xs
xsm
sm
md
lg

RATCH ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ 2 MW ป้อนโรงไฟฟ้าฯ ช่วงหยุดเดินเครื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราช กรุ๊ปติดตั้งโซลาร์ 2 MW บนอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าราชบุรี เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนช่วงหยุดเดินเครื่อง พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
   
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้พัฒนาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำหรือโซลาร์ลอยน้ำ (Solar Floating Project) ขนาดกำลังผลิต 2.138 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบของโรงไฟฟ้าราชบุรี เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนช่วงหยุดเดินเครื่อง พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 2 หน่วย กำลังผลิตติดตั้งรวม 1,470 เมกะวัตต์ ถูกสั่งเป็นกำลังผลิตสำรอง หรือ Reserved Shutdown จึงต้องหยุดเดินเครื่องจนกว่าจะมีคำสั่งให้ผลิตไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้ายังต้องการไฟฟ้าให้กับระบบต่างๆ ของโรงไฟฟ้า รวมทั้งอาคารปฏิบัติงานต่างๆ จึงต้องมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และยังทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อม (Scope 2) ของโรงไฟฟ้าราชบุรียังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“โรงไฟฟ้าราชบุรีจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงไฟฟ้า โดยพิจารณาพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบระบบ และได้รับใบอนุญาตการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2564”

โครงการฯ ดังกล่าวใช้เงินลงทุน 78 ล้านบาท มีขนาดกำลังการผลิต 2.138 เมกะวัตต์ โดยได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Photovotaic Module) ชนิด Polycrystalline ขนาด 330 วัตต์ จำนวน 6,480 แผง บนผิวน้ำของอ่างเก็บน้ำดิบ ใช้พื้นที่ 14 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบทั้งหมด ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ปีละ 3,121,500 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จากกำลังการผลิตติดตั้ง ปัจจุบันกระแสไฟฟ้าจากโครงการได้นำไปใช้ในอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำ อาคารคลังพัสดุ อาคารสำนักงาน อาคารฝึกอบรม อาคารปฏิบัติการ รวมทั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะ ช่วยให้บริษัทประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 9.96 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 1,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น