“อดีตบิ๊ก ศรภ.” ในฐานะ “ศิษย์เก่า มธ.” ฟาดหมัดตรงอาจารย์นิติศาสตร์ บิดข้อเท็จจริง กดดันศาลให้ประกัน 4 แกนนำ 3 นิ้ว “พิธา” ฟุ้ง 1 ปี ยุบอนาคตใหม่..ไฟลามทุ่ง “วันชัย” ชี้เงื่อนไขสภาแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปลาย มี.ค.มีการเปลี่ยนแปลง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 ก.พ. 64) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ในฐานะศิษย์เก่านิติศาสตร์ มธ.คนหนึ่ง ขอใช้สิทธิทักท้วงอาจารย์หน่อยครับ
กรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบราษฎร 4 คน ตามที่ทราบชื่อกันดีแล้วนั้น ปรากฏว่ามีอาจารย์นิติศาสตร์ มธ.หลายคนได้ออกมาแสดงความเห็นคล้ายกับเตือนศาลว่าให้คำนึงถึงเรื่องหลักประกันสิทธิ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ เรื่องที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ และยังอ้างรัฐธรรมนูญประกอบอีก
ก็เพราะศาลเห็นเรื่องนี้น่ะสิ ศาลถึงให้ประกันตัวซ้ำซากอยู่หลายครั้ง โดยมีข้อกำกับว่าอย่าไปก่อเรื่องแบบเดิมอีก แต่คนพวกนี้เชื่อศาลไหม ‘จารย์ มันยิ่งทำหนักข้อไปกว่าเดิมอีก ผิดรัฐธรรมนูญไปหลายมาตราเลย กฎหมายอื่นอีกแยะเลย แล้วก็รวยขึ้นด้วย
ถ้าเห็นว่าพวกนี้ไม่ผิด ทำไมไม่ฟ้องตำรวจกลับล่ะ ‘จารย์ คนพวกนี้ ทำเหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย มันจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ทำมากขึ้นๆ ‘จารย์ก็น่าจะรู้ดีนะ
เอ่อ.. ‘จารย์เป็นคนไทยใช่มั้ยครับ ตอนเป็นนักศึกษา มธ. เคยร้องเพลงพระราชทานยูงทอง หรือเปล่าครับ แล้วก็เดินไปไหว้ใครในวันระพี..จำได้ไหมครับ
พอไปเรียนนอก บ้าฝรั่งกลับมา ก็ลืมหมดสิ้น ไปสนับสนุนพวกที่ลืมพ่อลืมแม่ ลืมครูอาจารย์ได้ไง
อย่ากลัวเด็กสิครับ เป็นอาจารย์ต้องเป็นแม่แบบ พ่อแบบที่ดี
เมื่อศาลกำหนดไว้ในขั้นตอนการประกันตัวแล้วว่า ไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนให้สังคมอีก แต่คนเหล่านี้ ก็ไม่สนใจ ยังออกไปก่อเรื่องก่อราวอีก
แล้วจะมาแหกปากร้องอะไรอีก
‘จารย์ เรียนกฎหมายเบื้องต้นตอนปี 1 จำได้ไหมครับ ว่า-กฎหมายออกมาเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้-และกฎหมายก็คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของทุกคนเสมอกัน หมายถึงกฎหมายจะไม่ให้ผู้ใดไปก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
‘จารย์ คงจำได้
เป็นครูบาอาจารย์ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์นะครับ โดยเฉพาะเป็นอาจารย์ทางกฎหมายด้วย ต้องระวังให้มากกว่านี้
ผมก็เห็นว่า ดร.ทางกฎหมายหลายร้อยคน เค้าก็จบจากนอก แล้วก็ไม่ใช่จากมหาลัยห้องแถวด้วยนะครับ ไม่เห็นเค้าต้องโชว์เด่นออกมาในเรื่องนี้เลยครับ เคยมีการเปรยๆว่า คนที่เป็นอาจารย์นิติศาสตร์มีส่วนหนึ่ง “ไม่ชอบ” ผู้พิพากษา เพราะตัวเองเคยสอบผู้พิพากษาแล้วสอบไม่ได้ จึงมีอคติ
ผมว่าคงจะไม่เป็นความจริงตามคำกล่าวนี้ครับ”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เนื่องโอกาส ครบรอบ 1 ปี ยุบพรรคอนาคตใหม่ หัวข้อ {“1 ปี หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ พิสูจน์ให้พวกเขาเห็นแล้วว่า มันไม่ใช่การ “ตัดไฟแต่ต้นลม” แต่มันคือ “ไฟลามทุ่ง”}
โดยระบุว่า “หนึ่งปีที่แล้ว ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญยุบ “พรรคอนาคตใหม่” ฆ่าเสียงของประชาชนกว่า 6 ล้านเสียง ไม่สนใจจะฟังเสียงของประชาชนที่ต่อต้านกลุ่มการเมืองที่กุมอำนาจรัฐและมีที่มาจากการรัฐประหาร
ผลจากคำวินิจฉัยยุบพรรคนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของ “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” พวกเราเดินหน้าต่อทันทีโดยไม่รู้สึกย่อท้อ สานต่อเจตจำนงของประชาชนทุกเสียงที่สนับสนุนภารกิจของพรรคให้สำเร็จ หนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นการพิสูจน์แล้วว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถหยุดยั้งเจตจำนงและภารกิจของเราทุกคนได้
ผมอยากชวนให้สังคมร่วมกันพิจารณาดูว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ประเทศชาติบ้านเมืองเรามีการพัฒนาใดขึ้นบ้าง? เศรษฐกิจของประเทศเราดีขึ้นหรือแย่ลง? สภาพบ้านเมืองเราพัฒนาไปในทางไหนบ้าง? หรือผู้มีอำนาจนั้นมัวแต่มุ่งสร้างความ “นิยมชมชอบ” ให้แก่ตัวเอง และสร้างความแตกแยกในสังคม ในขณะที่โลกของเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของโลกปัจจุบัน เผชิญกับปัญหาทางธรรมชาติรูปแบบใหม่ และความเหลื่อมล้ำที่กำลังเติบโตขึ้นทุกหนแห่งเหมือนมะเร็ง บทสนทนาบนเวทีโลกกำลังมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
พรรคก้าวไกลยังยืนยันเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งการสร้างพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งขึ้น มีสมาชิกพรรคมากขึ้น เพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นสำคัญต่างๆ เป็นกระบอกเสียงของประชาชน หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ตอกย้ำว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นไม่สามารถที่จะฝังกลบความฝัน ความเชื่อ และเจตจำนงของพวกเราและประชาชนที่มอบความเชื่อมั่น
ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจที่มีให้กันเสมอมา พวกเราจะก้าวต่อไป เราจะก้าวให้ไกล และก้าวไปไม่หยุด สู่อนาคตใหม่ ที่ก้าวหน้า เท่าเทียม”
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“หลังจากการลงมติไม่ไว้วางใจ แม้ว่า รัฐมนตรีทั้ง 10 คนจะผ่านไปได้ บางคนคะแนนอาจจะบ๊วยไปก็ตาม ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ผลของการอภิปรายก็จะเริ่มเห็นรอยปริในพรรคการเมืองแต่ละพรรค ทั้งภายในพรรคและนอกพรรค รวมทั้งภาพรวมของรัฐบาลด้วย อย่างที่เคยบอกว่าสถานการณ์การเมืองทั้งภายในและภายนอกจะเริ่มมีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับจากดวงดาว และปัญหาเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่รุมเร้ามาโดยตลอด โควิดจะเริ่มจาง ม็อบและการเมืองก็จะแรงขึ้น การชุมนุมนอกสภาที่เพิ่งจะเริ่มขึ้นแม้ว่าจะดูไม่เบิ้ม แต่ก็จะคอยตอกลิ่มจะขยายสถานการณ์ให้มัน บานปลายมากยิ่งขึ้น ต่อแต่นี้จนกระทั่งถึงปลายเดือนมีนาคมอะไรก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้
ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสองก็จะเริ่มขึ้น คอยสังเกตให้ดีจะเห็นร่องรอยทางการเมืองที่จะเริ่มปริมากขึ้นโดยลำดับ ท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ก็พอจะเริ่มมองเห็นกันในสองวันนั้น จากนั้นในต้นเดือนมีนาคมศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่า จะให้แก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ได้ จากคำวินิจฉัยจะมีผลทางการเมืองทั้งสิ้น ถ้าไม่ให้แก้ก็จะมีผลไปด้านหนึ่ง ถ้าให้แก้ก็ส่งไม้ต่อมาที่รัฐสภาทั้งส.ส.และส.ว. จะต้องเป็นคนโหวตว่าจะให้ผ่านวาระสามหรือไม่ 84 เสียงของ ส.ว. ยังเป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องนี้
ถ้าเสียงออกมาว่า ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การเมืองก็พอเดินต่อไปได้ แต่ถ้าเสียงออกมาว่า แก้ไม่ได้ การเมืองทั้งภายในสภาและนอกสภา คงมีความรุนแรงไม่ต่างอะไรก่อนที่จะรับวาระที่หนึ่ง
พรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศตัวมาตั้งแต่ต้นว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ต้องมาตกในที่ประชุมของรัฐสภา อะไรจะเกิดขึ้นกับการร่วมรัฐบาลหรือการประกาศให้เป็นสัญญาประชาคม ม็อบนอกสภาก็จะเอาประเด็นนี้ไปขยายอันเป็นข้อเรียกร้องเดิม ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนกระทั่งถึงปลายเดือนมีนาคมอากาศก็ร้อน การเมืองก็ร้อน ดวงดาวก็สู้กันระหว่างพฤหัสกับเสาร์ เขาว่านำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะเปลี่ยนแปลงแบบไหนอย่างไร อยู่ที่โชคชะตาฟ้าลิขิตจริงๆ”
แน่นอน, ต้องบอกว่า ความเห็นต่างของ “สองขั้ว” ขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างขั้วที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แบบเบิ้มๆ หรือถึงขั้น “ปฏิรูปสถาบันฯ” ให้จบในรุ่นเรา ทั้งม็อบคณะราษฎร และพรรคการเมืองที่สนับสนุน
กับขั้วที่เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” มีด้านอื่นที่จำเป็นจะต้องปฏิรูปเร่งด่วนกว่า ทั้งยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ขั้วนี้พร้อมต่อต้านอย่างถึงที่สุด
มันไม่เพียงขัดแย้งกัน ด้วยแนวทางต่อสู้และเป้าหมายเท่านั้น หากแต่มันเป็นการขัดแย้งเพื่อเอาชนะคะคานอย่างถึงที่สุด แบบการเมืองน้ำเน่าที่ผ่านมา ซึ่งต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันเอาเป็นเอาตาย ต่อสู้กันแทบทุกวิธี ไม่เลือกว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
สังเกตให้ดี สิ่งที่ “พิธา” สะท้อนออกมา ไม่ว่ามุมมองต่อรัฐบาล มุมมองต่อปัญหาของประเทศ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด (ที่ไม่ยอมพูดถึง) และคนทั้งโลกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน รัฐบาลทั่วโลกก็อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน เศรษฐกิจโลกทรุดต่ำเหมือนกันหมด
อะไรที่ถือว่า เป็นการต่อสู้ทางการเมือง หรือ มีทัศนคติทางการเมือง แบบการเมืองใหม่ ที่ใหม่อยู่เรื่องเดียว คือ อยากวิจารณ์เจ้า “อย่างตรงไปตรงมา” โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง ม.112 (ที่เสนอแก้ไข) มาเป็นอุปสรรคในการหมิ่นประมาทเท่านั้น?
เมื่อเป็นเช่นนี้ อย่าว่าแต่โหนชื่อดังมาจากไหน คนธรรมดา ใครก็ทำนายถูก เพราะสิ่งที่ต้องการเอาชนะคะคานทางการเมือง มันคือการเผชิญหน้าที่ไม่มีทางหลีกพ้นนั่นเอง
และรู้ทั้งรู้ว่า “สถาบันฯ” คือ ศูนย์รวมจิตใจคนไทย ก็ยังหักหาญที่จะหักด้านพร้าด้วยเข่า
เอาเป็นว่า ถ้าอยากท้าทายก็จับตาดูให้ดีว่า “ไฟลามทุ่ง” จะเป็นไปได้แค่ไหน ดูแต่คณะก้าวหน้า ยังแพ้เลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ หรือไม่แน่ ถ้าวันนี้มีการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.พรรคก้าวไกล ก็อาจมีชะตากรรมเดียวกันกับคณะก้าวหน้าก็เป็นได้
ความจริงลองดูก็ได้ ชูเลยนโยบายปฏิรูปสถาบันฯ ให้จบในรัฐบาลพรรคก้าวไกล จะได้เห็นกันว่าคนไทยคิดอย่างไร พร้อมจะเป็น “ไฟลามทุ่ง” ให้หรือไม่!?