xs
xsm
sm
md
lg

ปรับ ครม.สมประโยชน์ วิน-วิน “ลุงตู่” เอาอยู่ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา


พิจารณาในภาพรวมๆ ถือว่าการปรับคณะรัฐมนตรีในชุด “ประยุทธ์ 2/4” ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเรียบร้อยเหนือความคาดหมายไปบ้าง เรียกวาสามารถ “ตัดจบ” รวบรัดตัดความได้อย่างรวดเร็ว จนแทบไม่มีแรงกระเพื่อมออกมาให้เห็นมากนัก ไม่ว่าจะในพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านไปด้วยดีเกินคาดเหมือนกัน

การปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้ เรียกว่าเป็นการ “ปรับเล็ก” เพื่อทดแทนตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน 3 ตำแหน่ง ที่ถูกคำพิพากษาให้จำคุกจากการร่วมชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อหลายปีก่อน อันประกอบด้วย “นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคพลังประชารัฐ “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากพรรคพลังประชารัฐ และ “นายถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์
ในการปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลสองพรรค คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีการเจรจาขอแลกเปลี่ยนโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยให้โควตารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากเดิมเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ มาให้พรรคภูมิใจไทย ขณะที่โควตารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของพรรคภูมิใจไทย ก็ให้รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งแทน ซึ่งเท่ากับว่า ทั้งสองกระทรวงดังกล่าวมีรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการมาจากพรรคเดียวกัน โดยเฉพาะที่กระทรวงพาณิชย์ ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ
ดังนั้น รายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ มีดังนี้ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล โยกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (พรรคภูมิใจไทย) นายสินิตย์ เลิศไกร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (จากพรรคประชาธิปัตย์) นางสาวตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (จากพรรคพลังประชารัฐ) และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (จากพรรคพลังประชารัฐ)
หากพิจารณาในทางการเมือง สำหรับการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” แต่ละครั้งหากสามารถ “ลดแรงกระเพื่อม” หรือเกิดความวุ่นวายต่อรองน้อยที่สุด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะหากเกิดแรงกระเพื่อม หรือมีการต่อรองจนยืดเยื้อ ทำให้การประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องล่าช้าออกไป ก็ยิ่งเกิดภาพที่เป็นลบให้กับทั้งผู้นำรัฐบาลและ รัฐบาลโดยรวม และที่สำคัญ นั่นก็ย่อมหมายถึง “ความไร้เสถียรภาพ” จะตามมา และทำให้รัฐบาลอายุสั้นลงนั่นเอง
ในช่วงแรกก็มีการคาดหมายเอาไว้เหมือนกันว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย เหมือนกับการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งก่อนๆ ที่มี “กลุ่มมุ้ง” ในแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะในพรรคแกนนำอย่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่กว่าจะได้ตัวรัฐมนตรี ต้องมีการต่อรอง และมีการประชุมกันหลายรอบ แต่คราวนี้ถือว่าราบเรียบเกินคาด
ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะ “พลังต่อรอง” ภายในพรรค โดยเฉพาะหากโฟกัสไปที่พรรคพลังประชารัฐเป็นอันดับแรก หากพิจารณาจากโควตารัฐมนตรีเดิมที่เป็นคนจากกลุ่ม กปปส. ทั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่พ้นตำแหน่งจากการต้องโทษจำคุก ก็ทำให้ไร้พลัง อีกทั้งในความเป็นจริงแล้วความเป็น “กลุ่ม” ในพรรคของ กปปส. ไม่ได้มีอยู่จริง โดยเฉพาะ ส.ส.ในกรุงเทพมหานคร กลายเป็นว่า เมื่อพวกเขาพ้นตำแหน่งไป ก็ถูกนำมาเกลี่ยภายในพรรค และหากพิจารณากันในความเป็นจริง “กระแส” ของพรรคนี้พลังหลักล้วนมาจาก “กระแสลุงตู่” รวมไปถึงการบริหารจัดการภายในกันแบบลงตัวของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่มีรายงานว่า มีการ “เลี้ยงดูปูเสื่อ” กันค่อนข้างดี จนไม่ค่อยได้ยินเสียงโวยวายออกมาให้ภายนอกได้ยินกันนัก
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากรายชื่อรัฐมนตรีสองตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ คือ “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ หากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ทางการเมืองก็ถือว่าไม่ธรรมดา มีฐานเสียงสำคัญในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี และมีแนวโน้มขยายฐานในพื้นที่ภาคกลาง ขณะที่ “นางสาวตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หากมองข้ามในเรื่องคุณวุฒิ หรือประสบการณ์ความเหมาะสมไปก่อน แต่หากพิจารณาจากนามสกุล ก็น่าจะมองภาพได้ไม่ยาก ว่าในอนาคตพรรคพลังประชารัฐ ต้องการขยายฐานในภาคตะวันออกในแถบชายแดนด้านนั้น
ลักษณะเหมือนกับเป็นการ “เติมเต็ม” ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่มองไปถึงการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า ที่เริ่มได้ยินข่าวเรื่องการ “ยุบสภา” เล็ดลอดออกมาให้ได้ยินบ้างแล้ว โดยระยะเวลาของสภาชุดนี้ ยังเหลืออีกประมาณ 2 ปี ก็ถือว่าเป็นไปได้เหมือนกัน
ขณะที่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คราวนี้แทบไม่มีแรงกระเพื่อมภายใน ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะปล่อยให้โหวตกันเฉพาะกลุ่ม “ภาคใต้” ผลที่ออกมาก็อย่างที่เห็น
ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวมๆ เท่าที่เห็นในตอนนี้ ถือว่าการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ สามารถตัดจบได้เร็ว และไม่เกิดแรงกระเพื่อมจนปั่นป่วน ขณะเดียวกัน เมื่อโฟกัสไปที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มองจากรายชื่อรัฐมนตรีหน้าใหม่ แต่สำหรับในพื้นที่ถือว่า “แน่นปึ้ก” ทำให้มองเห็นอนาคตว่าเป็นการเตรียมการสำหรับการขยายฐานในภาคกลาง และภาคตะวันออก รองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีกด้วย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น