xs
xsm
sm
md
lg

“ท่านใหม่” แนะแม่ “3 นิ้ว” เอาชีวิตประกัน “โรม” รับลูก “ศักดิ์ เจียม” เชิญ ปธ.ศาลฎีกา ชี้แจง “น่าอาย-เจอคุก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ มจ.จุลเจิม ยุคล หรือ  “ท่านใหม่” จากแฟ้ม
ศาลอาจเห็นใจ!? “ท่านใหม่” แนะแม่แกนนำ “3 นิ้ว” เอาชีวิตเป็นประกัน จะดูแลลูกไม่ทำผิดซ้ำ ไม่ละเมิดสถาบันอีก “โรม” โดดงับข้อมูล “ศักดิ์ เจียม” เชิญ ปธ.ศาลฎีกา ชี้แจง กมธ.กฎหมาย “กูรู” ชี้ ไม่มีอำนาจ แถมเข้าข่ายผิดกฎหมาย

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(1 เม.ย.64) จากกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง เพราะ เกรงก่อเหตุซ้ำรอย หรือเกรงว่าจะหลบหนี

ภาพ บรรดาแกนนำม็อบคณะราษฎร หรือ ม็อบ 3 นิ้ว หลายคนถูกฟ้องคดี ม.112 และไม่ได้ประกัน จากแฟ้ม
เรื่องนี้ เฟซบุ๊ก จุลเจิม ยุคล ของ มจ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“หัวอกแม่ สุดสะเทือนใจ ถ้าคุณแม่รักลูกจริง ก็ควรบอกศาลท่านว่า คุณแม่จะขอเอาชีวิตเป็นประกัน (ถ้าศาลท่านให้ประกันตัวเพนกวิน และรุ้งออกจากคุก) โดยจะไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับม็อบ 3 นิ้วและเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน แม่จะสั่งสอนและควบคุมความประพฤติให้ลูกตั้งใจเรียนหนังสือจนจบ เพื่อออกมาหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป เท่านี้ศาลท่านคงจะเห็นใจว่า “ความรักอันบริสุทธิ์ของบุพการี ที่มีต่อลูกถึงกับเอาชีวิตตัวเองมาเป็นประกัน”

แต่ลูกจะทำหรือเห็นแก่ชีวิตของบุพการี หรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ อยู่ที่จิตสำนึกของเพนกวิน และรุ้ง เอง”

ภาพ นายไพศาล พืชมงคล จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Paisal Puchmongkol ของ นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“โรมจ๋าอย่าบ้องตื้นนักเลยอายเขา!!!

ซึ่งจะขอให้สภาเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจงว่า ทำไมศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำกาเหว่านั้น!!! สภาไม่มีวันเชิญเด็ดขาด!!!

เพราะ
1 เป็นการก้าวก่ายอำนาจตุลาการ
2 ประธานศาลฎีกา ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ประกันตัว เพราะเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องเข้าใจว่าตำแหน่งของประธานศาลฎีกานั้นไม่ใช่ศาล ประธานศาลฎีกาสั่งให้ประกันเองก็ยังไม่ได้ เว้นแต่ท่านจะเป็นองค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอีก

3 ฟันธงครับ ยื่นไปก็อายเขาสภาไม่มีทางเชิญ

ภาพ นายเชาว์ มีขวด จากแฟ้ม
เช่นเดียวกัน เฟซบุ๊ก Chao Meekhuad ของ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์หัวข้อ “หยุดใช้กรรมาธิการพร่ำเพรื่อ ระวังจะติดคุก”

เนื้อหา ระบุว่า “กรณีเมื่อวานนี้ วันที่ 31 มี.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวว่า

จากกรณีที่มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ อ้างถึงการประชุมใหญ่ในศาลฎีกา โดยมีผู้สอบถามเหตุใดถึงไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะผู้ถูกคุมขังไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ประธานศาลฎีกากลับระบุมีบุคคลภายนอกสั่งมา แม้ในเวลาต่อมาโฆษกศาลยุติธรรมจะออกมาชี้แจงเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง แต่ก็เป็นการตอบที่สั้นเกินไป ไม่มีการอธิบายรายละเอียดเพียงพอ อาจทำให้เกิดการถกเถียง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ในฐานะ ส.ส.ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งศาลว่าได้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระหรือไม่ ตนจึงจะได้นำประเด็นนี้เสนอต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้เชิญประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนมาให้ความเห็นและชี้แจงต่อกรรมาธิการ ซึ่งทราบว่าจะมีการประชุมกันวันนี้เวลา 09.30 น.

นายรังสิมันต์ โรม แส่ไม่เข้าเรื่อง เป็นการใช้กรรมาธิการก้าวล่วงอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจสามฝ่ายที่ถ่วงดุลกันตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และขัดกับพ.ร.บ.คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 5 ที่ห้ามมิให้ใช้บังคับกับผู้พิพากษาหรือตุลาการท่ีปฏิบัติตามอํานาจหน้าท่ี ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 หมวด 5 กรรมาธิการ ข้อ 97 ที่ระบุทำนองเดียวกัน เพราะถ้าปล่อยให้ใครก็ได้สามารถตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของศาลได้ จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำสั่งศาลหรือคำพิพากษาไม่ถึงที่สุด

ที่สำคัญศาลมีระบบการตรวจสอบกันเองอยู่แล้วถึง 3 ศาล คือศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตุลาการ หรือกต. คอยควบคุมกลั่นกรองการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอีกชั้นหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าเรื่องที่นายรังสิมันต์ โรมใช้เป็นเหตุผลในการจะเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจง ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ

หากกรรมาธิการเกิดบ้าจี้ตามนายรังสิมันต์ โรม จะถือเป็นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ เพราะขัดต่อกฎหมายเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวเอง

ผมไม่ได้ต้องการปกป้องศาล แต่เห็นว่ากำลังมีการใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งจะทำให้การทำงานของสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเสื่อมเกียรติไปด้วย เพราะคนเป็นส.ส.ควรใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน ไม่ใช่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้อง อย่างที่นายรังสิมันต์ โรม กำลังจะดำเนินการในขณะนี้

"จึงขอเตือนไปยังนายรังสิมันต์ โรม และกรรมาธิการชุดนี้ที่กำลังจะประชุมกันเช้านี้ อย่าได้บ้าจี้ตาม มิฉะนั้นคนที่ลงมติเชิญประธานศาลฎีกาให้มาชี้แจงทั้งที่ไม่มีอำนาจ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคำสั่งเรียกฯมาตรา 12 ที่บัญญัติว่า กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจะติดคุกโดยไม่รู้ตัวนะจะบอกให้”

ภาพ นายรังสิมันต์ โรม จากแฟ้ม
ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แถลง หลังการประชุมกมธ.การกฎหมายฯ ว่า

จากกรณีที่ตนได้แถลงข่าว และทำหนังสือถึงกมธ.การกฎหมายฯ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้มีมติจาก กมธ.กฎหมาย โดยเบื้องต้นในหนังสือเป็นการเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจงในกรณีที่มีข่าวลือว่า ในการประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา มีการตั้งคำถามไปยังประธานศาลฎีกาว่า เพราะเหตุใดถึงไม่ให้มีการประกันตัวแกนนำคณะราษฎร ทั้งที่ควรจะทำได้ และไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งประธานศาลฎีกา ได้ให้คำตอบในลักษณะว่า มีบุคคลภายนอกสั่งเข้ามาอีกที ต่อมาข่าวลือแพร่หลายจนกระทั่งโฆษกของศาลออกมาปฏิเสธ ซึ่งตนเห็นว่าการปฏิเสธดังกล่าวสั้นมาก และไม่กระจ่าง จึงได้ทำหนังสือฉบับนี้ เพื่อหารือกมธ. ว่าจะเชิญประธานศาลฎีกา หรือตัวแทน มาชี้แจงต่อ กมธ. ในฐานะที่ทำการตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับอำนาจมาจากสภาผู้แทนราษฎร

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า แต่ก็มีข้อคิดเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 129 หรือไม่สอดคล้องกับข้อบังคับ สภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 90 หรือไม่ ซึ่งในความเห็นของตน คิดว่าน่าจะทำได้เนื่องจากมาตรา 129 ได้กำหนดสิ่งที่กมธ.ทำไม่ได้ ถ้าเป็นการกระทบต่อคดีหรือบริหารงานบุคคลไม่สามารถที่จะเรียกผู้พิพากษาเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการเชิญผู้พิพากษาเข้ามาชี้แจงแล้ว เป็นการชี้แจงที่ไม่กระทบกับในตัวเนื้อหาของคดี ทั้งนี้การเรียกประธานศาลฎีกาเข้ามาเพื่อสอบถามถึงความเป็นอิสระของตัวผู้พิพากษา อำนาจตุลาการ และพูดคุยเรื่องภาพรวม จึงไม่ขัดหรือแย้งตามมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญแน่นอน ในทางกฎหมายน่าจะสามารถเรียกได้ ขณะที่ในส่วนของกมธ.เองยังไม่มีบทสรุปว่า จะส่งหนังสือถึงประธานศาลฎีกาหรือไม่ เนื่องจากมีองค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่สามารถหามติใดๆ ได้ นอกจากนี้ตนจะส่งหนังสือไปถามฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ว่ากมธ.การกฎหมายฯ สามารถเรียกประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนมาตอบข้อสอบถามได้หรือไม่ คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 7 เม.ย.นี้

ภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม พบว่า เมื่อวนที่ 29 มีนาคม เวลา 04:58 น. เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาคดี 112 ลี้ภัยในฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า

“ข่าวกรอง
................
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งพูดในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า เรื่องคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำม็อบ ยังไงก็เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีพฤติการณ์จะยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน จะไม่ให้ปล่อยตัวได้อย่างไร

ประธานศาลฎีกาตอบว่า “มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที”

ผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกรายหนึ่ง ก็ตอบโต้ว่า “ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรตุลาการ ถ้าคนที่เป็นประธานศาลฎีกายังพูดได้ว่า มีบุคคลภายนอกสั่งมาอีกที แล้ว ต่อไป ศาลยุติธรรมคงดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ และถ้าประธานศาลฎีกาปล่อยให้บุคคลภายนอกมาสั่งบงการ ก็น่าจะมีการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตรวจสอบวินัยว่า คนแบบนี้ยังสมควรเป็นประธานศาลฎีกาอยู่อีกหรือไม่”

เรื่องก็มีเพียงเท่านี้ ไม่มีการโหวตใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการชูสามนิ้ว”

สำหรับ “สมศักดิ์ เจียม” เป็นที่ทราบกันดีว่า สนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องของม็อบ 3 นิ้ว ทั้งเป็นผู้เสนอข้อเรียกร้อง หลายข้อใน 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และนายสมศักดิ์ มักมีการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน และความลับวงในการเมือง มาหล่อเลี้ยงกระแสให้ม็อบ 3 นิ้ว ได้ใช้ขยายผลทางการเมืองอยู่เสมอ

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ กรณีเชิญประธานศาลฎีกา หรือ อาจพูดได้ว่า ประมุขของฝ่ายตุลาการ เลยทีเดียว มาชี้แจง กมธ.กฎหมายฯ ของสภาผู้แทนราษฎร หลายฝ่ายได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า กมธ.ไม่มีอำนาจ และผิดกฎหมายด้วย อย่างที่ นายไพศาล และนายเชาว์ ชี้ให้เห็น

และชี้ด้วยว่า นายรังสิมันต์ โรม พยายามจะใช้ กมธ.กฎหมาย เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อพวกพ้องตัวเอง แทนที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของประชาชน ตามที่กฎหมายกำหนด

เรื่องนี้ ไม่น่าแปลกใจ เพราะส.ส.พรรคก้าวไกล มักทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย และไม่สนใจถูกผิด หรือมีวุฒิภาวะในสภาอยู่แล้ว หากการกระทำนั้น เพื่อสนับสนุน หนุนเสริม ช่วยเหลือม็อบ 3 นิ้ว แกนนำ 3 นิ้ว ไม่ต่างกับพวกเดียวกัน อย่าง กรณีเชิญ ประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายตุลาการ มาชี้แจง ทั้งที่อาจฝ่าฝืนกฎหมาย

เพียงแค่มีข่าวลือปั้นแต่งจาก “สมศักดิ์ เจียม” ที่นอกจากข้อความแล้ว ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดอ้างอิง ที่สำคัญ โฆษกของศาล ก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่เป็นความจริง

เล่นการเมืองแบบนี้ ถามใคร ก็คงตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ไม่เห็นจะเป็นการเมืองใหม่ตรงไหน อาจจะใหม่แค่เป็นนักการเมืองใหม่เท่านั้น ที่เหลือก็ดูเอาเองแล้วกัน!


กำลังโหลดความคิดเห็น