Gojek (โกเจ็ก) แพลตฟอร์มชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศเป้าหมายที่จะก้าวเป็นแพลตฟอร์มแบบ Zero Emissions, Zero Waste and Zero Barriers ภายในปี 2030 ผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปีฉบับแรก ซึ่งเผยรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าและการนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ไปปรับใช้ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของบริษัทที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและคุณค่าให้แก่ผู้คนและโลกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนในอีโค่ซิสเต็มของบริษัทและเพื่อเน้นย้ำและสร้างการรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม การดำเนินงานของ Gojek จึงให้ความสำคัญกับทั้งสามด้านเป็นหลัก คือ 1) ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม (ผ่านแคมเปญ GoGreener) เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายหลัก คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Emissions) และการสร้างขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) 2) ความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ (ผ่านแคมเปญ GoForward) และ 3) ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของทุกคน (ผ่านแคมเปญ GoTogether) เพื่อความสำเร็จของเป้าหมายด้านการแบ่งแยกทางสังคมเป็นศูนย์ (Zero Barriers)
รายงานความยั่งยืนของ Gojek ถือเป็นฉบับแรกที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทอินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยข้อมูลที่เปิดเผยและเอกสารต่างๆ ที่ใช้ ได้รับการรับรองจากบริษัท PricewaterhouseCoopers (PwC) อินโดนีเซีย ทั้งนี้ Gojek เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคด้านการนำแนวคิดความยั่งยืนมาใช้ในการประกอบธุรกิจ และยังยินดีเปิดเผยผลการดำเนินงานในด้านความยั่งยืนทั้งหมดอย่างโปร่งใส
เควิน อลูวี, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ของ Gojek กล่าวว่า “Gojek เองเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและการเติบโตของธุรกิจมาโดยตลอด ความมุ่งมั่นนี้อยู่ในดีเอ็นเอของเราและเป็นเหตุผลที่หลายๆ คนเลือกมาทำงานที่นี่ เมื่อธุรกิจเราเติบโตขึ้น จึงยิ่งจำเป็นมากขึ้นในการพัฒนาวิธีที่จะวัดผลและพัฒนาด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างมาตรฐานในฐานะผู้นำอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่อทั้งเราและสังคมโดยรวม และนี่คือเหตุผลที่เราขยายสเกลการดำเนินงานในด้านความยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหัวใจหลักขององค์กรเรา Gojek หวังว่าเราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืนแก่สังคม พาร์ทเนอร์ และโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ และสามารถนำเราไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จลุล่วงในระยะยาว”
อันเดร โซลิสต์โย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ของ Gojek กล่าวเพิ่มว่า “ภาคเอกชนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มลงมือแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งกำลังบ่อนทำลายโลกและชุมชนของเราในขณะนี้ Gojek เองยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของขนาดธุรกิจและความแข็งแกร่ง โดยมีผู้ใช้แพลตฟอร์มของเราเป็นล้านๆ คนในทุกวัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืนจึงถือเป็นความรับผิดชอบของพวกเรา การยึดหลักแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้มาตรฐานในอุตสาหกรรมนี้ จะช่วยให้เราสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในทุกส่วนของอีโค่ซิสเต็ม และยังเป็นแนวทางให้บริษัทอื่นๆ ในภูมิภาคสามารถปฏิบัติตามด้วย ปัญหาเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเรา เราจึงตั้งใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากเรา เพื่อประโยชน์ของประเทศอินโดนีเซีย ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก”
Gojek ได้เริ่มเดินหน้าทำเป้าหมายให้เป็นจริงในหลายส่วน และจะมีการประเมินผลและเปิดเผยข้อมูลในด้านความยั่งยืนในทุกปี
GoGreener
● จัดทำรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจกสำหรับสโคปที่ 1, 2 และ 3 ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบัญชีการจัดการขยะในทุกปี โดยจะเริ่มในปี 2021
● เพิ่มฟีเจอร์ GoGreener ในแอป ซึ่งเป็นฟีเจอร์การชดเชยคาร์บอนประเภท B2C ครั้งแรกของโลกในแวดวงธุรกิจ Ride-Hailing
● ศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำโครงการนำร่องในการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) โดยมีแผนจะเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า 100% ในปี 2030
● เปิดบริการ GoTransit เพื่อผสานการเดินทางต่อแรก (first mile) และต่อสุดท้าย (last mile) เข้ากับการขนส่งมวลชน
● ร่วมมือกับคณะกรรมการอำนวยการของ National Plastic Action Partnership (NPAPs) อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของ Global Plastic Action Partnership (GPAP)
● โปรแกรมเก็บค่าช้อนส้อมเพิ่ม (Paid Cutlery) ช่วยลดการเกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปมากกว่า 13 ตัน (ตั้งแต่สิงหาคม 2013) และได้รวบรวมขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากกว่า 6.3 ตันไปรีไซเคิลผ่านโครงการนำร่องในปี 2019 โดยมีแผนจะดำเนินโครงกานำร่องอีกจำนวนมากในปี 2021
GoForward
● ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวันของพาร์ทเนอร์คนขับกว่า 530,000 ราย ผ่านโปรแกรมสิทธิประโยชน์สำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ (Swadaya)
● เพิ่มช่องทางหารายได้ให้แก่พาร์เนอร์คนขับผ่านการร่วมมือกับ PromoGo และการเปิดตัว GoCek
● เปิดตัว GoFood Partners Community โดยมีพาร์ทเนอร์ร้านค้ามากกว่า 54,000 ร้านเข้าร่วม เพื่อช่วยขยายธุรกิจและพัฒนาทักษะการทำธุรกิจดิจิทัลขนาดย่อมและขนาดย่อย
GoTogether
● ร่วมลงนามในสัญญายอมรับหลักการเสริมพลังสตรี (Women Empowerment Principles) ของ UN เพื่อเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศ โดยการจัดสปีคกิ้งอีเว้นท์ที่มีผู้อภิปรายทั้งชายและหญิง
● ก่อตั้งกลุ่มสำหรับพนักงานหญิงเพื่อช่วยส่งเสริมนโยบายและโปรแกรมพัฒนาความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของทุกเพศสภาพ
● ดำเนินการและสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจัดตั้ง Employee Resource Groups
รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Gojek ในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเพื่อแสดงความรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น ทางบริษัทได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Advisory Council) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กร ได้แก่ องค์การเพื่อสตรีแห่งประชาชาติ (UN Women) ศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre of Energy) มหาวิทยาลัย University of Indonesia และอีกมากมาย
ทานาห์ ซัลลิแวน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนของ Gojek กล่าวว่า “ด้วยความที่มีเวลาไม่ถึง 10 ปีในการจะบรรลุเป้าหมาย SDGs เราจึงต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ พร้อมกับการยึดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพสากล รวมถึงการใช้กลยุทธ์การดำเนินงานที่ขับเคลื่อน
ด้วยดาต้า ทำให้เราสามารถมั่นใจว่าแผนการของเรานั้นแข็งแกร่ง สอดคล้องต่อความต้องการ และสร้างผลกระทบได้มากที่สุด เราเองทราบดีว่าเป้าหมายนี้ไม่อาจทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เราจึงจะสร้างเน็ตเวิร์คของพาร์ทเนอร์ที่มีแนวคิดเดียวกับเราเพื่อเร่งการพัฒนา โดยอาศัยนวัตกรรม ความเชี่ยวชาญ และความสามารถของทุกฝ่ายให้เป็นประโยชน์”
Dr. Allinnettes Adigue หัวหน้าฝ่าย ASEAN Regional Hub แห่ง GRI กล่าวว่า “การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรส่งผลดีต่อทั้งผู้คน โลก และประโยชน์ของบริษัทในระยะยาว เพราะว่าในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถประกอบธุรกิจได้บนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว ดังนั้นคำถามที่ว่าบริษัทควรจัดทำรายงานความยั่งยืนหรือไม่นั้นจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป รายงานความยั่งยืนเป็นทางออกในระยะยาวอย่างแน่นอน แต่ปัญหาก็คือรายงานพวกนั้นถูกต้อง ตรงประเด็น และสื่อสารอย่างชัดเจนแค่ไหนถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่มีความจำเป็นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น
“มาตรฐาน GRI ซึ่งเป็นกรอบการรายงานที่ได้รับการนำมาใช้มากที่สุดในโลก ไม่ใช่เป็นเพียงแผนการรายงานเท่านั้น แต่เป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกในการใช้บรรทัดฐานเดียวกันเพื่อตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ไปจนถึงการประมาณ วิเคราะห์ และรายงานความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรฐาน GRI นี้จะช่วยให้บริษัทเลือกโฟกัสแต่ประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผ่านการนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณ การประเมินผลเชิงบรรยาย และระบบแบบ Indicator-Based”
สนับสนุนความเป็นอยู่ของคนในสังคมในช่วง COVID-19
Gojek ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคนในระบบอีโค่ซิสเต็มเพื่อลดผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านการสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยและสุขภาพของทุกฝ่าย การคิดค้นโปรดักส์และบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ และการเพิ่มช่องทางหารายได้ให้แก่พาร์ทเนอร์ร้านค้าและพาร์ทเนอร์คนขับ อีกทั้งในปี 2020 Gojek ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Anak Bangsa Bisa (YABB) เพื่อช่วยสนับสนุนพาร์ทเนอร์ของบริษัทและคนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยได้รับเงินบริจาคถึง 1 แสนล้านรูเปียห์ (ราว 216 ล้านบาท)จากผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน และอีก 2 หมื่นล้านรูเปียห์ (ราว 43 ล้านบาท) จากโครงการบริจาคเพื่อการกุศลของบริษัทและโปรแกรมบริจาคอื่นๆ
นอกจากนี้ Gojek ยังให้การสนับสนุนผู้บริโภคและชุมชนโดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายขนาดใหญ่ของบริษัท ในการอัพเดทข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวทางด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย รวมไปถึงเปิดตัวฟีเจอร์และโปรแกรมต่างๆ อีกมากมาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และให้กำลังใจบุคลากรแนวหน้า