xs
xsm
sm
md
lg

ส่อโกง! เลือก ก.บ.ศ.ผ่านแอปฯ สนง.ศาลฯ จ่อแจ้งความเอกชนผู้วางระบบ ตั้ง กก.สอบคนในเอี่ยวหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ประชุม ก.ต.มีมติให้ สนง.ศาลยุติธรรม แจ้งความเอาผิด บ.เอกชน วางระบบลงคะแนนเลือก ก.บ.ศ.ผ่านแอปฯ i-Vote บนมือถือ ข้อหาฉ้อโกง-แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล พร้อมตั้ง คกก.สอบคนในที่มีเอี่ยวหรือไม่ แหล่งข่าวระบุส่อโกง เพื่อวางเครือข่ายสร้างฐานอำนาจในศาล

วันนี้(20 เม.ย.) สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทเอกชนที่รับจ้างทำระบบลงผลคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชั้นอุทธรณ์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในข้อหาฉ้อโกง แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล และที่ประชุม ก.ต.ยังมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคลากรภายในที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างงานทำระบบเลือกตั้งดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ มติ ก.ต.ที่ให้มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษและตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคลากรภายในกรณีจ้างทำระบบลงผลคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อร้องเรียนของนายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครรับเลือกเป็นกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชั้นอุทธรณ์ (เลือกซ่อม 1 ตำแหน่ง) ที่ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา, คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และ ก.บ.ศ.ตรวจสอบระบบประมวลผลการลงคะแนนเลือก ก.บ.ศ.ชั้นอุทธรณ์ 1 คน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 เนื่องจากมีข้อสงสัยในการประมวลผลนับคะแนนว่าจะผิดปกติทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ตรงตามความจริงหรือไม่ เพราะในวันที่มีการจัดเลือกตั้งดังกล่าว นายบุญเขตร์ ได้รับแจ้งทางแอปพลิเคชันไลน์จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปได้ว่าทราบผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.บ.ศ.แล้ว กระทั่งเวลา 18.00 น.เศษ หลังสิ้นสุดการเลือกตั้ง 2 ชั่วโมงเศษ สำนักงานศาลยุติธรรม ประกาศผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ก.บ.ศ. ซึ่งแตกต่างจากผลการลงคะแนนเลือกตั้งที่ได้รับทราบมาก่อนหน้านั้น ขณะที่การประกาศผลการลงคะแนนมีความล่าช้าถึง 2 ชั่วโมงเศษด้วย

“หลังได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวประธานศาลฎีกา ได้มีคำสั่งสอบสวนเรื่องนี้ซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ปี มีการเรียกข้อมูลจากเอกชนผู้รับจ้างวางระบบมาตรวจสอบ แต่ก็ไม่ได้รับความมือเท่าที่ควร จนต้องมีการให้หน่วยงานอีกแห่งเข้ามาตรวจสอบยืนยันข้อมูลจนได้ข้อสรุปว่าการวางระบบดังกล่าวมีมูลส่อว่าจะมีปัญหาความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นจริง และมีการตั้งข้อสมมติฐานว่า การโกงผลเลือกตั้ง ก.บ.ศ. เป็นความต้องการของบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการวางตัวบุคคลเข้ามารับตำแหน่ง ก.บ.ศ. ร่วมไปถึงการเลือกตั้ง ก.ต. ในอนาคตเพื่อสร้างฐานอำนาจในศาลยุติธรรมด้วย" แหล่งข่าวระดับสูงสำนักงานศาลยุติธรรมระบุ

ก่อนหน้านี้ การเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้ใช้วิธีการลงคะแนนด้วยบัตรกระดาษ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการลงผลคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในแอปพลิเคชัน i-Vote บนโทรศัพท์มือถือ และเก็บข้อมูลการลงคะแนนด้วยระบบบล็อกเชน เพื่อความสะดวกรวดเร็วทันสมัย แต่ก็เกิดปัญหาความมไม่โปร่งใสขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น