ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

“นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการออกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นที่มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ทั่วประเทศ กระทั่งมาถึงมาตรการล่าสุดที่เน้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ก่อนออกมาตรการต่างๆ จะได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งประเมินผลหลังมีมาตรการออกไปแล้วเพื่อกลั่นกรองเป็นแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว” น.สไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความห่วงใยประชาชน ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงและได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยได้ขอให้กระทรวงอื่นๆ ได้เตรียมความพร้อม สำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนด้วย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงแก๊ส ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการเยียวยาต่างๆ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกับมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของระบาดรอบนี้ ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเวลานี้ขอความร่วมมือทุกคน ให้ช่วยกันป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายโดยเร็ว ประชาชนก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มีข้อกำชับกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ว่า แม้ในช่วงระยะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กิจกรรมภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะลดลงไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากทั้งกิจกรรมการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง

“นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าเมื่อได้มีการกำหนดเป้าหมายแล้วประเทศไทยจะต้องผลักดันภาคส่วนต่างๆ ทั้งส่วนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม การขนส่งให้ได้ตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับนานาชาติที่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก บางประเทศกำหนดเป้าหมายการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งกับนานาชาติในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ต้องอาศัยทั้งการลงมือปฏิบัติและใช้เวลาการเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือกิจกรรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำการสื่อสารและมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยี มีนวัตกรรมใหม่เพื่อไปสู่การผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ที่นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยลดลง แนวทางดังกล่าวยังเป็นกระแสของโลกที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจสินค้าจากผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ตั้งแต่ปี ปี พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ประเทศไทยได้จัดส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี พ.ศ. 2563 ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้ได้ 20-25% จากกรณีปกติภายในปี 2573

หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้มีการอนุมัติงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


กำลังโหลดความคิดเห็น