xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA ร่วมมือ สผ. ใช้ข้อมูลจากอวกาศสร้างนโยบายและแผนด้านสิ่งแวดล้อมประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 22 เม.ย. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการกำหนดนโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการลงนามความร่วมมือผ่านระบบ VDO Conference

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นไปในรูปแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่กลับมาระบาดอีกระลอกก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับ 2 หน่วยงานที่มีความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือและกลไกเพื่อการกำหนดนโยบายและแผน ตลอดจนการติดตามประเมินผล เพื่อช่วยในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ดร.ปกรณ์ กล่าวอีกว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ GISTDA จะสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้กับ สผ. เพื่อร่วมกันใช้ในการพัฒนา วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ข้อมูลในภารกิจด้านต่างๆของ สผ. ในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายการทำงานในรูปแบบ GI for All ของ GISTDA โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ ข้อมูลจุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่เกษตร การกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่สีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดทำข้อมูลกิจกรรมสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

ทางด้าน ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้มาร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้งานวิจัยและพัฒนา การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร เครื่องมือ ตลอดจนนวัตกรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงภายใต้ฐานข้อมูลที่ทันสมัย สามารถนำไปใช้ในการกำหนดเป็นนโยบายและแผน รวมถึงมาตรการสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และความสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ


















กำลังโหลดความคิดเห็น