เมืองไทย 360 องศา
ถือว่าเป็นไปตามคาดหมายที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 “แท้ง” หรือตกไปในวาระที่ 3 เนื่องจากมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา แต่ขณะเดียวกัน ก็รู้สึก “สะอิดสะเอียน” กับบรรดาพวกนักการเมืองในสภาที่แสดงลีลาเล่นละครที่คิดว่าบทบาทที่แสดงออกมานั้น จะได้คะแนนจากชาวบ้านข้างนอก
อีกทั้งในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญดังกล่าวที่ถูกกำหนดเอาไว้ ตั้งแต่วันที่ 17-18 มีนาคม ที่มีวาระสำคัญคือ การโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ที่พยายามจะเดินหน้าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้ว หากจะมีการร่างใหม่ก็ต้องลงประชามติถามชาวบ้านก่อนว่ายอมหรือเปล่า หากโอเคก็นำไปสู่การยกร่างใหม่ จากนั้นเมื่อร่างฉบับใหม่เสร็จแล้วก็นำไปถามประชาชนอีกครั้งว่าต้องการแบบนี้ ใช่หรือเปล่า หากใช่ก็นำไปสู่ขั้นตอนการบังคับใช้ต่อไป
เพราะถือว่าประชาชนเป็น “ผู้สถาปนา” รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
แม้ว่าที่ผ่านมาหลายคนจะเข้าใจว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับย่อ 4 บรรทัด ที่ออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม จะระบุว่า หากจะยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อน แต่พวกนักการเมืองในสภากลับบอกว่า เมื่อศาลบอกว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีการตีความถึงขนาดว่า การแก้ไขมาตรา 256 ก็เป็นเพียงการแก้ไขรายมาตรา ก็ยังสามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ก็คือ การแก้ไขมาตราดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั่นเอง โดย ส.ส.กลุ่มนี้ดันทุรังให้โหวตวาระ 3 จากนั้นค่อยไปสู่ขั้นตอนการลงประชามติ ซึ่งหลายคนเห็นว่าทำไม่ได้แล้ว ถือว่าตกไปตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ว่าต้องทำประชามติก่อน
อย่างไรก็ดี อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่านั่นก็เป็นเพียงแค่ลีลาตื้นๆ ยุคโบราณที่พูดกันแบบ “เอาดีเข้าตัว” กันแบบน้ำไหลไฟดับ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ แต่ผลก็อย่างที่ทราบกันดี ก็คือ “เหลว” อย่างที่คาด ไม่ว่าฝ่ายที่ทำใจกล้ายกมือโหวตหนุน และค้าน หรือแม้แต่ประเภทไม่ร่วมโหวต ไม่ประสงค์ลงคะแนนก็ตาม
โดยฝ่ายหนุนที่ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่รู้อยู่เต็มอกว่า “ไม่มีทางผ่าน” อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ขอ “แสดงละคร” ให้เต็มที่ก่อน เพราะถึงอย่างไรเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ย้ำว่า “หากคิดจะร่างใหม่ก็ต้องลงประชามติก่อน” มันก็ทำให้ ส.ส.หลายคนต้องถอยกรูด ไม่กล้าลองดี
ขณะที่ฝ่ายโหวตหนุน ก็คงจะมั่นใจตามที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ย้ำว่า หากลงมติโดยสุจริต ก็น่าจะเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้ในภายหลังอะไรประมาณนี้ รวมไปถึงได้ยืนยันถึงอำนาจของสภา ที่เป็นอำนาจของปวงชนอะไรนั่นไปอีก
อีกด้านหนึ่ง ที่มีการโหวตในวาระ 3 แล้วตกไป ก็ถือว่าดีเหมือนกันเป็นการ “จบ” กันแบบสะเด็ดน้ำไปเลย แม้ว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีความพยายามเสนอแก้ไขรายมาตรา ที่อ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยที่สามารถเสนอแก้ไขได้ แต่ก็นั่นแหละไม่ว่าแก้ไขอย่างไร ก็ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.อย่างน้อยจำนวน 1 ใน 3 ซึ่งในบรรยากาศตอนนี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขพ่วงเอาเรื่องการลด หรือตัดอำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งตามบทเฉพาะกาล
หากพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ต้องย้ำอีกครั้ง การที่ร่างแก้ไขดังกล่าวต้องตกไปมองในมุมบวก ก็ถือว่าเป็นผลดี โดยเฉพาะหากมองถึงในอนาคตวันข้างหน้าที่น่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนอย่างแท้จริงเสียที ในแบบที่ผ่านการรับรองตั้งแต่ต้นไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ การอนุมัติเห็นชอบของประชาชน ผ่านการลงประชามติถึงสองครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก
และแน่นอนว่า การนับหนึ่งใหม่กับการไปถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งผลอาจออกมาว่า ต้องการ หรือไม่ต้องการก็ได้ หรือยังให้ใช้ฉบับปัจจุบันต่อไปอีกก็เป็นได้ เพราะถือว่าผ่านการลงประชามติมาแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะออกมุมไหน ก็ถือว่าเป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่คำอ้างของพวกนักการเมืองเขี้ยวลากดิน
การถอยออกมาเพื่อนับหนึ่งใหม่ น่าจะเป็นทางออกที่ถาวรมั่นคง เพราะเชื่อว่าด้วยบรรยากาศและแนวโน้มแล้ว ถึงอย่างไรก็น่าจะออกมาแบบ “ร่างใหม่” ที่เป็นฉันทามติของประชาชนตั้งแต่เริ่มไปจนจบ มากกว่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตรา ที่มีโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขในมาตราที่จะพ่วงประเด็นลดอำนาจ หรือ ยุบ ส.ว.ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการแก้ไขต้องพึ่งพาเสียง ส.ว.ดังกล่าว อีกทั้ง ส.ว.แต่งตั้งพวกนี้ก็เป็นแค่บทเฉพาะกาล 5 ปี ที่ยังเหลือเวลาอีกไม่นานก็สิ้นสภาพไปแล้ว แม้ว่ายังเหลืออำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่มีความหมาย หากสภาผู้แทนฯ สามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้เสียงข้างมาก
ดังนั้น ยังเชื่อว่า ในอนาคตน่าจะเป็นไปได้ว่าจะมีการลงประชามติถามความเห็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากผ่านก็เดินหน้า แล้วลงประชามติถามความเห็นอีกครั้งหลังจากยกร่างเสร็จ หากผ่านก็นำมาประกาศใช้ แบบนี้แหละจะเป็นหลักประกันอย่างดี และทำให้การเมืองไทยน่าจะเข้ารูปเข้ารอย หรืออีกด้านหนึ่งเมื่อมีการลงประชามติตั้งแต่เริ่มแรก ก็อาจได้คำตอบว่าไม่ต้องการให้ยกร่างใหม่ นั่นก็เท่ากับว่าต้องการใช้ฉบับปัจจุบันต่อไป มันก็ทำให้พวกป่วนเมืองสงบเงียบลงไปได้เหมือนกัน !!