xs
xsm
sm
md
lg

"เชาว์" เตือน กมธ.กฎหมาย บ้าจี้ ตาม "รังสิมันต์" ชงเรียกปธ.ศาลฎีกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เชาว์" เตือน กมธ.กฎหมาย บ้าจี้ ตาม "รังสิมันต์" ชงเรียกปธ.ศาลฎีกา ชี้แจง ระวัง เจอคุก เหตุขัดกฎหมายคำสั่งเรียก ม.5 และ 12 ย้ำกมธ. ไม่มีสิทธิ์ ก้าวล่วงอำนาจศาล

วันนี้ (1 เม.ย.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก "Chao Meekhuad" เรื่อง หยุดใช้กรรมาธิการพร่ำเพรื่อ ระวังจะติดคุก มีเนื้อหา ระบุว่า กรณีเมื่อวานนี้ วันที่ 31 มี.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวว่า จากกรณีที่มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ อ้างถึงการประชุมใหญ่ในศาลฎีกา โดยมีผู้สอบถามเหตุใดถึงไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะผู้ถูกคุมขังไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ประธานศาลฎีกากลับระบุมีบุคคลภายนอกสั่งมา แม้ในเวลาต่อมาโฆษกศาลยุติธรรมจะออกมาชี้แจงเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง แต่ก็เป็นการตอบที่สั้นเกินไป ไม่มีการอธิบายรายละเอียดเพียงพอ อาจทำให้เกิดการถกเถียง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ในฐานะ ส.ส.ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งศาลว่าได้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระหรือไม่ ตนจึงจะได้นำประเด็นนี้เสนอต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้เชิญประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนมาให้ความเห็นและชี้แจงต่อกรรมาธิการ ซึ่งทราบว่าจะมีการประชุมกันวันนี้เวลา 09.30 น.

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุด้วยว่านายรังสิมันตุ์ โรม แส่ไม่เข้าเรื่อง เป็นการใช้กรรมาธิการก้าวล่วงอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจสามฝ่ายที่ถ่วงดุลกันตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และขัดกับพรบ.คําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 5 ที่ห้ามมิให้ใช้บังคับกับผู้พิพากษาหรือตุลาการท่ีปฏิบัติตามอํานาจหน้าท่ี ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 หมวด 5 กรรมาธิการ ข้อ 97 ที่ระบุทำนองเดียวกัน เพราะถ้าปล่อยให้ใครก็ได้สามารถตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของศาลได้ จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำสั่งศาลหรือคำพิพากษาไม่ถึงที่สุด ที่สำคัญศาลมีระบบการตรวจสอบกันเองอยู่แล้วถึง 3 ศาล คือศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกานอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตุลาการหรือกต.คอยควบคุมกลั่นกรองการปฎิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอีกชั้นหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าเรื่องที่นายรังสิมันตุ์ โรมใช้เป็นเหตุผลในการจะเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการ หากกรรมาธิการเกิดบ้าจี้ตามนายรังสิมันตุ์ โรม จะถือเป็นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบเพราะขัดต่อกฎหมายเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ผมไม่ได้ต้องการปกป้องศาล แต่เห็นว่ากำลังมีการใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งจะทำให้การทำงานของสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเสื่อมเกียรติไปด้วย เพราะคนเป็นส.ส.ควรใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนไม่ใช่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้อง อย่างที่นายรังสิมันตุ์ โรม กำลังจะดำเนินการในขณะนี้

"จึงขอเตือนไปยังนายรังสิมันตุ์ โรม และกรรมาธิการชุดนี้ที่กำลังจะประชุมกันเช้านี้ อย่าได้บ้าจี้ตาม มิฉะนั้นคนที่ลงมติเชิญประธานศาลฎีกาให้มาชี้แจงทั้งที่ไม่มีอำนาจ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคำสั่งเรียกฯมาตรา 12 ที่บัญญัติว่า กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตจะติดคุกโดยไม่รู้ตัวนะจะบอกให้”นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น